หวาน...มัน...เค็ม ฉันคือตัวร้าย ?!!

หวาน...มัน...เค็ม ฉันคือตัวร้าย ?!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ถือเป็นเรื่องปวดหัวของบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ทั้งหลายที่หนักใจกับปัญหาน้ำหนักของลูกมากเกินไป แม้ว่าจะตัวอ้วนท้วม แต่กลับไม่แข็งแรงเอาเสียเลย อีกทั้งลูกๆ ก็ชอบเสียจริงขนมหวานและอาหารฟาส์ตฟู้ด แต่เมินเสียเถอะถ้าจะให้กินข้าว ผัก หรือผลไม้

กับปัญหาเหล่านี้ ศศิธร แห่งคอลัมน์ Healthy Kids เปิดบทสัมภาษณ์ของ พญ.เปรมฤดี โปตะวณิช กุมารแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ จะมาช่วยไขข้อข้องใจ และหาวิธีแก้ไขให้ได้ ผ่านนิตยสาร Kids and School ฉบับเดือนมกราคม 2552

คุณหมอเปรมฤดี บอกถึงสถานการณ์การบริโภคอาหารของเด็กไทย ว่า ปัจจุบันเด็กไทยส่วนใหญ่กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ มักเลือกกินตามชอบและซ้ำซาก ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเด็กเหล่านี้ดูภายนอกเหมือนเด็กปกติ แต่เขาอาจขาดสารอาหารบางอย่าง หรือคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเด็กท้วม หรืออ้วน คือเด็กที่อุดมสมบูรณ์แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเด็กขาดสารอาหารไม่จำเป็นต้อผอม ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการกินแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินไป เช่น ขนมกรุบกรอบ ของทอด หรือน้ำหวาน ซึ่งอาหารเหล่านี้กินมากทำให้อ้วน แต่ร่างกายกลับขาดวิตามิน แร่ธาตุบางอย่าง

วิธีสังเกตง่ายๆ ว่า ลูกของเราเป็นเด็กขาดสารอาหารหรือไม่ คือ เด็กไม่แข็งแรง ภูมิต้านทานต่ำ เจ็บป่วยง่าย และพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน

@ หวาน มัน ... ทำเด็กอ้วน

อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งไขมันต่างๆ เช่น ข้าว น้ำอัดลม อาหารฟาสต์ฟู้ด ลูกอม อาหารทอด เป็นต้น อาหารเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วเผาผลาญไม่หมดจะเปลี่ยนเป็น ไขมัน เด็กๆ ที่กินของเหล่านี้มากเกินไปจึงกลายเป็นเด็กอ้วน

ความหวานทำให้เด็กเบื่ออาหาร ไม่อยากกินข้าว เพราะร่างกายมีน้ำตาลมากพอ ร่างกายจึงรู้สึกอิ่ม ไม่หิว สังเกตได้จากเด็กที่ชอบกินขนม จะไม่ยอมกินข้าว บางคนดื่มน้ำเปล่าไม่เป็นจะดื่มแต่น้ำหวาน แต่การกินอาหารหวานจะทำให้เด็กอ้วน ฟันผุ ติดหวาน

@ ผลกระทบด้านร่างกาย

เด็กที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานจะมีลักษณะอุ้ยอ้าย ขี้ร้อน ขาที่ใหญ่เกินไปทำให้บริเวณต้นขามีการเสียดสีกันระหว่างเดิน ทำให้เกิดแผลถลอก อาจเกิดเชื้อรามีผื่นแดงขึ้นตามซอกอับ ข้อพับต่างๆ เหนื่อยง่าย ไม่ชอบออกกำลังกาย และน้ำหนักที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ในอนาคต เช่น โรคไขข้อ โรคหัวใจ ไขมันเกาะในเส้นเลือดเป็นผลให้เกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

@ ผลกระทบด้านจิตใจ

เด็กอ้วนมักถูกเพื่อนๆ ล้อเลียน เช่น ไม่สวย รูปร่างเหมือนหมู ทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่า ไม่มั่นใจตัวเอง และเป็นปมด้อยในจิตใจ

@ เค็มเกินไป ... ไตทำงานหนัก

ส่วนเรื่องอาหารที่เค็มไปนั้น เนื่องมาจากไตของเด็กยังทำงานไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับไตของผู้ใหญ่ เด็กๆ ที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่ควรปรุงรสเค็มในอาหารของเด็ก และในเด็กที่โตกว่านี้ไม่ควรกินอาหารที่มีรสเค็มจัด ไตจะได้ไม่ทำงานหนักมาก เพราะหากร่างกายสะสมเกลือไว้เป็นจำนวนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการบวมตามอวัยวะต่างๆ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารจำพวกมันฝรั่งทอด ขนมกรุบกรอบที่มีรสเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดองต่างๆ เป็นต้น

@ เทคนิคสุขภาพดี

คุณหมอเปรมฤดี เน้นย้ำว่าเด็กควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่กินอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปหรือน้อยเกินไป รวมทั้งให้ออกกำลังกายบ้าง ไม่ควรนั่งดูทีวีหรือเล่นเกมตลอดทั้งวัน เด็กก็จะมีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค

- กินอาหารรสปกติ ควรฝึกให้กินอาหารทีละอย่าง ไม่ควรเติมแต่างรสชาติอาหารมากนัก

- ค่อยเป็นค่อยไป เปลี่ยนพฤติกรรมการกินของเด็กแบบค่อยเป็นค่อยไป

- ผักหลากสี นอกจากผักใบเขียวแล้ว ควรให้หนูๆ ได้ลองลิ้มชิมรสผักผลไม้สีต่างๆ ด้วย

- กินให้ถูกทาง ไม่ควรให้เด็กกินขนมก่อนอาหารเพราะจะทำให้อิ่มเร็ว หรือไม่ควรกินนมแทนการกินข้าวมื้อหลัก เพื่อลดปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว ฝีกให้แบ่งแยกเวลากินกับเวลาเล่น

- โรงเรียนร่วมสนับสนุน เมื่อเด็กได้กินอาหารร่วมกับเพื่อนจะทำให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น

- คำเชิญชวน กินแล้วน่ารัก ผิวดี หรือ กินแล้วสวย กินแล้วเก่งเป็นนักกีฬา เป็นการเชิญชวนให้เด็กได้ลองกินทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น

- ตัวอย่างที่ดีจากคุณพ่อ คุณแม่ เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างชักจูงให้เด็กกินอาหารที่ไม่เคยกิน

สุดท้าย ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ขาด คือ กินอย่างพอดีในปริมาณที่เหมาะสม อีกหนึ่งเทคนิคที่คุณหมอแนะนำ

คุณพ่อ คุณแม่ทราบถึงเทคนิคต่างๆ และกลวิธีที่จะใช้ในการปราบ เจ้าตัวร้าย ให้หันมากินอาหารที่ดีมีประโยชน์แล้ว ก็ลองนำกลับไปใช้กับลูกหลานที่บ้านดูเพื่อให้เขามีสุขภาพที่ดีแข็งแรงสมวัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook