บทวิเคราะห์ : ไทย-กัมพูชา กับ อคติ ความขัดแย้ง และการค้า!!!

บทวิเคราะห์ : ไทย-กัมพูชา กับ อคติ ความขัดแย้ง และการค้า!!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีรอยร้าวมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะเป็นรอยร้าวบาง ๆ ที่แทบจะจาง ไป หรืออาจจะเป็นรอยแผลใหญ่ ที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในเร็ววัน ทั้งนี้การจะแก้ไขปัญหาใด ๆ ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เยียวยาให้ถูกจุด โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกด้วย อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน ประเทศไทยนั้นเคยมีกรณีความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบมาแล้วทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย กัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งต่างมีความขัดแย้งอันเกิดมาจากอคติทั้งสิ้น ทั้งนี้ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนา "อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาไว้ว่าเกิดจาก "ชาตินิยมทางการ ของทั้งสองประเทศ ซึ่งเกิดจากอคติของทั้งสองชาติที่มีต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีพระวิหาร ซึ่งทำให้เกิดผลแตกต่างกันอย่างมหาศาลภายในประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ด้านหนึ่งนายกรัฐมนตรีได้คะแนนอย่างท่วมท้นชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศ อีกด้านหนึ่งก็มีส่วนให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งทางด้านความคิดและการเมืองของประชาชนในประเทศเดียวกัน บ่อเกิดแห่งอคติ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับกรณีเกี่ยวกับอคติที่เกิดขึ้นนี้ว่าได้แอบแฝงอยในการใช้ภาษา และภาพอื่น ๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไทยมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวละครแม่บ้านที่เป็นชาวพม่า การใช้ภาษาพาดหัวข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ทั้งนี้ อคติที่เกิดขึ้นต่าง ๆ นั้นก่อเกิดจากความไม่รู้และความระแวง ซึ่งก่อให้เกิดความไม่รู้และความระแวงที่เพิ่มมากขึ้นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของอาเซียน หากอาเซียนมีความมุ่งหวังว่าจะผันตัวเองกลายเป็นประชาคมให้ได้ในปี 2015 อาเซียนจำเป็นที่จะต้องก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิก และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากแต่ละประเทศยังคงมีความขัดแย้งต่อกัน หนทางหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาบาดแผลเหล่านี้ได้ก็คือ อาเซียนต้องมีการชำระบทเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างอคติและความขัดแย้งภายในใจของประชาชนแต่ละประเทศต่อกันให้เรียบร้อยที่สุด และมีเนื้อหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผลกระทบทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จากความขัดแย้งกับกัมพูชา ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่รายล้อมประเทศไทย มีเพียงประเทศกัมพูชาเท่านั้น ที่ไทยได้ดุลการค้าจากการค้าขาย ซึ่งมูลค่าการค้าขายระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นเป็นจำนวนมหาศาลถึงปีละสี่หมื่นล้านบาท ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แสดงภาพสะท้อนจากกัมพูชา อันเป็นผลกระทบจากความขัดแย้งกับไทยในกรณีปราสาทพระวิหารไว้ ไม่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากประเทศไทยได้รับความนิยมน้อยลง และชาวกัมพูชาก็หันไปบริโภคสินค้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะเวียดนามมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการดำเนินธุรกิจการค้าต่าง ๆ ของชาวไทยในกัมพูชา ที่เจ้าของกิจการจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อนำสิ่งที่มีความเป็นไทย หรือ สยาม ออกไป เช่นร้านอาหารที่เคยใช้ชื่อว่า "เจ้าพระยา อันเป็นแม่น้ำสายหลักของไทย ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็น "ป่าสัก หรือแม้กระทั่งธุรกิจการธนาคารอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Siam Commercial Bank ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็น Cambodian Commercial Bank ในขณะที่ยังเป็นการดำเนินการของชาวไทยอยู่เช่นเดิมก็ตาม ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยก็สูญเงินจากความขัดแย้งในครั้งนี้ไปกว่าสองพันล้านบาท ไม่ว่าจะเกิดความเสียหายทางการเงินมากมายมหาศาลเพียงใดจากความขัดแย้งกับกัมพูชา แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับการสูญเสียความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อกันในฐานะประเทศอาเซียน ที่ตั้งความคาดหวังว่าจะพากันก้าวเดินไปสู่ความเป็นประชาคมพร้อม ๆ กันในปี 2015 โดยต่างฝ่ายต่างต้องคำนึงถึงประโยชน์อันแท้จริงจากความรักสามัคคีที่จะมีต่อกัน เพื่อสร้างศักดิ์ศรี และความภูมิใจร่วมกันในเวทีโลกให้ได้ กนกวรรณ ขวัญคง : เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง : บรรณาธิการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook