ร้านทองเยาวราชรวมตัวตั้งบริษัทโบรกเกอร์สู้ศึกโกลด์ฟิวเจอร์

ร้านทองเยาวราชรวมตัวตั้งบริษัทโบรกเกอร์สู้ศึกโกลด์ฟิวเจอร์

ร้านทองเยาวราชรวมตัวตั้งบริษัทโบรกเกอร์สู้ศึกโกลด์ฟิวเจอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ร้านทองตู้แดงเยาวราชเร่งปรับตัว รวมกลุ่มตั้งบริษัทโบรกเกอร์ค้าทองคำรับมือ โกลด์ฟิวเจอร์ (TFEX) ที่จะเปิดตัวซื้อขายวันแรก 2 ก.พ.นี้ ด้าน สมาคมผู้ค้าทองคำ ห่วงไทยเปิดตลาดเร็วเกินไป คนยังไม่มีความรู้ หวั่นล้มเหลวตามตลาดไต้หวัน-ฮ่องกง

ราคาทองคำแท่งที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงบาทละ 14,850 บาทสำหรับราคารับซื้อ และ 14,950 บาท สำหรับราคาขายเมื่อวันที่1กุมภาพันธ์ รวมถึงช่วงก่อนหน้านั้นที่ราคาปรับตัวผันผวนลงต่ำประมาณ 12,000 บาท จนสูงเกือบ 15,000 บาท ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อขายทองคำจำนวนมาก ในขณะที่ความสามารถในการดำเนินธุรกิจในภาวะราคาผันผวนของร้านค้าทองย่านเยาวราชกลับมีอย่างจำกัด

ทำให้เกิดกรณีซื้อทองคำได้ใบจอง หรือขายทองคำได้เช็คไปขึ้นเงินได้ในอีกหลายวันหลังจากนั้น รวมถึงการจำกัดโควตาซื้อหรือขาย ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมกับตั้งตารอ "ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX จะเปิดซื้อขายสินค้า "โกลด์ฟิวเจอร์" หรือสัญญาซื้อขายทองล่วงหน้าเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เพื่อให้นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท ห้างขายทองจินฮั้วเฮง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ค้าทองคำ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กลุ่มสมาชิกสมาคมจำนวน 10 กว่ารายได้ระดมเงินทุนจำนวน 120 ล้านบาท เพื่อจดทะเบียนบริษัทร่วมทุนชื่อ "บ.จีทีเวล อินเวสเม้นท์ จำกัด" โดยยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อทำหน้าที่เป็น "นายหน้าซื้อขาย (โบรกเกอร์)" ในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า โดยมีออฟฟิศให้บริการลูกค้าตั้งอยู่ในย่านถนนสาทร โดย บ.จีทีเวล อินเวสเม้นท์ จำกัด จะพร้อมเปิดให้บริการซื้อขายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ค้าทองคำที่ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ค้าทองคำก่อนหน้านี้อีก 4 ราย ได้แก่ ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง, บจ.ทีซี ออสสิริส ในเครือบริษัท ออสสิริส, บจ.เอ็มทีเอส โกลด์ฟิวเจอร์ส ในเครือห้างทองแม่ทองสุก และ บจ.วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส ในเครือบริษัทยูหลิม โกลด์ แต่เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการจัดระบบบริหารงาน จัดโครงการอบรมให้ความรู้แก่ร้านค้าทองที่จะทำหน้าที่เป็นเครือข่ายซับโบรกเกอร์ จึงทำให้โบรกเกอร์ค้าทองคำทั้ง 5 รายข้างต้นซึ่งเป็นเครือข่ายทองตู้แดงเยาวราชต้องเปิดให้บริการล่าช้ากว่าโบรกเกอร์รายอื่นๆ ในตลาดอนุพันธ์ถึง 1 เดือนเต็ม อย่างไรก็ตามตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย การเริ่มต้นล่าช้ากว่าโบรกเกอร์รายอื่นๆ อาจเป็นข้อดีทำให้กลุ่มผู้ค้าทองมีระยะเวลาศึกษาและเรียนรู้ข้อผิดพลาดของโบรกเกอร์รายอื่นๆ ได้เช่นกัน

นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัญยศิริ เลขาธิการสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า การเปิดตลาดโกลด์ ฟิวเจอร์ "ผมว่าเร็วเกินไป" เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักอย่างชัดเจน ที่ผ่านมามีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องนี้บ้าง แต่ทำในพื้นที่จำกัดเฉพาะกลุ่มคนกรุงเทพฯบางส่วนเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตลาดไทยล้มเหลวซ้ำรอยตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าในประเทศไต้หวันและฮ่องกงได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ธุรกิจตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าประสบความสำเร็จได้ก็คือ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วประเทศมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจนี้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องก่อนเปิดให้บริการ เช่นเดียวกับอินเดียที่ใช้เวลาเพียง 2 ปีเศษ กลายเป็นตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ไต้หวันและฮ่องกงเปิดให้บริการตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าก่อนอินเดียแต่กลับประสบความสำเร็จน้อยกว่า เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดกับนักลงทุนอย่างเหมาะสมนั่นเอง

"บจ.เอ็มทีเอส โกลด์ฟิวเจอร์ส ในเครือห้างทองแม่ทองสุก พร้อมเปิดให้บริการโบรกเกอร์ในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าในเดือนมีนาคมนี้อย่างแน่นอน ส่วนการขายผ่านร้านค้าทองที่เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ทางบริษัทและโบรกเกอร์ค้าทองอีก 4 ราย มีความเห็นตรงกันว่า จะพร้อมเปิดทำการได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามบริษัทมั่นใจว่าผู้ค้าทองที่ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์จะประสบความสำเร็จทางการตลาดได้ไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่มีรายชื่อลูกค้าอยู่ในมืออยู่แล้ว ประการต่อมาผู้ค้าทองส่วนใหญ่สะสมประสบการณ์การค้าทองมานานนับสิบปี ทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มตลาดทองคำได้อย่างมืออาชีพ และเป็นที่เชื่อถือของนักลงทุนได้มากกว่าโบรกเกอร์ทั่วไป" นายแพทย์กฤชรัตน์ กล่าว

ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX กล่าวว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันเปิดซื้อขายทองล่วงหน้าวันแรกนี้จะมีนายหน้าซื้อขาย (โบรกเกอร์) เข้ามาเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) 1 ราย คือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ ส่วนอีก 2 รายกำลังเจรจาอยู่ ซึ่งคาดว่ามาร์เก็ตเมกเกอร์จะเข้ามาดูแลสภาพคล่องได้ในเร็วๆ นี้

สำหรับค่านายหน้าซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส (คอมมิสชั่น) นั้น ทางตลาดอนุพันธ์ไม่ได้กำหนด แต่จะมีชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures industry club หรือ FI club) ทำการตกลงกันเอง โดยในส่วนของโกลด์ ฟิวเจอร์ส ได้มีการกำหนดอัตราเป็นแบบขั้นบันได (sliding scale) คือถ้าลูกค้าซื้อขายไม่เกิน 5 สัญญาต่อวัน ลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทั้งหมดในอัตรา 500 บาทต่อสัญญา กรณีมีการซื้อขายสัญญามากกว่า 5 สัญญาขึ้นไปจะคิดค่าธรรมเนียมของสัญญาที่ 6-20 อัตรา 400 บาทต่อสัญญา ส่วนสัญญาที่ 21 ขึ้นไปคิดอัตรา 300 บาทต่อสัญญา

นอกจากนี้ทางชมรมจะประกาศอัตราเงินประกันที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าให้นำมาวางไว้ที่โบรกเกอร์ก่อนจะซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ โดยกำหนดเพิ่มเติมจากอัตราขั้นต่ำที่ตลาดอนุพันธ์กำหนด กล่าวคือลูกค้าต้องวางหลักประกันขั้นต้น (initial margin) ในอัตรา 66,500 บาทต่อสัญญา และหลักประกันรักษาสภาพ (maintenance margin) ในอัตรา 46,550 บาทต่อสัญญา ทั้งนี้ตลาดอนุพันธ์ได้กำหนดให้สมาชิกดำเนินการปรับปรุงระบบงานและทดสอบระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของ selling agent ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ คาดว่าผู้ลงทุนจะเริ่มใช้บริการซื้อขายจาก selling agent ประมาณปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook