นักเรียน -นักเลง ปัญหาเรื้อรังที่ต้องร่วมกันแก้ไข

นักเรียน -นักเลง ปัญหาเรื้อรังที่ต้องร่วมกันแก้ไข

นักเรียน -นักเลง ปัญหาเรื้อรังที่ต้องร่วมกันแก้ไข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาทางสังคม "นักเรียนตีกัน" รุนแรงขึ้น จนถึงขนาดนายกรัฐมนตรีต้องออกคำสั่ง ตาม ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหา

มีบางคนมองว่า ปัญหาดังกล่าวไม่น่าจะมีความสำคัญหรือเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาด ต้องออกเป็นคำสั่งตาม ม.44 มาแก้ไข การใช้อำนาจพิเศษตาม ม .44 น่าจะนำไปใช้กับ ปัญหาใหญ่ของสังคม อย่างเช่น การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปที่ดินทำกินมากกว่า

ยิ่งช่วงนี้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาโดยจะนำนักเรียนเหล่านั้นไปเป็นทหารเกณฑ์เมื่อจบการศึกษา ด้วยแล้ว บรรดานักวิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์การเมือง ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา

ส่วนตัวแล้วเห็นว่า ปัญหานักเรียน นักเลง เป็นเรื่องที่เป็นปัญหามายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังปัญหาหนึ่งของสังคมไทย ข่าวนักเรียนตีกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วส่วนใหญ่คือเด็กอาชีวะ เป็นปัญหาที่คนอายุ 40-50-60 ปี ได้ยินมาตลอด จากยุคก่อนการตีกันของนักเรียน เป็นปัญหาแต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องร้ายแรง และรุนแรงมาก

การตีกันเมื่อก่อนไม่มีการใช้อาวุธขนาดที่ต้องการให้อีกฝ่ายล้มตาย การชกต่อย ตะลุมบอน เป็นเรื่องของลูกผู้ชาย เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี เสร็จงานก็จบกันไป แต่ไม่รู้ด้วยสาเหตุใดเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง รุ่นต่อรุ่น กลายเป็นมรดกบาปของสถาบันการศึกษาที่ส่งต่อความขัดแย้งกันมา จนปัจจุบันนักเรียนที่เป็นคู่อริกันก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ที่ต้องเป็นอริกับอีกสถาบันนั้นมันมากจากเรื่องอะไร สาเหตุอะไร

ปัจจุบันปัญหานี้เป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก ที่สมควรจะต้องช่วยกันหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ในทุกระดับ ลำพังการออกคำสั่ง ตามม.44 ซึ่งมีประเด็นที่พ่อแม่อาจต้องรับโทษ และต้องเข้ามารับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็ตาม

ลองนึกดูว่า ปัญหานักเรียนตีกัน ไม่ใช่ปัญหาแบบเดิม ที่เป็นการยกพวกตะลุมบอนกันอีกแล้ว ระดับของปัญหา เป็นไปถึงขนาดที่เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยหัวเลี้ยวหัวต่อเหล่านี้ กล้าที่จะใช้อาวุธ ไปทำร้ายอีกฝ่ายซึ่งบางครั้งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ไม่เคยทะเลาะขัดแย้งกันมาก่อน เพียงแค่อยู่คนละสถาบัน จนถึงขนาดเสียชีวิต อย่างที่เป็นข่าวหลายครั้งหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องร้ายแรงเพียงใด

การกระทำของเด็กเหล่านี้ ไม่มีความยำเกรงต่อความผิดตามกฎหมาย ไม่รู้สึกสำนึกถึงความถูกผิดได้เพียงนี้เชียวหรือ ทำไมความเกลียดชังถึงรุนแรงได้ขนาดนั้น...?

จริงอยู่ว่า นักเรียนนักเลงที่มีพฤติกรรมแบบนี้ เป็นเพียงส่วนน้อย ส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด และไม่ใช่เป็นกันทั้งสถาบัน หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง ความเกลียดชังที่ฝังอยู่ในจิตใจของพวกเขาเหล่านั้นได้ อนาคตต่อไปข้างหน้า เขาเหล่านั้น ซึ่งเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า จะมีพฤติกรรมอย่างไร เขาออกมาอยู่ตรงไหนของสังคม เรามีโอกาสจะเขาไปเกี่ยวข้องกับเขาหรือไม่ และหากวันใดวันหนึ่งเกิดเขาไม่สามารถยับยั้ง ไม่สามารถแยกถูกผิด ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา..?

วันนี้ การออกคำสั่งตาม ม.44 ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษในการเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่เราก็เห็นข้อเท็จจริงแล้วว่า หลังการออกคำสั่งก็มีเหตุการณ์ นักเรียนนักเลง ไปยิงเด็กนักเรียนอีกสถาบันหนึ่งเสียชีวิต ทั้งที่ไม่ได้เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทใดๆมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นรุนแรงและหยั่งรากลึกมากกว่าที่หลายคนคิดไว้มาก

ถึงเวลาที่คนทุกคนตั้งแต่ระดับครอบครัว จะต้องหันมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง สถาบันการศึกษาทำอย่างไรจึงจะสลาย มรดกความขัดแย้ง ที่ถ่ายทอดกันมาให้หมดสิ้นไป นักสังคมทั้งหลายจะมีวิธีการอย่างไรในการสลายปัญหาเหล่านี้ต้องเข้ามาช่วยกัน อย่าให้สังคมเราสะสม ผู้คนที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้นเหล่านี้ไว้ในวันข้างหน้าอีกเลย...

โดย เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook