เปิดใจโทรโข่งรัฐ "พล.ต.ไก่อู" ว่าด้วยตัวตน"บิ๊กตู่" และ"น้องเอ๋"ไม่เคยงอน

เปิดใจโทรโข่งรัฐ "พล.ต.ไก่อู" ว่าด้วยตัวตน"บิ๊กตู่" และ"น้องเอ๋"ไม่เคยงอน

เปิดใจโทรโข่งรัฐ "พล.ต.ไก่อู" ว่าด้วยตัวตน"บิ๊กตู่" และ"น้องเอ๋"ไม่เคยงอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย อรวรรณ หมอยาดี

"มติชน" เปิดใจ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ภายหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา

หลังจากเข้ามาทำหน้าที่โฆษกฯ ทำงานยากขึ้นหรือไม่

การทำงานยังคงเหมือนเดิม เพราะคิดว่าการทำหน้าที่รองโฆษกฯหรือโฆษกฯไม่สำคัญสำหรับคนที่เป็นทหาร อาชีพที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาทำภารกิจ เพราะตำแหน่งเป็นเพียงหัวโขนหรือหน้ากากเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการทำหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ซึ่งหน้าที่ของโฆษกฯคือการชี้แจง สื่อสารกับคนในสังคมถึงปัญหาที่รัฐบาลกำลังพยายามดำเนินการแก้ไขอยู่ รวมถึงความเคลื่อนไหวของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลว่าไปถึงไหนแล้วอย่างเป็นเหตุเป็นผล สรุปง่ายๆ คือต้องทำความเข้าใจกับสังคมได้เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าตำแหน่งแน่นอน

จากผู้ได้รับคำสั่งโฆษกฯ มากุมบังเหียนโฆษกรัฐบาลเอง กดดันหรือไม่

ที่ผ่านมาเราไม่ได้รับคำสั่งจากโฆษกฯ เพราะต่างคนต่างแบ่งหน้าที่ซึ่งกันและกันอยู่แล้วชัดเจน ใครดูแลกระทรวงไหนก็ไปหาข้อมูลข่าวสารนำเสนอสื่อมวลชน รวมถึงรับข้อมูลจากผู้บังคับบัญชาถ่ายทอดต่อไปอีกที

สไตล์การสั่งงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นอย่างไร

ผมโชคดีที่เราเป็นพี่เป็นน้อง เป็นทหารอาชีพเหมือนกัน จึงได้มีโอกาสเรียนรู้บุคลิกภาพและนิสัยใจคอนายกฯมาก่อนแล้ว รวมถึงวิธีการทำงานด้วย นายกฯไม่ชอบคนเจ๊าะแจ๊ะแบบที่ว่าเอาแต่คอยถามว่าเอาอย่างไรดี แบบนั้นดีไหม แบบนี้จะดีไหม อย่าได้พูดกับนายกฯแบบนั้นเป็นอันขาด ดังนั้นวิธีการทำงานคือต้องศึกษานโยบายแนวคิด รวมถึงวิธีการพูดและการตอบคำถามของนายกฯเอาเอง

โดยเฉพาะประเด็นเนื้อหาที่นายกฯอธิบายผ่านสื่อ ผ่านเวทีต่างๆ เราต้องติดตามตลอดเพื่อให้ทราบถึงวิธีการประมวลความคิดของนายกฯว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป เราเป็นโฆษกฯ แต่ไม่จำเป็นต้องถามนายกฯทุกเรื่อง อาทิ เรื่องนโยบายต่างๆ เราฟังแล้วสามารถนำไปศึกษาเองได้

ส่วนข้อมูลไหนที่เราไม่แน่ใจก็ต้องสอบถามนายกฯ ก็ต้องถามแบบมีนัยสำคัญ คือมีข้อเสนอของเราเข้าไปด้วย เช่น "ผมเห็นว่าแบบนั้นแบบนี้แต่ไม่มั่นใจ เพราะว่ามันมองได้สองมุม พี่คิดอย่างไรครับ" ก็จะถือเป็นการแบ่งเบาภาระนายกฯไปด้วย แต่หากเราถามไปทุกเรื่องทุกอย่างไม่เรียนรู้อะไรเลย นั่นหมายความว่าเราไม่ช่วยแบ่งเบาภาระอะไรนายเราเลย ที่ผ่านมาเราทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์แบบนี้

หากมีเหตุเกิด นายกฯจะกรุณาส่งข้อความมาทางโทรศัพท์ ผมพกโทรศัพท์ 3 เครื่อง บางครั้งโทรทัศน์ให้ผมเข้าสายสัมภาษณ์ แต่ในขณะสัมภาษณ์นายกฯโทรเข้ามาพอดี ผมก็ต้องสามารถรับสายนายกฯได้ทันทีเพื่อรับสารจากนายกฯว่าต้องการให้เราอัพเดตอะไรบ้าง พร้อมกับให้สัมภาษณ์ได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนนายกฯ พอเราบอกว่าเรากำลังให้สัมภาษณ์อยู่ท่านก็จะเข้าใจ เพราะท่านทราบว่าการทำงานโฆษกเป็นอย่างไร ต้องสื่อสารตอบรับทั้งสื่อ ทั้งสั่งการเยอะขนาดไหน แต่หากเรามัวแต่อัพเดตเรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรจากนายเรามาเพิ่มเติมมันก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องไปด้วยกัน

โดยส่วนตัวจากท่าทางของนายกฯที่ดูจะเป็นคนดุดันจริงจังนั้น เพราะบุคลิกของนายกฯเป็นแบบนี้อยู่แล้วคือเป็นคนจริงจัง นี่คือตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ที่มองเห็นได้ชัดคือความตั้งใจจริง ส่วนจะสื่อสารออกมาอย่างไรนั้น ต่างคนต่างมีสไตล์เป็นของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าจุดมุ่งหมายเดียวกันแต่การสื่อสารอาจจะเป็นคนละแบบ แต่ข้อมูลจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นข้อเท็จจริง สามารถอธิบายให้สังคมได้

โฆษก คสช.ต่างจากโฆษกรัฐบาลอย่างไร

มีทั้งความต่างและความเหมือน ความต่างคือกลุ่มงานในความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความมั่นคงอย่างเดียว เพราะรัฐบาลคือจุดศูนย์รวมทุกกระทรวง ดังนั้น ต้องมีเรื่องเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา กฎหมายเข้ามาเพิ่ม ส่วนสิ่งที่เหมือนกันคือ ผู้สื่อข่าวที่จะคอยดูเราอยู่ว่าเรามีความตั้งใจในการเก็บข้อมูลมานำเสนอเขามากน้อยแค่ไหน เพราะผู้สื่อข่าวทำงานประสานกับเราตลอดเวลา ดังนั้นส่วนใหญ่ก็จะมีความเป็นมิตรไมตรี มีความญาติดีต่อกัน

ส่วนเนื้อหาข่าวที่แต่ละคนนำไปนำเสนอสังคมก็จะมีแนวทางของแต่ละสำนักข่าว ผมคิดว่าเป็นแบบนั้น ส่วนการทำหน้าที่ระหว่างกันถ้าผมขยัน มีความรับผิดชอบ ผมว่าทุกคนตอบรับไม่ว่าจะเป็นนักข่าวสายการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หากข้อมูลไม่ครบถ้วนนักข่าวเขาก็จะแจ้งกับเรา แนะนำเราว่าสื่อต้องการข้อมูลลักษณะไหน

ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยทำหน้าที่ตรงนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นทุกคนก็สามารถแนะนำเราได้ตลอด เช่น ช่วงแรกเราคิดว่าสื่อต้องการข้อมูลด้านเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นแนวนโยบาย การแก้ไขปัญหา ผลกระทบ แต่พอสื่อต้องการมากกว่านั้นเขาก็แนะนำเราว่าเรื่องตัวเลขสำคัญ เราก็นำมาเป็นการบ้าน ครั้งต่อไปก็ปรับปรุง

การบ้านในหน้าที่ของโฆษกรัฐบาลที่ต้องทำทุกวันคืออะไร

ทุกๆ วันจันทร์ของสัปดาห์เราจะได้รับแจกวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะใช้ประชุมวันอังคาร ซึ่งปริมาณวาระจะมากน้อยไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่จำเป็นมากคือเราต้องอ่านทำความเข้าใจทุกเรื่อง เพราะเมื่อถึงเวลาแถลง ครม. เราไม่อยากเป็นมนุษย์ก้มหน้าอ่านให้สื่อฟังอย่างเดียว แต่ก็ไม่ถึงขนาดจำได้หมด อาจต้องก้มดูบ้างเพื่อความถูกต้องโดยเฉพาะตัวเลข แต่เราต้องจับใจความสำคัญของทุกวาระพร้อมอธิบายได้

ยอมรับว่าเรื่องบางเรื่องอ่านกี่หนก็ไม่เข้าใจ เราจึงต้องมีตัวช่วยนามว่า "น้องโอ๊ต" เป็นเลขาฯนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม. ที่เราจะต้องโทรหาทุกวันจันทร์ แม้ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนอย่างไรก็ต้องโทรหาน้องโอ๊ตถ้าเราไม่เข้าใจ เพราะน้องเขาจะทราบทุกเรื่อง พอเขาอธิบายเราก็เข้าใจมากขึ้น

ดังนั้น วันจันทร์ของทุกสัปดาห์กว่าจะได้นอนก็ตี 2 กว่า ส่วนการแถลง ครม.ก็จะหยิบยกเรื่องที่คิดว่าน่าจะตรงใจผู้สื่อข่าวที่สุด หลักคือต้องเข้าปากและต้องเข้าหูสื่อ หมายความว่าต้องเป็นเรื่องที่สังคมต้องการรู้ และรัฐบาลต้องการบอก หากนักข่าวต้องการเรื่องอะไรเฉพาะก็สามารถถามนอกรอบได้ แต่อย่าไปคิดว่าวาระมีมากมาย แถลงแค่ 5 เรื่อง ก็รู้แค่ 5 เรื่อง ไม่มีทาง เพราะเราต้องอ่านทุกเรื่อง เนื่องจากผู้สื่อข่าวเป็นอาชีพที่มีการข่าวดีที่สุด หากตอบนักข่าวไม่ได้ถือว่าเสียมวย ต้องตอบได้

นี่คือภาระที่แตกต่างกันระหว่างสองตำแหน่งโฆษก

ที่ผ่านมาเคยทำงานพลาดหรือไม่

คงไม่มีมนุษย์คนไหนไม่เคยพลาดมาก่อนในฐานะโฆษกฯยกตัวอย่างเช่นกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ ที่คนสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งนักข่าวมีหลายสาย เขาก็ไปถามหลายคน

บางคนไปถามฝั่งการไฟฟ้า บางคนไปถามกระทรวงพลังงาน หรือบางคนถามคนในพื้นที่ที่เห็นต่าง พอเราไม่แก้ไขสถานการณ์ก็จะกลายเป็นการขยายความเห็นของข่าวว่าทำไมต่างฝ่ายต่างมีความเห็นไม่ตรงกัน

เราก็ต้องอธิบายก่อนว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจสื่อสารไม่เหมือนกันแต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเขาเข้าใจเราแล้วว่าเราไม่ได้ยึดหรือประวิงเวลาอะไร

แต่เราอธิบายไปว่าสิ่งที่เรากำลังดำเนินการนั้นไม่สามารถหยุดชะงักหรือชะลอได้แล้วการประมูลต้องดำเนินการต่อไปเพราะเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจที่ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นไปตามที่กฎหมายระบุไว้เพราะฉะนั้นจะชะลอไม่ได้

แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามคือการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ถ้าอีเอชไอเอไม่ผ่านก็จะทำให้ขั้นตอนต่างๆ ที่กำลังจะเริ่มขึ้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย ในฐานะโฆษกก็ต้องชี้แจงกับผู้สื่อข่าวแบบนี้ เพื่อให้ช่วยส่งสารไปยังกลุ่มผู้ที่เห็นแย้งให้เขาไม่เกิดความหวาดระแวง

นี่แหละคือหน้าที่โฆษกรัฐบาลคือการสร้างความเข้าใจสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำพร้อมแก้ไขหากประชาชนยังไม่เข้าใจ

นายกฯไม่เคยตำหนิอาจเป็นความโชคดีที่เราไม่ใช่คนปากเปราะการจะอธิบายอะไรกับสื่อต้องมีความยับยั้งชั่งใจก่อนเสมอระหว่างที่ปากพูด ปากให้สัมภาษณ์ สมองต้องคิดคำถามไปก่อนหนึ่งสเต็ป เพื่อให้เราไม่พลาดหากต้องพูดในสิ่งที่ยังไม่ควรเปิดเผย

หากเจอคำถามการเมืองที่อาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ตอบได้ก็ตอบ ตอบไม่ได้ก็ต้องอธิบายว่าทำไมตอบไม่ได้ แต่เราไม่ควรละเลยต่อการฟังคำถาม เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานี้มันทำให้เราไม่สามารถทำแต่แนวนโยบายรัฐบาลได้ ควรจะต้องประกอบด้วยการทำความเข้าใจ

จะบอกว่าเป็นทหารไม่ใช่นักการเมืองไม่ได้ เราต้องมองทุกมิติ เรื่องบางเรื่องถ้าเราสามารถตอบนักข่าวได้ด้วยเหตุผลก็ควรทำ หากตอบไม่ได้ก็ต้องอธิบายเหตุผล เราจะไม่ปฏิเสธนักข่าวเพราะจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีระหว่างกัน

ส่วนกลุ่มการเมืองที่โจมตีรัฐบาลกลับถือเป็นเรื่องธรรมดาของความเป็นการเมืองเราทำได้เพียงชี้แจงกลับด้วยเหตุเท่าที่จำเป็นแต่หากเราพิจารณาแล้วพบว่าเป็นเพียงข่าวปิงปองแค่ตอบโต้กันไปมาให้เกิดกระแส

เราไม่ควรตอบโต้อะไรกลับไป

การเป็นกันชนรัฐบาล หากสื่อสารอะไรออกไปแล้วเป็นผลเสียจะทำอย่างไร

เราสื่อสารตามที่นายกฯให้นโยบายมา ไม่ได้แต่งแต้มข่าวขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสื่อสารคือสิ่งที่รัฐบาลได้ปฏิบัติแล้ว หากสังคมไม่เห็นด้วย ไม่ใช่การไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจง แต่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลปฏิบัติ

พล.อ.ประยุทธ์เคยให้กำลังใจหรือไม่

เคยบ้างเป็นธรรมดา แต่นายกฯเป็นทหาร ผมเป็นลูกน้องนายกฯมาตั้งแต่สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกแล้ว พล.อ.ประยุทธ์มีลูกน้องมากมาย เวลาให้กำลังใจก็คงเป็นแบบฉบับเอกลักษณ์ของนายกฯ เช่น เวลาทำอะไรให้ก็มีบอกกลับมาว่าดีนะ ขอบใจๆ อะไรแบบนี้

แต่สิ่งที่เรายึดมั่นตลอดคือเราเป็นทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาและเป็นน้องที่ทำงานมาด้วยกัน แล้ววันนี้ประเทศมีปัญหา แล้วนายกฯตกลงใจที่จะเลือกเราเข้ามาปฏิบัติงานด้วย

ดังนั้นเราจะต้องไม่ทำให้เจ้านายผิดหวัง โดยตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ออมกำลัง

หากทำไปแล้วยังไม่ดีก็ค่อยๆ แก้ไขปรับปรุงทีละเรื่อง ส่วนที่ว่านายกฯเป็นคนดุหรือไม่เวลาสั่งงานคงเป็นความเคยชินของเรา เลยรู้สึกเฉยๆ และในวันที่นายกฯกรุณาเลือกเราเข้ามาทำงาน นายกฯก็คงพิจารณาแล้วว่าไอ้ไก่อูมันคงไม่เฟอะฟะ และคงมีดุลพินิจพอในการทำงานบ้าง

ส่วนทำงานเหนื่อยบ้างเป็นธรรมดา อย่าลืมว่าคนเป็นทหารก็เคยผ่านการทำงานหนัก นอนดึกตื่นเช้ามามาก วันนี้ก็เหมือนกลับมาเรียนทหารอีกครั้งเท่านั้นเอง วันๆ หนึ่งก็ต้องอ่านข้อมูล ศึกษาข้อมูลว่าจริงเท็จเพียงใด

เผื่อนักข่าวถามมาจะได้ตอบได้

ยิ่งสมัยนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา เราเป็นคนที่ทำงานกับสื่อยิ่งต้องศึกษาให้มาก สิ่งสำคัญอีกประการคือการมีที่ปรึกษาที่ดี คืออาจารย์มนทิรา วิโรจน์อนันต์ ที่คอยให้คำปรึกษาตลอด เพราะอาจารย์เป็นคนเก่ง

มีอะไรก็จะขอคำแนะนำจากท่านเสมอ

มุมมองความรักกับสุขภาพ
@ กําลังใจจากว่าที่เจ้าสาว น้องเอ๋ ณิชุบล เลิศศิริอำนวยพร

ตอนเย็นทุกวันหลังจากเลิกงานก็จะไปกินข้าวกับน้องเอ๋ที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน เราก็กลับมาอ่านหนังสือต่อที่บ้าน น้องเอ๋ไม่เคยงอนเพราะก่อนนอนก็โทรคุยกันทุกวัน เราคิดว่าเขาคงเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเรา เพราะมันไม่ใช่การทำหน้าที่ตลอดชีวิต แต่สำหรับเรา เราคิดว่าเป็นคนโชคไม่ดี

เพราะเหนื่อยตลอด ชีพจรลงเท้าตลอด ตั้งแต่ปี 2547 ได้ถูกส่งไปช่วยเหตุการณ์สึนามิภาคใต้ หลังจากนั้นก็ไม่ได้หยุด แต่ก็คิดในแง่ดีว่าดีกว่าอยู่เฉยๆ เพราะหลังจากนี้

หากมีรัฐบาลใหม่เราก็คงกลับไปเป็นข้าราชการทหารตามเดิม ส่วนการร่วมกันทำธุรกิจกับน้องเอ๋คงไม่มี เพราะเราเป็นทหารคงไม่ถนัด เต็มที่เราได้บอกก็คงรับราชการทหาร เต็มความสามารถอาจจะมีเล่นหุ้นบ้าง เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เล่นหุ้นกันได้หมดแล้ว

ขณะที่เวลาทำงานในทำเนียบรัฐบาลไม่เรียบร้อยก็ต้องไปทำต่อที่บ้าน เพราะภารกิจเรายังไม่เสร็จ แต่คนสำคัญอย่างคุณแม่และแฟนเขาก็เข้าใจและคอยให้กำลังใจเสมอ เวลาทำงานดึกๆ เห็นเราอ่านหนังสือราชการเขาก็ปล่อยให้อ่านไป จะดึกแค่ไหนก็ได้ แต่ก็จะคอยชงชาชงกาแฟมาให้ตลอด

แต่ตอนนี้ที่มีปัญหาจริงๆ คือโรคนอนไม่หลับ มันเลยทำให้เกิดถุงใต้ตา อาจเป็นความกังวลใจกังวลสมอง เพราะเมื่อก่อนตอนทำงานให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยังพอมีเวลาตักบาตรทำบุญวันหยุดสุดสัปดาห์บ้าง แต่ตอนนี้พอทำงานเรียบร้อยมันเหมือนหมดพลัง จึงไม่ค่อยได้ทำบุญตักบาตร เลยพยายามทำทานอย่างอื่นแทนบ้าง

เราเลยคิดไปเองว่าพอไม่ได้ตักบาตรทำบุญแล้วสมาธิสั้นลง นอนลงไปตาหลับแต่สมองยังคอยคิดคอยกังวลตลอดเวลา เหมือนคนจิตฟุ้งซ่าน นี่คือปัญหา

ที่มีอยู่ในขณะนี้ บางครั้งก็ต้องหายานอนหลับกินบ้าง ส่วนเวลาไปพบหมอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอาการไอมากกว่า

มีอยู่ครั้งหนึ่ง นายกฯประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ในที่ประชุมเราก็ไอตลอดเวลา ท่านนายกฯถึงกับบอกในที่ประชุมว่าทุกคนต้องช่วยกันชี้แจงตามบทบาทหน้าที่ตัวเอง ไม่ใช่ให้นายกฯกับไอ้ไก่อูพูดกันอยู่ 2 คน ดูสิพูดจนไอแล้ว ตอนนี้ไอมาติดผมด้วย

ตอนนั้นถึงกับต้องลาป่วยไปรักษาอาการอยู่ 2 วัน หมอก็บอกว่าเราพักผ่อนน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook