พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว

พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว

พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุยกับคนรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยการเรียนรู้ในกระบวนการละครเวที เผยแง่มุมชีวิตแห่ง เพศที่สาม

เสียงบทเพลง ‘คนสร้างละคร' ดังก้องเวทีศิลปวัฒนธรรม หรือ ‘เล้าไก่' ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คนกลุ่มหนึ่งกำลังคร่ำเคร่งกับการผลิตงานละครเวทีประจำปี หากใครผ่านมาแถวนี้ คงพบเห็นภาพของชายหนุ่มหญิงสาว สาละวนและตั้งใจกับหน้าที่แต่ละฝ่าย

"พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว เป็นละครเวทีเรื่องที่ 7 แล้วค่ะ" เสียงเจื้อยแจ้วของ วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง โปรดิวเซอร์ละครครั้งนี้บอกเล่า

วลัยลักษณ์ เล่าต่อว่า สาขาสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดละครมาแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยจัดเป็นกิจกรรมนอกเหนือหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้นิสิตที่สนใจงานด้านละคร ตลอดจนงานด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเรียนรู้กระบวนการละคร

แนวทางของสื่อสารมวลชนการละคร คือ การนำเสนอประเด็นทางสังคมที่ถูกกล่าวถึง หยิบจับมานำเสนอในรูปแบบละคร เช่น ละครเรื่อง หน้ากาก เมื่อสองปีก่อน นำเสนอการใช้อำนาจและการปิดบังซ่อนเร้นตัวตนของคนในสังคม ภายใต้หน้ากากในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคนแต่ละกลุ่มมักจะต้องสวมหน้ากากเข้าหากัน

หรือ ปีก่อนหน้านั้น สื่อสารมวลชนการละคร ได้พาย้อนกลับไปหาความรู้สึกดีๆ ในวันเก่าๆ กับตัวละครที่เคยตรึงในความรู้สึกของใครหลายคนมาแล้ว นั่นคือ ‘มานี มานะ' ซึ่งเป็นทั้งชื่อละครและตัวละครสำคัญที่นำมาสร้างเป็นละครเวที ทำให้ตัวละครเก่าๆ ได้โลดแล่นบนเวที และสร้างความประทับใจไม่น้อย

ในปีนี้ วลัยลักษณ์ และทีมงานได้ให้ความสนใจกับเพศที่สาม ซึ่งถูกมองในฐานะความเป็นคนอื่นของสังคม และนำมาซึ่งการถูกกีดกันต่างๆ มากมาย จึงนำเสนอออกมาในแก่นเรื่องความรักของเพศที่สาม ภายใต้ชื่อเรื่องว่า ‘พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว'

"ธีมของปีนี้ จึงต้องการนำเสนอความรักของเพศที่สาม ที่ถูกมองว่าเป็นตัวแปลกประหลาด ความรักของคนบนโลกนี้ ไม่ได้มีเพียงหญิงกับชาย มุมมองนี้ เราทราบกันดีว่า คนเพศอื่นๆ ก็มีความรักในแบบเขา ละครครั้งนี้ เราเป็นตัวสะท้อนความคิดและความหวังที่อยู่ในใจของคนกลุ่มนี้" โปรดิวเซอร์ตัวน้อยย้ำ

ส่วนมือเขียนบทพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว อย่าง จิราพร คำภาพันธ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจของละครว่า ความรักบนโลกใบนี้ไม่ได้มีเพียงชายคู่กับหญิง แต่ในอีกมุมหนึ่งของสังคมยังคงมีความแตกต่าง เป็นอีกมุมมองความรัก ที่เป็นเหมือนกับพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวที่รอวันเต็มดวง หากทุกคนยอมรับและเข้าใจ

"ในแง่ละครอาจจะเพียงบอกเล่าความคิดบางอย่างที่ซ้อนตัวอยู่ในมุมต่างๆ ของสังคม แต่ที่นอกเหนือจากนี้ เราหวังว่าละครจะได้ทำหน้าที่ขยับขยายโอกาสให้กับคนเพศที่สาม ซึ่งพวกเขาต้องการเพียงที่ยืนในสังคมเท่านั้น"

คนสร้างละคร ละครสร้างคน

ด้วยความที่การผลิตละครเวทีไม่ได้อยู่ในกระบวนการเรียนการสอน นิสิตที่สนใจทำละคร จึงต้องเสียสละเวลานอกเหนือจากการเรียน เพื่อมาทุ่มให้กับการทำละคร ดังนั้น การทำละครจึงเป็นเรื่องของความสมัครใจของแต่ละคน

อย่างที่ วลัยลักษณ์ มองว่า "เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้" ตามความสนใจใคร่รู้ และความสามารถของตนเอง เพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้แบบประสบการณ์ตรงจากการดำเนินงานในสถานการณ์จริง

"ทีมงานผู้ผลิตเราก็ประกอบด้วย คนเขียนบท ผู้กำกับการแสดง ผู้กำกับเวที นักแสดง ฝ่ายแสงและเสียง เมคอัพ คอสตูม เทคนิคพิเศษ ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก สูจิบัตร เหรัญญิก สวัสดิการ สปอนเซอร์ที่คอยหาเงินทุนมาให้ รวมทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นทีมงานผลิตร่วมกันค่ะ ซึ่งเป็นลักษณะการใช้ศิลปะร่วม ที่รวมศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน ความกลมกลืน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตสื่อทางด้านการแสดง ส่วนการประสานงานและความสามัคคี นั่นเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานที่เราต้องเรียนรู้ร่วมกันค่ะ"

เช่นเดียวกับคนเขียนบทละครอย่าง จิราพร ที่คิดว่า "ปกติเป็นคนชอบอ่านและเขียนนิยายอยู่แล้วเลยมาเขียนบท เมื่อเพื่อนๆ ให้โอกาส จึงอยากทำให้ดีที่สุด โดยส่วนตัวมีเรื่องเล่ามากมายที่อยากบอกกับคนรอบข้าง จึงอยากเอามุมมองที่เรามีมานำเสนอ"

จิราพร บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถจัดการเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด และเท่ากันกับเพื่อนๆ คือ วันละ 24 ชั่วโมง ให้ลงตัว เพื่อที่จะสามารถเรียนและทำกิจกรรมไปพร้อมๆ กันได้ แต่สำหรับพวกเขาเหล่านี้ เวลาถูกมองให้เป็นเกม ที่พวกเขาต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเล่น เพื่อจะเล่นให้จบก่อนที่เกมจะโอเวอร์

ส่วน สาริศรา เทียนจันทึก ผู้กำกับละคร ที่ถูกเพื่อนหลอกล้อว่า ผอมลงมาก เพราะทำละคร

"ก็ต้องนอนน้อยลง จัดสรรตารางการทำงานดีๆ คิดก่อนว่าวันไหนมีงานวิชาอะไรส่งบ้าง อันไหนมาก่อนมาหลัง อาจต้องเหนื่อยมากกว่าเพื่อนหน่อย แต่ถ้าเราสามารถจัดการให้มันผ่านไปได้ เราก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย ! เราทำได้ว่ะ โดยเฉพาะตัวเองต้องเป็นทีมกำกับด้วย ก็ต้องเหนื่อยเป็นสองเท่า ทั้งต้องทำการบ้านเรื่องนักแสดง การตีโจทย์จากบท และการบ้านในวิชาเรียนอีก แต่ก็สนุกดีค่ะ"

บทเรียนนอกตำรา

เมื่อต่างคนต่างทำหน้าที่แตกต่างกันไป บทเรียนที่ทีมงานได้มานั้น ย่อมจะมีความยากง่ายแตกต่างกันออกไป แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ทีมงานได้เรียนรู้ร่วมกันนั่นก็คือ การวางแผน และการแก้ปัญหา

จำนง นามมา ผู้กำกับอีกคนหนึ่ง เล่าถึงหน้าที่ของผู้กำกับ และสิ่งที่เรียนรู้ให้ฟังว่า เหตุผลในการทำงานนั้นจำเป็นมากจริงๆ

"พอเรามาทำเองกับหน้าที่นี้ มันค่อนข้างยาก โดยเฉพาะตรงที่ต้องทำให้นักแสดง เชื่อและถ่ายทอดออกมาเป็นตัวละครนั้นๆ ให้ได้ อีกอย่างเหตุผลจำเป็นมากในกระบวนการทำงาน เพราะหากไม่มีเหตุผล ทุกคนก็ไม่ยอมรับ อะไรที่เราพูดออกไปก็จะเป็นแค่คำพูดลอยๆ"

ไม่ต่างกันกับ กตัญญู บุญเดช ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของละคร ที่ได้เรียนรู้ทักษะมากมายด้านการประชาสัมพันธ์ จากงานครั้งนี้

"ไม่ได้รู้แค่เรื่องการทำงานนะ มันเหมือนได้รู้นิสัยใจคอของคน รู้หน้าไม่รู้ใจ ทีมงานบางคนไม่เคยคุยกันมาก่อนก็ได้รู้จักกันมากขึ้น ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างในตัวของเพื่อนว่าเป็นยังไง ความเอาใจใส่ ความเห็นแก่ตัว มันเห็นหมด และยังได้พิสูจน์ความอดทนของตัวเองด้วย"

ในสายตาของ ผศ.ดร. สุจิน บุตรดีสุวรรณ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มองการทำงานละครว่า การทำงานละครทำให้เห็นถึงแก่นของการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาสาขาสื่อสารมวลชนที่เน้นการปฏิบัติจริง

"เห็นว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นประโยชน์ น่าสนับสนุนทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความรู้ และจินตนาการในการที่จะสื่อสาร โดยใช้สื่อการแสดงหรือละครเวที เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการสื่อสารแขนงต่างๆ นอกจากได้เรียนรู้โดยการกระทำแล้ว ยังอาจเห็นดาวประดับวงการบันเทิงของเมืองไทยที่เกิดจากเวทีนี้ก็ได้"

หากการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 4 ปีนี้ เหมือนกับการล่องเรือหาปลาไปในทะเลกว้าง ที่ทุกคนบนเรือล้วนมีเครื่องมือในการจับปลาที่เหมือนกัน นั่นคือ หนึ่งสมองและสองมือ แต่ความต่างจะอยู่ที่ว่าใครมีความสนใจใคร่รู้ ฝึกฝนเทคนิคการใช้เครื่องมือนั้นให้เชี่ยวชาญมากที่สุด เพื่อให้ได้ปลามาเป็นสินค้าที่จะเอามาขายเมื่อขึ้นฝั่ง

และละครเวทีกำลังฝึกให้เรารู้จักการใช้เครื่องมือที่ว่านั้น ให้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น

....................................

หมายเหตุ : ละครเวที พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว จะจัดแสดงในวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ ที่ลานศิลปวัฒนธรรมกลางแจ้ง ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สนใจติดต่อ 08-4032-8611

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook