ปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ แก๊งโจ๋พัทลุงเข้าข่ายรับโทษเท่าผู้ใหญ่

ปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ แก๊งโจ๋พัทลุงเข้าข่ายรับโทษเท่าผู้ใหญ่

ปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ แก๊งโจ๋พัทลุงเข้าข่ายรับโทษเท่าผู้ใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้พฤติการณ์เยาวชนพัทลุงลวงฆ่าเข้าข่ายรับโทษเท่าผู้ใหญ่ สามารถโอนคดีจากศาลเยาวชนและครอบครัวไปพิจารณาคดีธรรมดาได้

(3 ก.พ.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีเยาวชนที่จังหวัดพัทลุงลวงฆ่าฝังดินคู่อริพร้อมข่มขืน ทำร้ายร่างกายแฟนสาว ก่อนจับโยนลงเหว ว่ามีพฤติการณ์โหดร้ายเกินกว่าวัย ซึ่งสามารถโอนคดีจากศาลเยาวชนและครอบครัวไปพิจารณาคดีธรรมดาได้ ตามมาตรา 97 วรรค 2 เนื่องจากเข้าข่ายในหลักเกณฑ์ที่ประกอบการสังเกต คือ 1.มีการวางแผนเตรียมการมาก่อน 2.มีลักษณะอุกอาจ โหดร้าย ทารุณ 3.ผลที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง หรือเกิดความเสียหายแก่สังคมโดยรวม 4.กระทำโดยขาดความเห็นอกเห็นใจเหยื่อ และ 5.เคยมีประวัติการกระทำผิดในทำนองเดียวกันมาก่อน ไม่ว่าจะถูกจับกุมหรือไม่

นอกจากนี้จะดูว่าเมื่อสุขภาพร่างกาย แข็งแรง สมบูรณ์ และขณะกระทำความผิดมีระดับสติปัญญาไม่บกพร่อง คือไม่ต่ำกว่า 70 เมื่อทดสอบโดยใช้แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา รวมทั้งพิจารณาภาวะแห่งจิตและนิสัย โดยการตรวจสภาพจิตโดยจิตแพทย์ และผลการทดสอบทางจิตวิทยา พบว่า ไม่มีอาการของโรคจิต วิกลจริต หรือพยาธิสภาพทางสมอง แต่มีแนวโน้มว่าอาจมีปัญหาบุคลิกภาพในอนาคต เช่น ต่อต้านสังคมหรือมีความเป็นผู้ร้ายโดยสันดาน

โดยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 97 วรรคสอง ระบุว่า คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาโดยคำนึงถึงร่างกาย สติปัญญา สุขภาพ ภาวะแห่งจิตและนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิดหรือในระหว่างการพิจารณาเด็กหรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป ก็ให้มีอำนาจสั่งให้โอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้

ซึ่งในขณะนี้ศาลยังไม่ได้มีการพิจารณา โดยยังอยู่ในกระบวนการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงที่มีระยะเวลา 30 วัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาก็มีหลายเหตุการณ์ที่มีการโอนคดีของเยาวชนที่กระทำความผิดไปพิจารณาคดีศาลธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีฆ่า

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ในสังคมมีความเป็นห่วงในเรื่องของการก่อเหตุรุนแรงในเด็กที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทางกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามหาทางแก้ไข หลักสำคัญก็คือครอบครัวที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนการที่หลายคนมองว่ากฎหมายบทลงโทษอ่อนเกินไปนั้น เห็นว่าเพียงพอแล้ว เพราะเทียบกับต่างประเทศถือว่ารุนแรงกว่า

สำหรับที่หลายฝ่ายมีการเสนอความคิดให้ลงโทษประหารผู้ก่อเหตุข่มขืนนั้น ในประเทศไทยไม่มีบทลงโทษการประหารชีวิตในเยาวชน ส่วนในผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยมี เพราะตามงานวิจัยพบว่าโทษประหารไม่มีผลทำให้คนเกรงกลัว พร้อมกันนี้จากสถิติของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่ามีเยาวชนที่กลับไปก่อเหตุซ้ำเพียงแค่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งยังเชื่อว่าการให้โอกาสจะทำให้เด็กเหล่านี้กลับมาอยู่ในสังคมได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook