ผู้เฒ่าม้งเป่าแคนอาลัย เหลือหนึ่งเดียวที่เคยผูกพระกรพ่อหลวง

ผู้เฒ่าม้งเป่าแคนอาลัย เหลือหนึ่งเดียวที่เคยผูกพระกรพ่อหลวง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เฒ่าชาวม้งเป่าแคนแสดงความอาลัยถวายต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ฯ เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่เหลือจาก 8 คน ที่เคยทำพิธีผูกพระกรเรียกขวัญพ่อหลวง ครั้งเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อ 38 ปีก่อน

นายอันไช แซ่ย่าง คุณตาชาวม้งวัย 73 ปี ที่หมู่บ้านแม่สาใหม่ หมู่ 6 ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป่าแคนม้งเป็นบทเพลงเพื่อแสดงความอาลัยถวายต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช ซึ่งเป็นภาพที่คุณตาอันไชและครอบครัวรักและหวงแหน ติดไว้ที่ข้างฝาบ้านเพื่อกราบสักการะ ยังความเป็นสิริมงคลให้กับครอบครัว

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดอยู่ฝาบ้านของนายอันไช นับเป็นภาพแห่งความทรงจำอันทรงคุณค่าของนายอันไชและครอบครัว เป็นภาพที่นายอันไชซึ่งเป็นพ่อหมอ หรือ หมอพื้นบ้าน และ ผู้นำของชาวทางจิตวิญญาณของชาวม้งในวัย 35 ปี ร่วมกับพ่อหมอชาวม้งผู้อาวุโสรวม 8 คน ทำพิธีผูกขวัญข้อพระกร ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมความเป็นอยู่ราษฎรที่หมู่บ้านแม่สาใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2521

นายอันไช เล่าว่า ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้าน พร้อมพระราชทานพันธุ์มันฝรั่ง พ่อพันธ์โค สุกร รวมทั้ง ไก่ และ แกะ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่

แต่ชาวม้งไม่มีสิ่งใดตอบแทนพระองค์ท่าน จึงร่วมใจกันจัดทำพิธีผูกขวัญที่ข้อพระกรถวายแด่พระองค์ท่าน เพื่อให้มีอายุยืนยาว มีพระพลานามัยที่แข็งแรงปราศจากโรคภัย โดยวันนี้พ่อหมอที่มีโอกาสได้ผูกพระกรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชทั้ง 8 คน เหลือตนเองเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิต

เหตุการณ์ในวันนั้นนับเป็นมงคลแก่ชีวิตของพ่อหมออันไชจวบจนทุกวันนี้ ขณะที่ภาพถ่ายถูกเก็บรักษาไว้ตราบชีวิตในฐานะบรรพชนชาวม้งแห่งดอยแม่สาที่จะคอยส่งต่อเรื่องราวแห่งความประทับใจไปสู่ลูกหลานชาวม้งรุ่นต่อ ๆ ไป

นายอันไช ยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่เคยร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จที่ถูกบันทึกเรื่องราวในหนังสือ "ตามรอยพระบาทยาตรา ณ บ้านม้ง ดอยแม่สา" จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องใน วโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พ.ศ.2554 ซึ่งทุกวันนี้แม้ว่านายอันไชจะ อ่านหนังสือไม่เป็น แต่ก็ยังเปิดดูภาพจากหนังสือเล่มนี้และให้ลูกหลานอ่านเรื่องราวในหนังสือให้ฟังอยู่เป็นประจำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook