โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรารภว่า การเรียนรู้เรื่องราวและวิชาการสาขาต่างๆ โดยกว้างขวาง จะก่อให้เกิดความรู้ ความคิดและความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ทุกคนควรมีโอกาสที่จะศึกษาเมื่อต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใดสามารถค้นหาอ่านโดยสะดวก จึงมีพระราชดำรัสให้จัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน นับเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชน โดยเฉพาะยามที่มีปัญหาขาดแคลนครู และที่เล่าเรียน ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกไลออนส์ในประเทศไทย เกี่ยวกับ "โครงการสารานุกรมไทย" เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ความตอนหนึ่งว่า

"... เราต้องให้ความรู้กับเด็กและคนรุ่นต่อไปอย่างที่เราจะสามารถทำได้ จึงพูดถึง สารานุกรมฯ นี้จะทำให้เราแก้ปัญหาของเราได้ส่วนหนึ่ง ที่จริงมีวิธีแก้ปัญหาอย่างอื่นด้วย แต่ว่า เราต้องเลือกทำขอเลือกทำสารานุกรม สารานุกรมไม่ใช่ครู แต่ว่าจะช่วยให้คนอื่นที่ไม่ได้เป็นครูได้ เช่น พ่อ แม่ ถ้าลูกถามปัญหาต่าง ๆ ก็อาศัยสารานุกรมนี้มาตอบได้ คนที่อ่านรู้เรื่องมากกว่าจะสอนน้องได้ แล้วการที่ดูสารานุกรมด้วยกันในครอบครัวจะช่วยให้เกิดความใกล้ชิดในครอบครัว จะช่วยให้ลูกไว้ใจพ่อแม่ ซึ่งจะเป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ระหว่างเด็กด้วยกันหรือคนที่อ่านสารานุกรมด้วยกัน ก็จะคุยกันในวิชาการได้จะเกิดความรู้และจะเกิดความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกัน การแลกเปลี่ยนความคิดและแลกเปลี่ยนทัศนะกันนี้เป็นทางที่จะทำให้มีความรู้ความกว้างขวางและจะทำให้อยากที่จะรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการศึกษา ..." 

โดยพระราชดำริดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น มีการศึกษา ทดลองและกระทำด้วยความรอบคอบ แบ่งวิทยาการออกเป็น ๔ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ นับเป็นการพัฒนาวิชาการที่สำคัญยิ่งในวงการศึกษา

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ในวิชาการทุกสาขา และแต่ละสาขามีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นหนังสือที่ได้ประโยชน์จริง ๆ แก่ทุกฝ่าย เนื้อหาในแต่ละเรื่องแบ่งเป็น ๓ ตอนหรือ ๓ ระดับความรู้ เรียงต่อกันเพื่อให้คน ๓ ระดับอ่าน โดยแบ่งออกเป็นตอน ๆ ดังนี้

ตอนที่ ๑ ใช้ภาษาง่าย ๆ เนื้อหาไม่ซับซ้อน ใช้ตัวอักษรโตเห็นชัดเหมาะสำหรรับเด็กรุ่นเล็กอายุ ๘-๑๒ ขวบอ่านเข้าใจได้
ตอนที่ ๒ เนื้อหาเริ่มยากขึ้นเหมาะสำหรับเด็กรุ่นกลางอายุ ๑๒-๑๔ ขวบ
ตอนที่ ๓ มีเนื้อหาค่อนข้างยากเหมาะสำหรับเด็กโตอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ ฉะนั้น การใช้ภาษาในหนังสือ ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้จะเขียนให้เหมาะกับระดับของอายุและเขียนขึ้นตามหลักวิชาแท้ ๆ เป็นข้อเท็จจริง ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ไว้ตอนหนึ่งว่า

"... สารานุกรมเล่มนี้มีไว้ไม่ใช่สำหรับสอนหนังสือใดโดยเฉพาะ แต่ว่ามีไว้สำหรับให้คนสามารถ ที่จะเผชิญกับปัญหาใด ๆ ในชีวิต...คือว่าโครงการสอนอย่างไรก็ตามต้องสอนให้คนรู้จักเผชิญกับปัญหาไม่ใช่สอนสำหรับให้คนมาตอบปัญหาต้องให้ทุกคนทั้งเยาวชนทั้งคนแก่ ทราบว่าวิชาทั้งหลายต้องโยงกันและปัญหาทั้งหลายต้องใช้วิชาทุกวิชาโยงกันมาแก้ให้สอดคล้องกัน มิฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์ถ้าเรียนวิชาหรืออ่านวิชาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วก็ท่องได้ตามตัวหนังสือไม่มีประโยชน์เลย ต้องสามารถคิดมาใช้เป็นประโยชน์ แต่เมื่อมาใช้ประโยชน์จะต้องโยงกับวิชาอื่นได้หมด ..."

ที่มา : https://web.ku.ac.th/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook