สตง.-กรมบัญชีกลาง รุมแฉลูกเล่นขรก. ทุจริตเงินงบประมาณ ส่วนท้องถิ่นหนักสุด

สตง.-กรมบัญชีกลาง รุมแฉลูกเล่นขรก. ทุจริตเงินงบประมาณ ส่วนท้องถิ่นหนักสุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตัวแทนกรมบัญชีกลาง-สตง. แฉพฤติกรรมทุจริตเงินงบประมาณหลายรูปแบบ กลางเวทีสัมนาป้องกัน-แก้ไขปัญหาเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต สอดคล้องผลติดตามสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 49-51 พบเรื่องร้องเรียนสูงขึ้นทุกปี ระบุส่วนท้องถิ่นทุจริตกันหนักสุด ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ได้มีการจัด โครงการสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต โดยเชิญวิทยากรจาก 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามก่ารฟอกเงิน (ป.ป.ง ) และ สำนักงานอัยการสูงสุด มาร่วมอภิปราย

นางรวิภา ด้วงแดงโชติ รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนา และบริหารงานละเมิดและแพ่ง สำนักความรับผิดทางแพ่ง กรมบัญชีกลาง กล่าวถึงการทุจริตของส่วนราชการที่กรมบัญชีกลางมีการตรวจสอบ พบว่า ทุจริตที่พบ มีทั้งเรื่องการเบิกเงินเดือนค่าจ้าง เงินค่ารักษาพยาบาล เงินค่าเช่าบ้าน ไปจนถึงเงินค่าวิทยากร

เรื่องเด็ดๆ เลยที่เคยเจอ คือ กรณีที่บุคลากรในบางหน่วยงานพาขออัตรากำลังเพื่อไปทำงานที่บ้าน ปรากฏว่า กำลังพลท่านนั้นสามารถทำงานกับทางราชการได้ 2 ปี พอไปถึงบ้านแล้วก็อนุญาตให้กำลังพลนั้นกลับบ้านไปทำนาได้ ถึงเวลาสิ้นเดือนก็ให้มารับเซ็นชื่อรับเงินเดือนเบี้ยเลี้ยง เป็นเวลา 2 ปี แล้วก็มาเบิก อันนี้คือกรณีคนที่ใช้สิทธิ ซึ่งคนที่ลงชื่อไปก็ไม่ได้รับเงิน เรื่องนี้ที่สตง.ทราบเพราะคนที่เซ็นรับเงินมาร้องเอง ว่าทำไมตนเองลงชื่อทุกเดือนแต่ไม่ได้เงิน นางรวิภา กล่าว

ส่วนของเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นกระแสการทุจริตที่มาแรงในขณะนี้ นั้น นางรวิภา กล่าวว่า หลังจากมีระบบการจ่ายเงินตรง โดยการทุจริตที่เกิดขึ้นคือแต่จำนวนเงินที่ระบุในใบเสร็จฯ ระหว่างใบเสร็จฯต้นฉบับกับใบเสร็จฯที่เป็นสำเนาต่างกัน อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางก็สามารถตรวจสอบได้ เพราะหลังจากปล่อยระบบการจ่ายเงินตรง ก็ได้มีการมอบหมายหน่วยงานนสาธารณสุขให้เข้าไปตรวจสอบทุกสถานพยาบาล

กรณีที่เราเพิ่งเจอ เป็นกรณีของผู้ที่ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล เข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อสั่งจ่ายยาราคา 3,450 บาท จำนวน 2 กระปุก เราพบว่า 8 ครั้งที่ผ่านมา เงินข้าราชการออกไปแล้วกว่า 1แสนบาท ที่มาพูดให้ฟังไม่อยากให้เป็นการชี้ช่อง แต่จะบอกไว้ว่าการควบคุมดูแลที่เช้มงวดขึ้นจะเริ่มเกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้คนที่จะร่วมทุจริตอีกคนหนึ่ง ขออนุญาตพาดพิงนะค่ะ นั่นก็คือตัวแพทย์เองที่บางท่านไม่ได้เป็นผู้รักษา แต่เอาใบสั่งยามาให้คนไข้ช่วยเซ็นอนุญาต แล้วก็มีการเอาใบนั้นมาเบิกจ่าย ซึ่งพูดไปก็จะเป็นการเสียสถาบัน แต่เรื่องแบบนี้มีเกิดขึ้นจริง นางรวิภา กล่าว

นางรวิภา ยังอภิปรายถึงกรณีการเบิกเงินค่าวิทยากร ซึ่งตนเองคิดว่า เป็นปัญหาการทุจริตที่ไม่น่าเกิดขึ้น โดยเป็นการนำเงินค่าวิทยากรไปใช้ผิดวัตถุประสงค์คือจัดกีฬาสีในสำนักงาน โดยตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง พร้อมยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นว่า วิทยากรทั้ง 3 คนได้มาให้ปากคำโดย คนที่ 1 ลงชื่อรับเงิน แต่ไม่ได้รับเงิน สิ่งที่ได้รับคือกระเช้าไข่ไก่ 1 กระเช้า ส่วนคยที่ 2 ที่ 3 ได้บอกว่า ตนเองได้รับคำชี้แจงบอกว่าให้ช่วยบริจาคเป็นถ้วยรางวัล สำหรับงานกีฬาสี ซึ่งถือเป้นการทุจริตเพราะให้ลงชื่อรับเงินแล้วไม่จ่ายเงินให้ นางรวิภา กล่าว

ด้าน นายมณเฑียร เจริญผล ผู้อำนวยการกลุ่มร่างกฏหมายระบุสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นตัวแทนเข้าร่วมในการอภิปรายจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวอภิปรายเพิ่มเติมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยสตง.ได้มีการตรวจสอบนายกเทศมนตรี ในจังหวัดหนึ่ง หลังได้รับการร้องเรียนว่าทุกครั้งที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง จะมีบริษัทอยู่ 3 บริษัทมักได้รับเลือกจากการสอบราคา จึงทำให้มีการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวแล้วพบว่า ทั้ง 3 บริษัท มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเดียวกัน และตรงกับเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุในนามบัตรของนายกเทศมนตรีคนดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้ กรรมการของบริษัททั้ง 3 ยังเป็นญาติทางภรรยาของนายกเทศมนตรีคนนี้ ทางสตง.ยังพบอีกว่า ไม่มีการส่งประกาศสอบราคาในช่วงที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง สตง. จึงร้องเแจ้งไปที่เาลเพื่อสอบเจ้าหน้าที่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ตั้งกรรมการเพื่อสอบนายกเทศมนตรี ซึ่งผลตัดสินที่ออกมากลับค้านกับหลักฐานที่ทางสตง.ส่งไปอย่างสิ้นเชิง

หลังจากส่งเรื่องไปมา 2 ครั้ง สุดท้ายเรื่องไปถึงศาลกฤษฎีกา และมีคำตัดสินว่า คุณตั้งกรรมการสอบได้ คุณจะไม่เห็นตามกับสตง.ก็ได้ แต่การที่สตง.มีหลักฐานชัดเจนแล้วว่า นายกฯคนนี้กรทำความผิด แล้วคุณไม่เอาสำนวนของสตง.ไปดำเนินการทางวินัย สอบสวนนายกฯกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลแห่งนี้ ถือว่ามีความผิดทางอาญาได้ จากนั้นสตง.ก็แจ้งต่อป.ป.ช.เลยครับ ให้ดำเนินการสอบผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการสอบฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพราะตั้งกรรมการสอบช่วยนายกฯ นายมณเฑียร กล่าว

นายมณเฑียร กล่าวต่อว่า ภายหลังจากสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีติดตามกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พบว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2549-2551 มีรายงานเรื่องร้องเรียนกรณีการทุจริตของรัฐเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 95.6 โดยในปี 2549 มีจำนวนเรื่องร้องเรียน 114 เรื่อง ขณะที่ปี 2551 มีถึง 213 เรื่อง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดูเรื่องร้องเรียนตามการจำแนกหน่วยงาน ซึ่งประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนกลาง องค์การบริหารส่วนภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ และ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นส่วนท้องถิ่น ปรากฏว่า พบเรื่องร้องเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุด และมีการร้องเรียนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมีร้องเรียนในปี 2549 รวม 48 เรื่อง ขณะที่ปี 2551 มีเรื่องร้องเรียน 118 เรื่อง และพบว่าองค์กรบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนมากที่สุดในทุกปีที่มีการสำรวจ เมื่อเทียบกับองค์กรส่วนถิ่นอื่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook