หวั่นปัญหาการเมือง บาทอ่อนค่าคาดแตะ35.10บ.

หวั่นปัญหาการเมือง บาทอ่อนค่าคาดแตะ35.10บ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26-30 ม.ค.) อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัวใกล้ระดับ 2.00% ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดเงินที่ยังมีอยู่มาก โดยธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ นอกจากนี้ก็มีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือน อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) หนาแน่นตลอดทั้งสัปดาห์ที่ระดับ 2.00% เช่นเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้าส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะ 1, 7 และ 14 วัน ทรงตัวทั้งสัปดาห์ที่ระดับ 2.00% ในขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed Funds Rate) ไว้เท่าเดิมในช่วง 0-0.25% และคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount Rate) ที่ระดับ 0.50% ในการประชุมวันี่ 27-28 ม.ค. โดยเฟดยืนยันว่าจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย และย้ำว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ส่วนเงินบาทในประเทศ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงมาปิดตลาดปลายสัปดาห์ที่ระดับ 34.95 เทียบกับระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 23 ม.ค.

ส่วนเงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.80-35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดอาจให้น้ำหนักกับแนวโน้มที่อ่อนแอของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ควรจับตา ประกอบด้วย ทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนี ISM ภาคการผลิต-ภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม และอัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 2552 รายได้-รายจ่าย และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน และยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ธ.ค. 2551 ตลอดจนข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยประจำไตรมาส 4/2551 นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังจับตาการอภิปรายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของวุฒิสภาสหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลอดจนการเปิดเผยมาตรการฟื้นฟูสถาบันการเงินของรัฐบาลโอบามา และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางออสเตรเลียในระหว่างสัปดาห์อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook