วัดถ้ำกระบอก 56 ปี ผู้ปิดทองหลังพระ จากชื่อเสียสู่ชื่อเสียงระดับโลก

วัดถ้ำกระบอก 56 ปี ผู้ปิดทองหลังพระ จากชื่อเสียสู่ชื่อเสียงระดับโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ถ้าใจเราพร้อม จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" กุศโลบายจากสัจจะสาบานที่ผู้ติดยาทุกคนจะต้องตระหนักและบังคับใจเมื่อตัดสินใจเข้ามาบำบัดที่ "วัดถ้ำกระบอก" หรือสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกในอดีต เพราะบ้านหลังนี้จะต้อนรับผู้เสพยาทุกคนเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต หลังจากผ่านการบำบัดครบ 15 วัน ประตูบ้านหลังนี้จะปิดตาย ไม่ต้อนรับการกลับมาอีกครั้งของคุณ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เพราะการรักษาอาการติดยาเสพติด "สัจจะ" สำคัญเหนือสิ่งใด และนี่คือสิ่งที่วัดถ้ำกระบอกเน้นย้ำมาตลอดระยะเวลาการเป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตั้งแต่ปี 2503


แม้ก่อนหน้านี้วัดถ้ำกระบอกจะต้องผ่านสารพัดการพิสูจน์ในภารกิจแรกเริ่มที่คนเคลือบแคลงใจว่าแท้ที่จริงวัดถ้ำกระบอกเป็นเพียงอาชญากรในคราบพุทธสถาน หากินกับผู้ติดยาเสพติด เป็นแหล่งค้ายา อีกทั้งวิธีการรักษายาเสพติดของวัดยังถูกมองว่าเป็นการทรมานผู้ป่วย แต่เพราะเจตจำนงที่มั่นคงของพระทั้ง 3 รูปที่เป็นผู้ริเริ่มคือหลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่อเจริญ และหลวงพ่อจำรูญ ทำให้ภารกิจเพื่อสังคมนี้ยังคงดำเนินเรื่อยมา


"เราเป็นพระเมื่อฉันอาหารแล้ว ก็ทำกิจของสงฆ์ เมื่อทำกิจของสงฆ์แล้ว เราก็ต้องช่วยเหลือสังคมในส่วนที่เราช่วยได้" คำสอนที่ส่งต่อเรื่อยมา จนทำให้พระทุกรูปในวัดยึดถือเป็นสัจจะในจิตใจ และยินดีปฏิบัติเรื่อยมา


"เหตุที่วัดถ้ำกระบอกถูกครหาในช่วงแรกน่าจะเป็นเพราะในอดีตมีชาวม้งจากหลากหลายพื้นที่มาอาศัยอยู่ในละแวกนี้ มีบางส่วนค้ายาเสพติดและโดนจับได้ ข่าวที่ออกไปทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าชาวม้งที่ถูกจับได้เป็นชาวม้งที่วัดถ้ำกระบอก ที่นี่จึงถูกครหาว่าเป็นสถานที่ค้ายาเสพติด และตั้งสำนักสงฆ์เป็นฉากหน้า แต่ความจริงชาวม้งที่วัดถ้ำกระบอกขึ้นทะเบียนทุกคนและมีทหารเข้ามาดูแล ในยุคนั้นวัดถ้ำกระบอกจึงถูกโจมตีอย่างหนัก" พระอาจารย์วิจิตร รองเจ้าอาวาสวัดถ้ำกระบอกกล่าว


กระทั่งเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนพระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ ผู้ริเริ่มภารกิจเพื่อสังคมนี้ได้รับรางวัลแมกไซไซ รวมถึงในเวลาต่อมา BBC NEWS ได้ตีพิมพ์บทความ 90 % ของผู้ติดยาเสพติดที่เข้ามาบำบัดกับวัดถ้ำกระบอก ประเทศไทย สามารถหายและไม่หวนกลับไปใช้ยาอีกภายในระยะเวลา 1 ปี โดยอ้างอิงจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยควีนส์ประเทศอังกฤษ


การยอมรับในวงกว้างทำให้ปัจจุบันวัดถ้ำกระบอก มีสภาพไม่ต่างจากบ่อน้ำแห่งความหวังกลางทุ่งทะเลทรายของผู้เสพยา และนั่นทำให้พระทุกรูปในวัดยังคงแน่วแน่ต่อปณิธานเริ่มต้นของวัดถ้ำกระบอก


"คนจำนวนมากคิดว่าสิ่งเสพติดเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ไม่เคยมองว่าความทุกข์ทรมานจากคนติดยามันพาลไปถึงครอบครัว สังคม ยาเสพติดมันเลวร้ายจริง แต่ไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนที่ใช้ยาเสพติดจะต้องเป็นคนเลวร้าย ฉะนั้นคนที่มาเลิกยาเสพติดเราก็ต้องช่วยเค้า ไม่ใช่คิดว่าที่ไหนมีคนติดยาเสพติดรวมกันที่นั่นคือสถานที่เลวร้าย ควรเข้าใจหัวอกคนหลงผิด ครอบครัวต้องให้โอกาสเขากลับไปเป็นคนดี"


ยาสมุนไพรสูตรเฉพาะของวัดถ้ำกระบอก กลายเป็นที่มาของภาพที่แค่หลับตาก็นึกออกเพราะหลังจากผู้เข้ารับการบำบัดดื่มยาสมุนไพรนี้เข้าไปก่อนจะดื่มน้ำตามเยอะๆ ผลที่เห็นคือการอาเจียนอย่างรุนแรงชนิดหมดไส้หมดพุง ก่อนจะเดินเข้าไปอบตัวในห้องสมุนไพรเพื่อลดความเครียดและขับพิษออกจากร่างกาย จากนั้นอีก 10 วันผู้บำบัดจะได้รับการฟื้นฟูทางจิตใจด้วยธรรมะ นี่คือสิ่งที่ทำให้วัดถ้ำกระบอกได้รับเสียงชื่นชมในวิธีการรักษา


"หลักจริงๆ ในการรักษาอาการเสพติดคือใช้ความจริงของผู้ป่วยที่สมัครใจเลิก เมื่อเค้ามีความจริงที่จะเลิก เขาต้องตั้งสัจจะ และต้องทำให้ได้ ถ้าสมุนไพรมีส่วนช่วยรักษาได้จริงเขาต้องหายภายใน 15 วัน แต่เมื่อกลับไป ทำไมจึงกลับไปติดยาเสพติดอีก ยาอย่างเดียวจึงไม่พอ ต้องใช้สัจจะเป็นตัวบังคับ "ไม่มียาใดสำคัญเท่าจิตใจที่แน่วแน่ของคนเรา"


ในจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดไม่ได้มีแต่เพียงผู้ชนะ หากแต่บนเส้นทางแห่งการแข่งขันกับจิตใจของตนเองย่อมมีผู้แพ้ ถ้าผู้เข้ารับการบำบัดทำไม่ได้อย่างที่ให้สัจจะ เขาหรือเธอจะต้องขอคืนสัจจะ
"ผู้เข้ารับการบำบัดจะต้องรับสัจจะเลิกยาเสพติดทุกชนิด เลิกแล้วไม่มีไว้ในครอบครอง ไม่มีไว้ทำการค้า ไม่ส่งเสริมให้ผู้อื่นสูบและเสพ แต่ถ้าทำไม่ได้ส่วนใหญ่จะมาขอคืนสัจจะ ทางพระจะแนะนำว่า "สัจจะอยู่ในตัวโยม ไม่ได้หายไปไหน เราปวารณาไปแล้ว หากล้มเหลวก็ทำใหม่ ทำให้ได้ แล้วตัวเองจะเลิกได้"


ยาเสพติดสารเคมีที่มนุษย์มักพ่ายแพ้ แต่หากเรามีสติ มีความมั่นใจ และความเด็ดขาด เราจะสามารถเอาชนะยาเสพติดได้เช่นเดียวกับผู้เข้ารับการบำบัดท่านนี้ที่ปัจจุบันสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ


"ยาเสพติดไม่เลือกหรอกว่ารวยหรือจน อาชีพอะไร ทำงานที่ไหน" คำพูดของบี (นามสมมุติ) ผู้เข้ารับการบำบัดหนุ่มวัย 28 ปีที่ติดยาเสพติดและตัดสินใจมาเลิกที่นี่


บีเป็นลูกชายคนเดียวในครอบครัวคนจีนที่มีฐานะซึ่งเรียกได้ว่าร่ำรวยหากประเมินจากทรัพย์สินที่มีอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท เขาติดยาเพราะเพื่อนในสังคมระดับเดียวกันชักชวน แม้จะเริ่มจากการลองเล่นๆ ก่อนติดยาอย่างจริงจังมาประมาณเกือบ 10 ปี


"แรกๆ ลองสูบบุหรี่ก่อน เห็นพ่อดูดแล้วเท่ดี จากนั้นก็เหล้า กัญชา ยาบ้า ยาไอซ์ กาวก็เคยดม เล่นยาทุกวันวันนึงเป็นร้อยๆ รอบ ดูดกัญชาจากบ้องโรยเฮโรอีน ใช้ยาหนักมากจนเพื่อนไม่คบเพราะเราหลอนใส่เค้า สมาธิเริ่มสั้น คิดช้าเหมือนสมองเสื่อมตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี"


แม้บีจะติดยาแต่เขาสามารถเรียนจบระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งและวันนี้เขาตัดสินใจเลิกยาจริงๆ เสียที

"ผมเมาทุกวัน มานั่งคิดเวลาคุยกับแม่ อารมณ์ฉุนเฉียว พ่อผมเสียไปแล้วเพราะเป็นมะเร็ง ผมเป็นลูกชายคนเดียว พี่สาวผมแต่งงานไปหมดแล้ว แล้วใครจะดูแลแม่ แม่จะอยู่กับเราอีกกี่ปี เราจะมีเวลาดูแลแม่กี่ปี ผมเลยมาคิดว่าทำไมเราไม่เลิกยาสักที ทำไมต้องวนเวียนอยู่กับชีวิตแบบนี้ ตอนพ่อนอนโรงพยาบาลเป็นเดือนผมไปเยี่ยมพ่อแค่ครั้งเดียวไม่มีโอกาสดูแลท่านเลย ผมไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำอีกกับแม่ผม"


ด้วยความรักที่มีต่อแม่และคำว่าลูกผู้ชาย บีจึงหันหลังให้กับยาเสพติดและกล่าวสัจจะสาบานว่าจะไม่กลับไปยุ่งกับมันอีก เพราะยาเสพติดทำให้เกิดความสูญเสียทั้งครอบครัว ความรัก เพื่อน และคนรอบข้าง สิ่งที่เหลือไว้คือความทุกข์ ถึงตอนนั้นมีเงินก็ซื้อความสุขไม่ได้


"ถ้าเรารู้ว่าซอยหนึ่งตัน คุณเดินเข้าไปในซอยตันแล้วมันเป็นกำแพงมืด คุณยังจะเดินต่อไปหรือเปล่า หรือคุณจะหาทางใหม่เดินไปทางที่มีแสงสว่าง ถ้าเดินไปทางที่มีแสงสว่างจะมีความสุข ความเจริญ"


บีจึงเป็นคนๆ หนึ่งที่สามารถเอาชนะจิตใจของตนเองกลับมาเป็นลูกชายที่น่ารักของคุณแม่ เป็นน้องชายที่ดีของพี่ๆ น้องๆ ที่รักและห่วงใยเขา และในระดับสังคมเขายังเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าสามารถพัฒนาบ้านเมืองได้ต่อไป

สำหรับจุดหมายถัดไปของ "วัดถ้ำกระบอก" คือความต้องการให้ทุกคนมองว่าวัดถ้ำกระบอกเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งความร่มรื่นทางกายและใจให้กับพุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ได้เป็นเพียงสถานบำบัดของผู้ติดยาเสพติดอย่างที่ทุกคนเคยเข้าใจ

อัลบั้มภาพ 33 ภาพ

อัลบั้มภาพ 33 ภาพ ของ วัดถ้ำกระบอก 56 ปี ผู้ปิดทองหลังพระ จากชื่อเสียสู่ชื่อเสียงระดับโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook