จาก Brexit ถึง Trump ความท้าทายของ "โลกไร้พรมแดน" ?

จาก Brexit ถึง Trump ความท้าทายของ "โลกไร้พรมแดน" ?

จาก Brexit ถึง Trump ความท้าทายของ "โลกไร้พรมแดน" ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ อาจเอื้อมก้าวไปคุยเรื่องระดับโลกสักหน่อย ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ตามสบายครับ จะได้รับฟังไว้เพื่อเพิ่มพูนปัญญาของตัวเอง ด้วยใจจริงครับ

ปัจจุบัน เราต่างเชื่อว่า การพัฒนาของโลกอยู่ในยุค "โลกไร้พรมแดน" หรือที่ภาษาต่างแดนเรียกว่า "globalization" โลกของทุนนิยมเสรี ที่เส้นเขตแดนจะไม่มีความหมาย จะเป็นเพียงการกำหนดทางกายภาพเท่านั้น คนจะมีการเชื่อมโยงกันทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยรูปแบบของความร่วมมือทางการค้าแบบใหม่ นั้นก็คือ การร่วมกลุ่มกันภายใต้กรอบแนวคิดกลุ่มการค้าเสรี

ประเทศยักษ์ใหญ่ในโลก ต่างร่วมมือกันทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี และที่มีความคืบหน้าไปไกลที่สุดก็คือ การรวมตัวกันของประชาคมยุโรป หรือ ยูโรโซน ที่สามารถพัฒนาความร่วมมือไปจนถึงขั้น เป็นหนึ่งเดียว แม้จะไม่เต็มระบบ เพราะมีบางประเทศไม่ร่วมมือทั้งหมด แต่ถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด มีการร่วมตัวกันจนมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยเสรี เคลื่อนย้ายการลงทุนได้โดยเสรี เคลื่อนย้ายแรงงานได้โดยเสรี และมีเงินสกุลสกุลเดียวกัน

แนวคิดของการรวมกลุ่มเขตเสรีทางการค้า ต้องการผนึกกลุ่มประเทศสมาชิกให้เป็นหนึ่งเดียว ถือเป็นพัฒนาการขั้นสุดยอดของระบบทุนนิยมเสรี ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในยุคก่อนหน้านี้ ความเชื่อแนวคิดของกลุ่มประชาคมตามเขตการค้าเสรีนั้นคือ การผนึกดินแดน ขยายตลาดการค้าการลงทุนแรงงานได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และลดอุปสรรคทุกๆอย่างลงไป การใช้เงินสกุลเดียวกันก็เพื่อเชื่อมโยงทุกประเทศในกลุ่มของอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการของทุนนิยมเสรี ที่ต้องการขยายอาณาจักร ขยายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทั้งมวลได้โดยไม่มีข้อจำกัด ด้วยเหตุที่ มองว่า การเติบโตอยู่ภายใต้ดินแดนใต้อาณาเขต ซึ่งมีขีดจำกัดทั้งในเรื่องทรัพยากร และ ตลาดรองรับสินค้า การรวมกันนั้นหมายถึง ตลาดที่ใหญ่ขึ้นมากมายมหาศาล ทรัพยากรที่มีมากขึ้น การเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างง่ายดาย ยอมหมายถึงโอกาสในการขยายตัวของทุนออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัดเช่นกัน

แต่แล้ว สิ่งที่ทุนนิยมคาดคิด กลับคาดไม่ถึงว่าสิ่งนี้จะสร้างปัญหาขึ้นมา สาเหตุของปัญหาก็คือ การที่ทุนยักษ์ใหญ่สามารถขยายตัวข้ามรัฐข้ามชาติ ตะลุยไปสูบทรัพยากรมาสนองการเติบโตของตัวเองได้ แต่ ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถกระจายไปยังคนที่เป็นสมาชิกของประชาคมได้อย่างทั่วถึง

ต้องบอกว่านี้เป็นจุดอ่อนที่กินตัวเองของระบบทุนนิยม ทุนมีแต่สะสมความมั่งคั่งของตัวเอง แต่ไม่สามารถตอบโจทย์การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของทุนนิยมเองที่ต้องสูบทรัพยากรทั้งมวลมาเป็นของตัวเองเพื่อผลักดันตัวเองให้ใหญ่ขึ้นๆ แต่ก็โดดเดียวส่วนอื่นไป เพราะทุนมองแต่กำไรสูงสุดไม่ได้มองถึงความเป็นธรรมความเท่าเทียมทางสังคม

ดังนั้น ปรากฏการณ์ เคลื่อนย้ายทุนจากแหล่งกำเนิด ซึ่งเริ่มมีต้นทุนสูงตามพัฒนาการของสังคม เพื่อไปสูบแรงงานที่มีราคาต่ำจึงเกิดขึ้นเป็นปรกติ และแพร่หลายเป็นทิศทางปรกติของระบบไป แต่เมื่อพัฒนาการของทุนจากการรวมกลุ่ม จากการสลายขีดจำกัดในเรื่องดินแดน ภายในกรอบแนวคิด โลกไร้พรมแดนขยายขึ้น การเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี ควบคู่ไปกลับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ทำให้การหลั่งไหลของแรงงานไปยังเมืองใหญ่เพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้เกิดการแย่งงานกัน ประชากรของประเทศที่พัฒนาสูงกว่ามีการศึกษาสูงกว่า มีมาตรฐานสูงกว่าในเรื่องค่าจ้างแรงงาน จึงถูกแย่งงานจากแรงงานที่หลังไหลมาจากประเทศที่ด้อยกว่า

ประชากรของประเทศที่ยากจนกว่า มีความต้องการในเรื่องผลตอบแทนค่าจ้างที่ต่ำกว่า ตอบโจทย์ในเรื่องต้นทุนที่ถูกกว่าของทุนนิยมยักษ์ใหญ่ได้ดีกว่า ดังนั้น ประชากรของประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆจึงกลายเป็นคนตกงานจำนวนมาก

ในขณะเดียวกัน การค้าการลงทุนเสรีที่เปิดให้มีการลงทุนข้ามรัฐข้ามชาติได้สะดวกขึ้น ในทางหนึ่งบริษัทหรือทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศที่เจริญแล้วสามารถย้ายตัวเองไปลงทุนในดินแดนอื่นได้ แต่ขณะเดียวกัน ทุนจากประเทศอื่นๆก็ย้ายมาลงทุนในประเทศของตัวเองได้สะดวกขึ้นเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างแย่งสูบทรัพย์กร และตลาดรองรับสินค้า ซึ่งกันและกัน

และแล้ว ปัญหาของทุนนิยมเสรีภายใต้แนวคิด โลกไร้พรมแดน ได้เดินทางมาถึงจุดที่ท้าทาย เมื่อ ปัญหาของการพัฒนานี้ไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับ ประชากรของประเทศได้ ไม่สามารถสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับคนในสังคมได้ เพราะตามธรรมชาติของทุนที่ต้องไหลไปแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแต่ ไม่ตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรม และการกระจายความมั่งคั่งได้ อำนาจรัฐในการจัดการจัดสรรความเป็นธรรมให้กับสังคมเริ่มไร้อำนาจจัดการอย่างแท้จริง

กรณี Brexit หรือ อังกฤษขอถอนตัวเองของจากสมาชิกกลุ่มการค้าเสรียุโรปหรือ อียู จึงเป็นผลสะท้อนของความผิดพลาดของทุนนิยม ของแนวคิดโลกไร้พรมแดน ได้เป็นอย่างดี การลงประชามติของคนอังกฤษเพื่อขอถอนตัวเองของมา เพราะมองถึงปัญหาของตัวเอง ชาติตัวเอง ผลประโยชน์ของชาติตัวเองเป็นหลัก เป็นการหันหลังกลับ ยึดผลประโยชน์ของตนของรัฐ ความรู้สึกชาตินิยม กลับมาเป็นกระแสหลักในการตัดสินใจ ในการกำหนดทิศทางของประเทศตนเอง จึงก่อเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ล่าสุด ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเหนือคู่แข่งอย่างฮิลลารี่ คลินตัน เป็นเพราะคนอเมริการู้สึกว่า นโยบายของ ทรัมป์ ที่ต้องการหันกลับมายึดผลประโยชน์ของชาติตัวเอง ยึดผลประโยชน์ของประชาชนชาวอเมริกัน เป็นอันดับแรก จึงตอบโจทย์ความรู้สึกนึกคิดของคนอเมริกัน ที่รู้สึกสูญเสียผลประโยชน์ ไม่ได้รับผลแทนใดๆจากแนวคิดการค้าเสรี ภายใต้แนวคิดโลกไร้พรมแดน อย่างเต็มที่ คนอเมริกันจำนวนมากที่ตกงาน ว่างงาน ถูกแย่งงานจากการหลั่งไหลของแรงงานต่างชาติ ทำให้พวกเขา ต้องหันกลับมามองตัวเอง ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น เหมือนกันกับคนอังกฤษเดินไปลงมติออกจากอียู

ทั้งสองเหตุการณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความเปลี่ยนแปลงแนวคิด การค้าเสรี ของทุนนิยมเสรีตามแนวคิดโลกไร้พรมแดน หรือ Globalization ที่น่าสนใจยิ่ง เพราะสหรัฐคือตัวแทนคือพี่เบิ้มของโลกทุนนิยมเสรี อังกฤษ คือ ความยิ่งใหญ่ที่ยาวนานของทุนนิยมยุโรป น่าติดตามยิ่ง ว่าจะส่งผลต่อรูปแบบการค้าการลงทุน ของระบบเศรษฐกิจ การเมืองโลกอย่างไร ในอนาคต..?

ที่สำคัญ ประเทศไทยและกลุ่มประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ที่เพิ่งจะก่อตัวมาได้ 1 ปี ที่ผ่านมา จะมีพัฒนาการในเรื่องเหล่านี้อย่างไร....น่าสนใจยิ่ง...?

โดย เปลวไฟน้อย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook