จับตาอาเซียน (ตอนที่ 14) : การท่องเที่ยวอาเซียนจากฮานอย สู่ดาวอส

จับตาอาเซียน (ตอนที่ 14) : การท่องเที่ยวอาเซียนจากฮานอย สู่ดาวอส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากการที่มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 12 ณ เมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม 2552 และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอมาเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประกอบกับการที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในความพยายามเรียกคืนความมั่นใจและฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศบนเวทีระดับโลก สำนักข่าวแห่งชาติมองว่าทั้งสองเวทีนี้เป็นแรงส่งที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างยิ่ง เวทีฮานอย การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 12 และรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน +3 ที่มีจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีเพิ่มขึ้นมา โดยจัดขึ้น ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นอกจากจะมีการให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเพื่อให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของประเทศและในภูมิภาคแล้ว ยังมีการต่อยอดโดยจะนำวาระการประชุมในครั้งนี้ เข้าสู่วาระการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ด้วย ทั้งนี้ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในประเด็นเกี่ยวกับการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนครั้งที่ 12 ณ กรุงฮานอยนี้ คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ คือให้บรรจุข้อความในถ้อยแถลงของผู้นำอาเซียน (ASEAN Leaders Declaration) ในวาระการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 (The 14th ASEAN Summit) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ดังต่อไปนี้ "The ASEAN Leaders appreciated the commitments and efforts of ASEAN Tourism Ministers in further integrating tourism towards the establishment of the ASEAN Economic Community by formulating an ASEAN Tourism Strategic Plan 2011-2015 and developing ASEAN Tourism Connectivity Corridors. The Leaders also acknowledged new measures in response to economic recession by declaring the years 2009-2010 as the Youth Travellers Years with ASEAN Tourism Incentives. ทั้งนี้รายละเอียดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนั้น ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาค (Intra-ASEAN Travel and Tourism) เพื่อให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิของประเทศและในภูมิภาค ทั้งนี้ไทย ในฐานะประธานและผู้จัดการประชุม จะต้องนำผลการประชุมเสนอรัฐบาลไทยเพื่อบรรจุในวาระการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 โดยประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ จะต้องร่วมดำเนินการในการจัด ทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน พ.ศ. 2554-2558 ร่วมกัน ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงของเส้นทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวของเยาวชน โดยประกาศให้ปี 2552-2553 เป็นปีการท่องเที่ยวเยาวชน และสร้างมาตรการจูงใจให้นักท่องเที่ยวที่มีสัญชาติอาเซียนเดินทางในภูมิภาคมากขึ้น เวทีดาวอส การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยเข้าร่วมประชุม เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของชาวต่างประเทศที่มีต่อไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างชาติยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ที่จำเป็นจะต้องอาศัยความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและภูมิภาค และในโอกาสที่ได้เข้าร่วมประชุมในเวทีระดับโลกครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติจำนวน 13 สำนัก เพื่อยืนยันถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทยว่ายังสามารถควบคุมให้อยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อยได้ดี รวมทั้งการแสดงความเชื่อมั่นในครั้งนี้ ยังมีผลสำคัญต่อศักยภาพความเป็นผู้นำของรัฐบาลไทยบนเวทีอาเซียน ซึ่งในครั้งนี้ประเทศไทยจะเป็นกำลังสำคัญที่จะนำวาระเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเข้าเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนอีกด้วย จากฮานอย สู่ดาวอส เวทีฮานอย ถือเป็นเวทีที่เป็นขั้นตอนของการร่างแนวทางการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน ที่มีการตกลงใจเพื่อร่วมมือร่วมใจกันทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสด ความเชื่อมโยงที่มีต่อกันของกลุ่มอาเซียนจะส่งผลดีต่อปณิธานที่ตั้งไว้เกี่ยวกับการเป็น "ประชาคมอาเซียน ในปี 2015 เนื่องจากการท่องเที่ยวนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยเชื่อมโยงความเป็นอาเซียนไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะในเรื่องการคมนาคม การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ได้รับแรงกระตุ้นจากการท่องเที่ยว โดยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นเหตุสำคัญอันนำมาซึ่งความเข้าใจต่อกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายในอาเซียน ซึ่งความหลากหลายของประเทศสมาชิกถือเป็นทั้งจุดด้อยและจุดเด่น ที่หากสามารถแก้ไขได้ตามแผนที่วางไว้แล้ว ก็มีแต่จะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียนเองทั้งสิ้น ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียนสมัยปัจจุบัน ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้ความเป็นประชาคมอาเซียนเป็นจริงขึ้นมาได้ ทั้งนี้เพียงแค่การบริหารการเมืองนั้นยังคงไม่เพียงพอ ตราบใดที่เศรษฐกิจยังหยุดนิ่งหรือไม่ก็ดิ่งลงเรื่อย ๆ การท่องเที่ยวถือเป็นกลไกสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ อันจะนำมาซึ่งการโตของเศรษฐกิจต่อไป ประชาคมอาเซียนคงไม่ไกลเกินฝัน ถ้าประเทศอาเซียนต่างร่วมมือร่วมใจกัน พัฒนาภูมิภาคของตนเอง กนกวรรณ ขวัญคง : เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง : บรรณาธิการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook