บทวิเคราะห์:การศึกษาไทย รั้งท้ายเวียดนามแล้วจริงหรือ???

บทวิเคราะห์:การศึกษาไทย รั้งท้ายเวียดนามแล้วจริงหรือ???

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากการเปิดเผยข้อมูลผลวิจัยของดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ตามโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ล่าสุดพบว่า เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยมากเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ขณะเดียวกันเด็กไทยอยากไปเรียนหนังสือเพียงร้อยละ 38 ลดลงจากปีก่อน(2551)ที่อยากไปเรียนหนังสือถึงร้อยละ 43 ซึ่งถือว่าน้อยอยู่แล้ว และที่น่าเป็นห่วงอีกคือ เด็กไทยใช้ครึ่งชีวิตหลังจากตื่นนอน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 7 ชั่วโมงอยู่กับสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมงครึ่ง โทรศัพท์มือถือ 2 ชั่วโมงครึ่ง และทีวี 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเด็กจะให้เวลามากขึ้น ทั้งนี้ คงเป็นเพราะโทรศัพท์มือถือใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง อาทิ เล่นเกม ดูทีวี ก็ได้ ซึ่งการใช้กว่าครึ่งชีวิตหลังตื่นนอนกับสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ จนเสรีเกินไป ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก นอกจากนี้ยังพบว่า ความรุนแรงในโรงเรียนเพิ่มสูงขึ้น มีการพกพาอาวุธ ทำร้ายร่างกายกันในโรงเรียน การขู่ และการรีดไถในโรงเรียน จากตัวเลขเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-4 เพิ่มเป็นร้อยละ 10-15 ส่งผลให้เด็กนักเรียนถึง 1 ใน 4 รู้สึกว่าการไปโรงเรียนไม่ปลอดภัย ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาเรื่องการเรียนหนังสือของเด็กจะต้องแก้ไขให้ครบวงจร เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการอ่านในครอบครัว การมีโครงการหนังสือเล่มแรก และผลสำรวจยังพบอีกว่า ปัญหาแม่วัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมีประมาณ 4 หมื่นรายเพิ่มเป็น 7 หมื่นรายต่อปี คดีที่เด็กเป็นผู้ต้องหาก็เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 3 หมื่นรายเป็น 5 หมื่นราย "การที่เด็กอ่านหนังสือน้อย และไม่อยากไปโรงเรียนน่าเป็นห่วงมาก เพราะจะส่งผลต่อไอคิวเด็กอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการไม่อ่านหนังสือจะทำให้สมองไม่พัฒนา เพราะเด็กควรจะอ่านหนังสือในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้รอบรู้ การไม่อ่านหนังสือจะทำให้เกิดสังคมที่เรียกว่า ฟังด้วยหู ดูด้วยตา การใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ไม่มี ดังนั้น คงต้องจับตามดูต่อไปว่า ต่อจากนี้ไปรัฐบาลจะมีนโยบายเรื่องสังคมและการศึกษา รวมทั้งลงทุนเรื่องนี้อย่างไร ปัญหาของระบบการศึกษาอยู่ที่ไหน? เป็นความบกพร่องของ ครูบาอาจารย์ หรือความล้มเหลว ในการตั้งเป้าหมาย ทางการศึกษาของนักเรียน? ความรู้ที่ใช้ในการเรียนการสอน เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับ ความเป็นไปของสังคม บ้างหรือเปล่า? หรือแท้จริงแล้ว กระบวนการถ่ายทอดระหว่าง ครูกับศิษย์ เป็นกระบวนการที่ใช้ไม่ได้? ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับทุกคน โดยเฉพาะบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ฝากความหวังไว้กับระบบการศึกษาไทย ให้ช่วยบ่มเพาะความรู้ทั้งคุณธรรม จริยธรรมและวิชาการ เพื่ออนาคตของบุตรหลาน!!! หันมามองนโยบายการศึกษาของภาครัฐ ที่พยายามผุดนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับและพัฒนาการศึกษาให้รุดหน้า ล่าสุด รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 2552 ในส่วนงบเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ 15 ปี 1.9 หมื่นล้านบาทในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบกลางปี 1.8 หมื่นล้าน โดยจะนำมาจัดซื้อตำราเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 6 พันล้านบาท ซื้อชุดนักเรียน 2 ชุดต่อคน จำนวน 4 .5 พันล้านบาท ซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน 2 พันล้านบาท กิจกรรมพิเศษ 4 พันล้านบาท สำหรับโรงเรียนเอกชน 1.5 พันล้านบาท ก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อยู่ในความคาดหวังของประชาชนว่า จะนำพาการศึกษาไทยพัฒนาก้าวไกลไปอีกระดับ ขณะเดียวกัน อยากให้คนไทยเหลียวมองประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่ในอดีตมีความล้าหลังไทยหลายด้าน จากภาวะบ้านเมืองที่เกิดสงครามและตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมานาน ปัจจุบัน พลเมืองเวียดนามมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้า และหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยได้ก็คือ การศึกษา สภาวการณ์การศึกษาของเวียดนาม การปฏิรูปการศึกษาของเวียดนามในยุคใหม่ เริ่มคิดและวางแผนกันตั้งแต่ ปี ค.ศ.1986 แต่การดำเนินการอย่างจริงจังเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในระหว่างปี ค.ศ.1991-1993 ได้มีการวางแผนปฏิบัติกันชัดเจนขึ้นด้วยความร่วมมือของยูเนสโก และ ยูเอ็นดีพี (UNESCO & UNDP) หลังจากนั้นการปฏิรูปการศึกษาของเวียดนามก็ได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วในทุกด้าน แต่ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือจุดเน้นของการปฏิรูปการศึกษาของเวียดนามที่คงลักษณะเดิมของตนเองคือ ข้อแรกการส่งเสริมความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ของเวียดนาม โดยจะมีการส่งเสริมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป โดยครูจะเป็นผู้สังเกตว่าเด็กคนใดมีแววทางคณิตศาสตร์ เมื่อถึงขั้นประถมปีที่ 4 ก็จะจัดให้ไปเรียนในชั้นพิเศษทางคณิตศาสตร์ ในระดับมัธยมจึงจะจัดขึ้นพิเศษให้เรียนเฉพาะ ทางโรงเรียนเองจะจ้างครูพิเศษมาสอนเพิ่มเติมให้ ส่วนใหญ่ครูพิเศษจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นแนวโน้มใหม่ในด้านการส่งเสริมพิเศษทางคณิตศาสตร์นั้นรัฐของเวียดนามได้ดำเนินการไปอีกขั้นหนึ่ง คือ จัดให้เด็กที่เก่งทางคณิตศาสตร์ได้เรียนในมหาวิทยาลัยโดยตรง ด้วยการจัดโรงเรียน เด็กพิเศษขึ้นในมหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยดูแลรับผิดชอบการบริหารและการสอนไปเลย จุดที่เน้นเด่นพิเศษอีกประการหนึ่งคือเรื่องของอาชีพ เรื่องของการทำงาน การศึกษาของเวียดนามมุ่งเน้นการปฏิรูปที่ส่งเสริมการทำงานอย่างมากและอย่างกว้างขวางในหลักสูตรทุกระดับ จะมีเวลาให้เด็กได้เรียนวิชาและฝึกปฏิบัติในทางอาชีพ ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจะสอดแทรกทักษะทางอาชีพและวิชาชีพเบื้องต้นลงไปด้วยตลอดเวลา ส่วนจุดเน้นอีกประการหนึ่งคือ การปลูกฝังบุคลิกลักษณะความเป็นพลเมืองดี เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบในสังคม จุดนี้ยังเป็นสิ่งที่เน้นและย้ำอยู่ การดูแลควบคุมในเรื่องระเบียบวินัยยังเข้มข้นอยู่มาก ครูของเวียดนามเองก็เป็นห่วงในเรื่องนี้สูง และกวดขันในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา สำนักข่าวแห่งชาติขอนำความเห็นของว่าที่พันตรีวิษณุ บุญมารัตน์ อาจารย์พิเศษสอนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งเดินทางไปประเทศเวียดนามหลายครั้ง และได้มีโอกาสเห็นการพัฒนาประเทศทางด้านการศึกษาของเวียดนามในระยะเวลาหนึ่ง ได้วิเคราะห์ว่า แนวคิดในการพัฒนาประเทศของเวียดนามนั้นมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยมาก โดยเฉพาะด้านการศึกษา การสนับสนุนให้ประชาชนมีการศึกษามากขึ้นดูเหมือนจะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชาวเวียดนามทุกครัวเรือน ทั้งนี้ เพราะเวียดนามมีค่านิยมที่เหมือนกับไทย คือ ความต้องการให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนสูงๆ เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน แต่เนื่องจากเวียดนามไม่มีระบบเจ้าคนนายคนแล้ว จึงเป็นเพียงต้องการให้เรียนสูงๆ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ขณะเดียวกัน การได้รับการศึกษาสูงจะช่วยเปิดโอกาสในการทำงานที่กว้างขึ้น นักเรียนในเวียดนามปัจจุบันจึงเริ่มที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกันมาก และเมื่อจบออกมามีแนวโน้มที่จะเข้าทำงานในบริษัทเอกชนของต่างชาติที่ทยอยเข้ามาเปิดกิจการในเวียดนามแทนการเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐเนื่องจากมีรายได้ดีกว่า แนวโน้มดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพยายามใช้นโยบายจูงใจให้คนเข้าทำงานกับรัฐบาล อาชีพหนึ่งคือ ครูอาจารย์ หากนักศึกษาคนใดที่สมัครเรียนในด้านการศึกษาจะได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียนตลอดเวลาที่เรียน และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาคนล้นงาน จึงมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าศึกษาในแต่ละปีด้วย มีชาวเวียดนามให้ความสนใจเรียนกันมากเพราะได้เรียนฟรี ยังมีให้เลือกหลายหลักสูตรเหมือนประเทศไทย คือ ระดับประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร แต่ก็ใช้เวลาไม่มาก เพียง 4 ปี จบออกมาสามารถหางานได้ง่าย และมีความมั่นคงสูง เพียงแต่เป็นงานราชการเท่านั้น โดยภาพรวมแล้ว ค่านิยมเรื่องการศึกษาในเวียดนามไม่แตกต่างอะไรจากของไทย แต่ที่ต่างกันคือสิ่งที่รัฐบาลเวียดนามกำหนดให้สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนอาชีวศึกษา จนถึงมหาวิทยาลัยต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรก็คือ การสอนเรื่องแนวความคิดแบบมาร์กซ์-เลนิน และโฮจิมินห์ เพื่อปลูกฝังความรักชาติ และสืบทอดระบบสังคมนิยมให้ดำรงอยู่สืบต่อไป ขณะที่การศึกษาของไทยกลับเน้นเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ และลืมการสอนศีลธรรม จริยธรรม จนเมื่อต้องการสอนวิชาเหล่านี้ก็หาผู้สอนแทบไม่ได้แล้ว หรือหาได้ก็อยู่ในวัยที่ห่างกับผู้เรียนจนเกิดช่องว่างระหว่างวัย ไม่สามารถสื่อสารกันให้เข้าใจความคิดอ่านของแต่ละฝ่ายได้ อีกสิ่งหนึ่งที่เวียดนามกำลังจะเหนือกว่าไทยในอนาคต ก็คือความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ภาษาไทย มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาเอก มีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนกันพอสมควร เพราะสามารถออกมาประกอบอาชีพไกด์มีรายได้ดี เนื่องจากเริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าไปเที่ยวในเวียดนามมากขึ้น ขณะที่คนไทยยังมัวแต่ภูมิใจว่าคนเวียดนามสามารถพูดภาษาไทยได้แล้ว เวลาไปเที่ยวเวียดนามจะสามารถซื้อของได้ง่ายเท่านั้น โดยไม่คิดจะเรียนภาษาเวียดนามให้เป็นกิจจะลักษณะแต่อย่างใด การที่คนไทยขาดความสนใจจะเรียนรู้ภาษาเวียดนาม เพราะมองว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีการพัฒนาช้ากว่าไทย นับเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างมาก การเรียนรู้ภาษาของประเทศใดๆ ก็ตามจะทำให้เราสามารถเข้าใจความคิดอ่านของคนในประเทศนั้นๆ ดังนั้น เวียดนามจึงสามารถเข้าใจและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามอย่างไทยได้ รวมทั้งยังสามารถศึกษาบทเรียนที่ประเทศไทยได้รับจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ.2540 ด้วย หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นยังคงเน้นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อรองรับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับเวียดนามได้ เหมือนที่เกิดกับประเทศไทยมาแล้ว ณ วันนี้ เวียดนามอาจจะยังดูเหมือนล้าหลังประเทศไทยอีกหลายอย่าง แต่หากประเทศไทยยังไม่สนใจที่จะเรียนรู้เพื่อนบ้านของเรา ขณะที่เขาตั้งใจดูแบบอย่างการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งศึกษาปัญหาที่เกิดกับเราแล้วยังเตรียมหาทางแก้ไขไว้ด้วย สักวัน ไทยคงจะกลายเป็นผู้ตามหลังเขาอย่างแน่นอน เพราะประเทศเวียดนามจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแทนญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในอนาคต ดังนั้นเวียดนามจึงเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยในดินแดนอินโดจีนที่กำลังเริ่มมีบทบาทขึ้นมาอย่างน่าจับตามองในทศวรรษนี้ ชุติมา สุขวาสนะ เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook