ประธาน ก.พ.ค. เผย มีผู้ส่งเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ให้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้ว จำนวน 28 เรื่อง

ประธาน ก.พ.ค. เผย มีผู้ส่งเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ให้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้ว จำนวน 28 เรื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประธานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เผย มีผู้ส่งเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาแล้ว จำนวน 28 เรื่อง ขณะเดียวกัน มอบหมาย นางจรวยพร ธรณินทร์ ทำหน้าที่โฆษกฯ พร้อมนัดประชุมคณะกรรมการฯ ทุกวันพุธ นายศราวุธ เมนะเศวต ประธานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เปิดเผยว่า ภายหลัง ก.พ. ได้ประกาศบัญชีจัดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และยกเลิกระบบซี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ส่งผลให้เรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนอยู่ในวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ตามมาตรา 136 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ล่าสุดจนถึงวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้ยื่นเรื่องเข้ามายัง ก.พ.ค.แล้วจำนวน 28 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องอุทธรณ์ที่ ก.พ.ค. ได้รับไว้พิจารณา จำนวน 6 เรื่อง เรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในอำนาจ ก.พ.ค. จำนวน 6 เรื่อง เรื่องอุทธรณ์ที่ส่งผิดที่ 1 เรื่อง และเรื่องร้องทุกข์ที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ก.พ.ค. จำนวน 12 เรื่อง ขณะเดียวกัน มีเรื่องร้องเรียนที่เป็นบัตรสนเท่ห์ซึ่งไม่มีการระบุชื่อผู้ร้อง 2 ราย จึงไม่เข้าเกณฑ์พิจารณา และเรื่องที่ส่งเข้ามาแล้วแต่ข้อมูลไม่ชัดเจนอีก 1 เรื่อง สำหรับผู้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยเป็นผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งเมื่อทราบคำสั่งแล้วต้องส่งเรื่องมาที่ ก.พ.ค. ภายใน 30 วัน โดยการดำเนินการของ ก.พ.ค.จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และสามารถขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 90 วัน ส่วนกรณีการร้องทุกข์ ก.พ.ค. จะรับวินิจฉัยเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญที่ยังรับราชการอยู่ และต้นเหตุแห่งทุกข์นั้นต้องเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและปลัดกระทรวง นอกจากนี้เรื่องที่ร้องทุกข์ต้องเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตน เป็นเหตุให้คับข้องใจเพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติให้ไม่เป็นธรรม ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ประวิงเวลาหน่วงเหนี่ยวทำให้เสียสิทธิอันพึงมี และไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการ ก.พ.ค. ทำหน้าที่โฆษก ก.พ.ค. เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งได้เริ่มวินิจฉัย เรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา โดย ก.พ.ค.จะมีการประชุมกันทุกวันพุธ ส่วนกรณีการอุทธรณ์และร้องทุกข์เดิมที่มีการยื่นต่อ ก.พ. ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2551 นั้น ทาง อ.ก.พ. อุทธรณ์ฯ จะดำเนินการเรื่องที่ค้างอยู่ต่อไป ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 156 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องอุทธรณ์ 126 เรื่อง และเรื่องร้องทุกข์ 30 เรื่อง นางจรวยพร ธรณินทร์ โฆษก ก.พ.ค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของ ก.พ.ค. นั้น จะคำนึงถึงระบบคุณธรรมตามมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ประกอบด้วย (1) การบรรจุแต่งตั้งข้าราชการให้คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความเป็นธรรม และประโยชน์ของทางราชการ (2) การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ ลักษณะงานขององค์กร โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (3) การพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนตำแหน่ง ต้องเป็นธรรม โดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติ และจะนำความคิดเห็นทางการเมือง หรือสังกัดพรรคการเมือง มาประกอบการพิจารณาไม่ได้ (4) การดำเนินการทางวินัยต้องยุติธรรม ปราศจากอคติ และ (5) การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งนี้ ข้าราชการพลเรือนที่มีความประสงค์จะส่งเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. สามารถติดต่อ ด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ได้ที่ สำนักงาน ก.พ. ถนนติวานนท์ เลขที่ 47/101 ถนนติวานนท์ แขวง ตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0 2547-1530 โทรสาร 0 2547-1541 ได้ในวันและเวลาราชการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook