คาดQ4/51 ''บินไทย'' ขาดทุนหมื่นล. ฉุดทั้งปีติดตัวแดง 1.6 หมื่นล้าน /ปี 52 ยังโคม่า

คาดQ4/51 ''บินไทย'' ขาดทุนหมื่นล. ฉุดทั้งปีติดตัวแดง 1.6 หมื่นล้าน /ปี 52 ยังโคม่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักวิเคราะห์คาดไตรมาส 4 /51 การบินไทย ขาดทุนหมื่นล้าน เหตุรายได้ธุรกิจการบินลด-ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเฉียด 4 พันล้านบาท ลากทั้งปีขาดทุนหนัก 1.6 หมื่นล้าน ส่วนปีนี้ บล.โกลเบล็กฯ คาดยังขาดทุน 5.9 พันล้าน รายได้หด 23%

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) คาดว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)(บมจ.) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2551 ขาดทุนถึง 10,170 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 3,500 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปีจะเกิดขาดทุนสุทธิที่ 16,809 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 9.89 บาท

โดยมองผลกระทบจากการเมืองยังจะส่งมาถึงช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แต่สำหรับช่วงครึ่งปีหลังที่เริ่มกลับมาเป็นช่วงไฮซีซันและราคาน้ำมันที่คาดว่าจะไม่สูงนัก จะทำให้ผลการดำเนินงานกลับมาค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยคาดว่าในปี 2552 นี้ บมจ.การบินไทย จะยังขาดทุน แต่ผลการดำเนินงานที่เลวร้ายสุดน่าจะผ่านไปแล้วในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา

สำหรับปัญหาสภาพคล่องที่ขาดอยู่ประมาณ 34,000 ล้านบาท (นำไปใช้เงินกู้ระยะสั้น 15,000 ล้านบาท และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน) ซึ่ง ณ ปัจจุบันหาเงินกู้ได้แล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการหาเงินกู้ ซึ่งบมจ.การบินไทย คาดว่าจะหาได้

ส่วนการทำประกันความเสี่ยง( Hedging )ราคาน้ำมัน บมจ.การบินไทย ทำไว้ถึงเดือนมีนาคม 2552 เท่านั้น โดยทำไว้เพียง 20% ของปริมาณน้ำมันที่ต้องใช้ ซึ่งทำไว้ประมาณ 75

ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (อีก 80% เป็นราคาตลาด ซึ่ง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ) โดยผู้บริหารบมจ.การบินไทย มองว่าในช่วงไตรมาส 2 นี้ การใช้น้ำมันจะเป็นไปตามราคาตลาดโลก 100% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง

ด้านคำแนะนำในการลงทุน บล.ยูไนเต็ดฯ ประเมินราคาหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานปี 2552 ที่ 12.80 บาท/หุ้น โดยแม้ว่าแนวโน้มไตรมาส 4 /51 จะขาดทุนมากและอาจกดดันราคาหุ้น แต่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว จึงแนะนำเปลี่ยนจาก หลีกเลี่ยงเป็น ซื้อเมื่ออ่อนตัว

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็กฯ คาดว่า ไตรมาส 4/51 บมจ.การบินไทย จะขาดทุนสุทธิอีกประมาณ 6,117 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนต่อเนื่องจากที่ขาดทุน 4,308 ล้านบาทในไตรมาส 3/51

เหตุผลหลักเป็นเพราะการลดลงของรายได้จากธุรกิจการบินซึ่งปรับตัวลดลงตามจำนวนผู้โดยสารหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการลดลงของอัตราการขนส่งผู้โดยสารในรูปของ Cabin Factor โดยไตรมาส 4/51 คาดว่าบมจ.การบินไทย จะมี Cabin Factor ประมาณ 67% ลดลงจาก 73.2% ในไตรมาส 3/51 และ 79.3% ในไตรมาส 4/50

นอกจากขาดทุนจากการดำเนินงานแล้ว คาดว่าจะกลับมาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 4,200 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 4/51 ขาดทุนสุทธิสูงถึง 10,317 ล้านบาท และทำให้ทั้งปีขาดทุนสุทธิรวมประมาณ 16,928 ล้านบาท ลดลงจากมีกำไรสุทธิ 4,671 ล้านบาทในปี 2550

โดยบมจ.การบินไทย มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ณ สิ้นไตรมาส 3/51 สูงถึง 120,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินสกุลยูโรและเงินเยน โดยแบ่งเป็นยูโร 49% และเงินเยน 13% ถึงแม้หนี้สินสกุลเงินเยนจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยูโร แต่จากการอ่อนค่าลงอย่างมากของค่าเงินบาทต่อเยนซึ่งลดลงถึง 20% จาก 31.86 บาท/100 เยนในเดือนกันยายน 2551 เป็น 38.269 /100 เยนในเดือนธันวาคม 2551

บล.โกลเบล็กฯ คาดการณ์ผลการดำเนินงานปี 2552 ของบมจ.การบินไทยว่า จะมีรายได้รวมประมาณ 149,679 ล้านบาท ลดลง 23% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลขาดทุนอีกประมาณ 5,900 ล้านบาท ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวในปีนี้ จึงแนะนำเพียง ถือสำหรับหุ้นการบินไทย ให้ราคาเหมาะสมปี 2552 ที่ 7.75 บาท/หุ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook