เลี้ยบวิพากษ์นโยบายแจกเงิน ''มาร์ค'' ''จะล้มเหลวเหมือนบุช''

เลี้ยบวิพากษ์นโยบายแจกเงิน ''มาร์ค'' ''จะล้มเหลวเหมือนบุช''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สัปดาห์ที่ผ่านมาฐานเศรษฐกิจมีโอกาสนั่งคุยกับน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีคลังยุครัฐบาลสมัคร อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่เบื้องหน้าเบื้องหลังการผลักดันนโยบายในช่วงนั่งเก้าอี้ขุนคลัง อนาคต และที่พลาดไม่ได้คือ วิจารณ์เสถียรภาพรัฐบาล และนโยบายน้ำดับไฟเศรษฐกิจของ นายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งน.พ.สุรพงษ์หรือหมอเลี้ยบซัดตรงนโยบายแจกเงินของรัฐบาลจะล้มเหลว

น.พ.สุรพงษ์ใช้ บริษัท บอดี้เชพฯ ธุรกิจของครอบครัวที่ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านสิวลีริมถนนวิภาวดีรังสิตเป็นที่นัดหมาย ฉะนั้นบรรยากาศของสถานที่ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านความงามจึงต่างจากเรื่องราวที่คุยเกือบสิ้นเชิง โดยการสัมภาษณ์ เปิดประเด็นด้วยคำถามต่อความเห็นของอดีตรัฐมนตรีคลังที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลอภิสิทธิ์

ผมคิดว่าในฐานะที่เป็นคนไทย ผมว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นประเทศไทยสามารถจะฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของโลกไปได้ในช่วงนี้ คงไม่มีใครอยากให้รัฐบาลซึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศต้องประสบกับความล้มเหลวในการผลักดันนโยบาย เพราะหมายความว่าจะทำให้ประเทศไทยซึ่งเผชิญกับวิกฤติมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะยิ่งตกอยู่ในปลักของปัญหาจากเศรษฐกิจการเมืองแน่นยิ่งขึ้นไปอีก และจะทำให้เราไม่สามารถที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ตามศักยภาพเดิมที่เรามีอยู่ แม้เริ่มต้นแบบไว้ไมตรีหากเมื่อถามมุมมองต่อเสถียรภาพรัฐบาล อดีตเลขาฯพรรคพลังประชาชน (พปช.) หรือ พรรคเพื่อไทยปัจจุบัน ฟันฉับว่าไม่น่าไว้ใจ

ผมคิดว่าปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ ปัญหาใหญ่คงอยู่ที่เรื่องสภาพการณ์แวดล้อมทั้งทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ นั่นเป็นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือ เรื่องเกี่ยวกับการเป็นเอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง และประการสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาในเชิงประสิทธิภาพของระบบทั้งระบบการเมืองและระบบราชการที่จะสามารถอำนวยให้การแก้ปัญหาของรัฐบาลทำได้อย่างราบรื่น

หมายความว่าภายใต้สภาวะเช่นนี้ยากที่รัฐบาลจะประสบความสำเร็จใจการบริหาร ?

หมอเลี้ยบเริ่มด้วยคำพูดติดปากว่า ผมคิดว่า ก่อนขยายความต่อว่า ความสำเร็จครั้งนี้ (การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลอภิสิทธิ์) ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวรมว.คลัง (กรณ์ จาติกวณิช) คนเดียวแน่นอน เพราะประการแรกคือ รมว.คลังมีประสบการณ์ทางการเมืองในระดับประเทศน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐมนตรีคลังที่มาจากนักการเมืองคนอื่นๆ ประการที่สองคือ เรื่องเศรษฐกิจครั้งนี้ท่านนายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ประกาศเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเอง

ปูพื้นฐานจบก็วิจารณ์รัฐมนตรีคลังต่อว่า รัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ฉะนั้นรมว.คลังก็เหมือนเป็นองคาพยพหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงขึ้นอยู่กับตัวผู้นำ ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีที่จะได้รวมพลังของรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจทุกๆ คนให้สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้

ส่วนบทบาทของรัฐมนตรีคลังกรณ์ นั้นหมอเลี้ยบไม่ได้ให้ราคามากนัก เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นบทบาทของรมว.คลัง ในเรื่องของการร้อยบริบททางด้านเศรษฐกิจเข้ามาหากันในช่วงนี้น้อยกว่าในช่วงอื่นๆ (เปรียบเทียบกับรัฐมนตรีคลังรัฐบาลก่อน)

วิจารณ์ภาพรวมแล้วต่อด้วยนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่สร้างความฮือฮาโดยเฉพาะนโยบายยัดเงินใส่กระเป๋าคนละ 2,000 บาทที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำประชานิยมแบบเดียวกับที่รัฐบาลไทยรักไทย และพลังประชาชนทำมา หมอเลี้ยบบอกว่า ตนเองไม่คิดว่าก๊อบปี้(เลียนแบบ)จำเป็นหรือไม่จำเป็น หากเป็นทิศทางที่ถูกต้อง และต้องสานต่อก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ เขาระบุ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องไม่ทำให้แกนหลักนโยบายเฉไฉไป โดยยกตัวอย่าง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคว่ามีบางประเด็นที่จะทำให้แกนหลักของการปฏิรูประบบสุขภาพ หรือบริการสาธารณสุขเปลี่ยนไป

อดีตรัฐมนตรีคลังยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่าการทำตามนโยบายเดิมบางเรื่องทำได้บางเรื่องทำไม่ได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป เขายกตัวอย่าง 6 มาตรการ 6เดือน(เริ่มสิงหาคม 2551) ของรัฐบาลพลังประชาชนว่าโจทย์สำคัญตอนนั้นคือเงินเฟ้อเนื่องจากแรงกดดันของราคาน้ำมันตอนที่ตนออกมาตรการช่วงนั้นยังมีความเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งขึ้นไปถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่วันนี้โจทย์คือความเชื่อมั่นคนไม่กล้าใช้เงิน ปัญหาส่งออกรุนแรงกว่าปี 2551 ซึ่งเวลานั้นเครื่องยนต์ส่งออกยังทำงานแม้ชะลอลงก็ตาม ผนวกกับความเชื่อของเขาที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯภายใต้การนำของรัฐบาลโอบามา จะไม่ฟื้นตัวเร็วเช่นคิด เพราะเม็ดเงินที่รัฐบาลสหรัฐฯจะอัดเข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ

ฉายภาพรวมเศรษฐกิจจบหมอเลี้ยบย้ำหนักแน่นว่านโยบายแจกเงินคนละ 2,000 บาทให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนของรัฐบาลอภิสิทธิ์จะล้มเหลว โดยยกกรณีคืนภาษีที่รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบุชเคยใช้ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะเงินมีเงินเพียง 30% (ที่ได้รับแจกหรือคืนในรูปภาษี) กลับไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ฉะนั้นหลายๆที่ ที่(ประเทศ) จะทำแนวทางนี้ ก็มีการพัฒนาไป เช่น ไต้หวัน ในส่วนของประเทศไทยถ้ายังเดินหน้ามุ่งไปในการใช้เงินประมาณ 16,000 ล้านบาท หรือ 18,000 ล้านบาทก็ตามในการที่จะให้เงิน 2,000 บาทกับประชาชนก็น่าจะได้ผลไม่มากนักตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ แต่ผมคิดว่าปัญหาที่สำคัญมากกว่า มันไม่ใช่ว่าใส่เงินเข้าไปเพื่อให้เงินหมุนในระบบ ถ้าหากความเชื่อมั่นไม่มีแล้ว เงิน 2,000 บาท ผมเชื่อว่าคนก็จะเก็บ ยิ่งไม่เชื่อมั่นยิ่งเก็บ

ขึ้นลูกนโยบายแจกเงินแล้วหมอเลี้ยบพาดพิงถึง อภิสิทธิ์ ต่อว่า สิ่งที่ท่านนายกฯพูดว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ต้องใช้น้ำดับไฟ ปัญหา คือ วันนี้ไฟไม่ได้ไหม้บ้าน ไฟไหม้หมู่บ้าน ลำพังรัฐบาลดับไฟไม่ทัน .....น้ำในมือของรัฐบาลขณะนี้ก็คือ ตัวงบประมาณ ซึ่งจะออกมาใช้ได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่มากนัก เงิน 16,000 ล้านบาทหรือ 18,000 ล้านบาท ไม่ได้มากเลยเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำไม่เพียงแต่เอาน้ำของรัฐบาลมาช่วยดับไฟ แต่ต้องพยายามทำให้คนทั้งหมู่บ้านมีความรู้สึกว่าน้ำที่มีอยู่ในหลังคาเรือนของตัวเอง ต้องมาช่วยกันดับไฟที่ต้นตอด้วย แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการดับไฟครั้งนี้จะทำให้หมู่บ้านสามารถที่จะอยู่ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

ในมุมของหมอเลี้ยบบอกต่อว่าตนเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหัวหอกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จมาแล้วเช่น สเปนที่จ้างคนหนุ่มสาวออกไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หรือการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศให้ประชาชนเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังจะคึกคัก มันเหมือนกับว่าคนในหมู่บ้านวันนี้มันห่อเหี่ยว เห็นใจแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาน้ำของตัวเองไปร่วมดับไฟหรือไม่ แต่ถ้ารัฐบาลสร้างความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังเดินหน้าไปได้ ความรู้สึกที่มีความรู้สึกว่าต้องเก็บเงินก้อนสุดท้ายเอาไว้เพื่อที่จะประทัง หรือรู้สึกว่าครอบครัวตัวเอง ธุรกิจตัวเองจะเป็นอย่างไร ก็จะคลายความกังวลในเรื่องเหล่านี้ไปได้ หมอเลี้ยบเปรียบเปรย ก่อนเตือนรัฐบาลว่า ถ้ายังมองเชิงบวกมากไป โดยไม่มีมาตรการที่มั่นใจว่าได้ผลอย่างที่คิด

อย่างไรก็ดีหมอเลี้ยบยอมรับว่านโยบาย6 มาตรการ 6 เดือนที่ตนผลักดันออกมาไม่เป็นไปตามแผน เพราะเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ติดลบ 3.5%(ตัวเลขสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)จากเดิมที่รัฐบาลสมัครคาดว่าเมื่ออัด 6 มาตรการ 6 เดือนเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไตรมาสสี่ปีที่แล้วขยายตัวจาก 4.1% เป็น 4.2% หากหมอเลี้ยบออกตัวว่า เป็นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปโดยเฉพาะการเมืองที่เข้ามาฉุดความเชื่อมั่นหลังพันธมิตรฯ(พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) เข้ายึดทำเนียบ

จบภาควิจารณ์แล้วหมอเลี้ยบพูดถึงตัวเองว่าทุกวันนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ท่องเที่ยวในประเทศที่ไม่ไปต่างประเทศเพราะต้องขออนุญาตศาล เริ่มเขียนบันทึกความทรงจำในแง่มุมที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว เช่น เกร็ดวิธีการทำงาน และวิธีการบริหาร และสุดท้ายที่ทำอยู่คือ ที่ปรึกษาลูกๆ ที่เข้ามาช่วยงานที่บริษัทแต่ดูอยู่ห่างๆ รู้ว่าตอนนี้ให้เขาทำแล้วเราคอยดูเขา มีเวลาคอยดูเขาห่างๆ ยังดีกว่าตอนที่เราไม่อยู่แล้ว และเขาลุยเองแล้วธุรกิจจะเป็นอย่างไรตอนนั้นเราไม่รู้เลย ตอนนี้เราก็ต้องคอยดูเขาว่ายน้ำ ถ้าเขาทำท่าจะจมก็คอยเอื้อมมือไปช่วยเขา หมอเลี้ยบกล่าวและยืนยันว่าไม่ได้เงินเดือนจากบริษัทและไม่อยากเป็นที่ปรึกษาเป็นทางการเพราะกลัวภาพการเมืองของตนจะทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจมีปัญหา

ปิดท้ายการสนทนาด้วยคำถามว่าจะกลับมาเล่นการเมืองอีกหรือไม่หลังครบกำหนดตัดสิทธิ์การเมือง อีก 5 ปีข้างหน้าผมอายุ 57 ปีต้องดูสุขภาพตัวเองก่อนว่าขณะนั้นไหวหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook