คลังห่วงเศรษฐกิจดิ่งลงเหว-จี้รัฐเร่งเบิกจ่าย

คลังห่วงเศรษฐกิจดิ่งลงเหว-จี้รัฐเร่งเบิกจ่าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนธ.ค.51 และไตรมาส 4 ของปีก่อน มีสัญญาณชะลอตัวมากคาดมีผลทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไตรมาส 4 ปี 51 ติดลบ 3.5% มากกว่าคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 2-3% ซึ่งเกิดจากเครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องที่เป็นกลไกของการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทำงาน ประกอบด้วย ภาคการบริโภค การลงทุน การส่งออก และการเบิกจ่ายภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อจีดีพีไตรมาส 1 ปี 52 อาจติดลบรุนแรงหรือดิ่งลงมาเหมือนรูปตัวไอ

สิ่งเดียวที่รัฐจะเน้นเพื่อให้เศรษฐกิจผงกหัวฟื้นตัวเร็ว มีลักษณะเป็นรูปตัววี คือต้องเร่งเบิกจ่ายภาครัฐทั้งในส่วนงบประมาณค้างท่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบลงทุนรัฐวิสาหกิจและโครงการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมดภายในเดือนก.พ.-มี.ค.เพื่อให้จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้จะเหลือติดลบแค่ 2% หรือโตที่ 0% ก็ยังดี นาย สมชัยกล่าว

สำหรับในไตรมาสสองของปีนี้ จีดีพีน่าจะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเม็ดเงินงบประมาณกลางปี 1.167 แสนล้านบาท และโดยเฉพาะการแจกเงิน 2,000 บาทแก่ผู้มีเงินได้เดือนละไม่เกิน 15,000 บาท จะเบิกจ่ายได้ในเดือนเม.ย. จึงคาดว่าจะทำให้การบริโภคภายในประเทศกระเตื้องขึ้น รวมถึงจะต้องระมัดระวังมิให้ประเทศอยู่ในขาดดุลทั้งงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยขณะนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบมาตั้งแต่ไตรมาส 3 และ 4 ปีก่อน ส่วนขาดดุลงบประมาณหรือขาดดุลการคลังก็ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 49

ทั้งนี้รัฐสามารถลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทั่วโลกก็ทำกัน ด้วยการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างตั้งใจ คือแทรกแซงค่าเงินหรือทำอย่างแยบยลก็ได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก ซึ่งจากการเปรียบเทียบค่าเงินของแต่ละประเทศพบว่าตั้งแต่ต้นปี 52 เป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าลง 0.1% เงินรูเปียของอินโดนีเซียอ่อน 2.9% ริงกิตมาเลย์อ่อนค่า 4.6% และเหรียญสิงคโปร์อ่อนค่า 4.5%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook