จับตาอาเซียน (ตอนที่ 13) : บทบาทของจีนและญี่ปุ่นบนเวทีอาเซียน

จับตาอาเซียน (ตอนที่ 13) : บทบาทของจีนและญี่ปุ่นบนเวทีอาเซียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นอกจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิกของอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศคู่เจรจาอีกบางประเทศที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง อันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เข้ามามีบทบาทใน อาเซียน +3 และอาเซียน +6 รวมทั้งการก่อตั้งกองทุนการเงินแห่งเอเชีย หรือ Asian Monetary Fund (AMF) ซึ่งมีกระแสคัดค้านจากทางฝั่งตะวันตกและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเสียงคัดค้านจาก IMF ความพยายามถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนและญี่ปุ่นกับสหรัฐ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นนั้น ต่างพยายามจะแย่งกันขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ประเทศมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐอเมริกากำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจจนแทบจะเอาตัวไม่รอด ประเทศจีนก็ยื่นข้อเสนอเข้าไปอุ้มสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในภาคธุรกิจของสหรัฐอย่างเต็มใจ โดยแน่นอนว่าจะต้องเป็นไปเพื่อสร้างดุลอำนาจต่ออเมริกา แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกากดดันให้ประเทศจีนปรับนโยบายค่าเงิน ทำให้จีนไม่พอใจ และลดความช่วยเหลือลง ประเทศญี่ปุ่นที่รอจะเข้าไปคว้าโอกาสในการสร้างดุลอำนาจก็ไม่ปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไป เสนอความช่วยเหลือในส่วนที่จีนถอนไปทันที บทบาทของจีนและญี่ปุ่นบนเวทีอาเซียน ในบริบทของอาเซียนนั้น จีนและญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการทางด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเสนอก่อตั้ง กองทุนการเงินแห่งเอเชีย โดยอาเซียนจำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินเพื่อก่อตั้งจาก 3 ประเทศคู่เจรจาซึ่งก็คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อเป็นกลไกเสริมความมั่นคงทางด้านการเงินให้แก่ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทั้งจีนและญี่ปุ่น ต่างพยายามกำหนดอัตราเงื่อนไขการจ่ายเงินตั้งกองทุนในปริมาณที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ เพื่อที่จะเป็นผู้นำและมีอำนาจการตัดสินใจมากที่สุดในการดำเนินการกองทุน ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพในฐานะผู้นำ ผลประโยชน์จากบทบาทของจีนและญี่ปุ่นต่ออาเซียน อาเซียนนั้นแม้จะเป็นการรวมตัวของประเทศถึง 10 ประเทศ แต่ก็เป็นกลุ่มประเทศที่เพิ่งจะมีการรวมตัวกันอย่างเป็นรูปธรรมและเพิ่งจะมีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา แม้จะรวมตัวกันมาได้ถึง 41 ปี ทว่าจุดด้อยของอาเซียนที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้นั้นก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนมากนั้นยังคงเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวยและเป็นประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ด้วยลักษณะเศรษฐกิจการค้า และศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงทำให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นหละหลวมกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิภาคยิ่งทำให้อาเซียนขยายตัวได้อย่างจำกัด ดังนั้น การที่จีนและญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาเป็นพหุภาคีกับอาเซียน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะกลบความด้อยบางประการของอาเซียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพทางการเงินของทั้งสองประเทศที่ถือว่ามีความมั่นคงมากกว่า รวมทั้งทั้งประเทศจีนและญี่ปุ่นมีดุลอำนาจทางการค้าเศรษฐกิจต่อประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้อาเซียนเรียนรู้และอาศัยความได้เปรียบของทั้งสองประเทศนี้ในการเจรจาใด ๆ กับประเทศอื่น ๆ นอกกรอบอาเซียนได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น ประเทศไทยเองก็ได้รับผลดีจากการที่จีนและญี่ปุ่นพยายามเข้ามามีบทบาทในอาเซียนเช่นกัน เพราะประเทศไทยเองก็มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนและญี่ปุ่นเป็นจำนวนมหาศาล ทว่าจากความล่าช้าของการจัดการประชุมอาเซียน ก็ทำให้พหุภาคีของอาเซียน +3 อย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือกันในประเด็นเกี่ยวกับการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจไปก่อน เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ณ เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสองอำนาจทางการเงินแห่งเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นมาร่วมมือกันบนเวทีอาเซียนท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทั่วโลกต่างตั้งความหวังไว้กับภูมิภาคนี้ ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน และดำรงตำแหน่งเป็นประธานาอาเซียน ย่อมต้องมีบทบาทสำคัญต่อความก้าวหน้าก้าวใหญ่ในครั้งนี้ของอาเซียนด้วย การประชุมที่จะเกิดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีความราบรื่น หรือความสำเร็จเพียงใดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมเท่านั้น แต่กลับขึ้นอยู่กับความสามัคคี และความร่วมใจของคนไทย รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียนด้วย กนกวรรณ ขวัญคง : เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง : บรรณาธิการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook