รบ.เตือนคนต้านพรบ.คอมรอบคอบก่อนเคลื่อนไหว

รบ.เตือนคนต้านพรบ.คอมรอบคอบก่อนเคลื่อนไหว

รบ.เตือนคนต้านพรบ.คอมรอบคอบก่อนเคลื่อนไหว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาล เตือนกลุ่ม ต้าน พ.ร.บ.คอมฯ ส่อเข้าข่ายสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ขอผู้จะเข้าร่วมไตร่ตรองให้รอบคอบ - ยุติเคลื่อนไหว ย้ำ ไร้ซิงเกิลเกตเวย์

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เตรียมตัวเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมในช่วงบ่ายวันนี้ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครว่า รัฐบาลขอเตือนว่า การรวมตัวดังกล่าวอาจเข้าข่ายการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง จึงขอให้ผู้ที่จะไปร่วมกิจกรรมไตร่ตรองให้รอบคอบ หรือ ยุติการเคลื่อนไหว ซึ่งทางการมีมาตรการรองรับเป็นอย่างดีหากมีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่การบันทึกภาพเป็นหลักฐานและดำเนินการตามหลักสากล โดยประชาชนทั่วไปที่หวังดี ก็สามารถถ่ายรูปส่งให้กับเจ้าหน้าที่ได้ 

อย่างไรก็ตาม พล.ท.สรรเสริญ ระบุว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เริ่มทำเกินขอบเขตที่เหมาะสม เพื่อหวังปลุกกระแสให้เกิดความวุ่นวายด้วยการละเมิดกฎหมาย ขณะเดียวกันยืนยันว่า มีบุคคลบางกลุ่มพยายามแฮกข้อมูลของส่วนราชการจริง แม้จะทำไม่สำเร็จ ถือเป็นตัวอย่างของภัยคุกคามที่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายคอมพิวเตอร์ ขณะที่เว็บไซต์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ไม่ได้ถูกแฮกตามที่มีกระแสข่าว 

เนื่องจากเป็นระบบปิดที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การกล่าวอ้างของกลุ่มแฮกเกอร์ว่า สามารถแฮกระบบของ สตม.ได้ จึงเป็นเพียงการสร้างข่าวความสับสนให้กับสังคม และลดความน่าเชื่อถือของหน่วยงานราชการเท่านั้น


ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า รัฐบาลขอชี้แจงอีกครั้งว่า ไม่มีนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ เพราะเกตเวย์ของไทย
มีการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างมากมาย ดังนั้นการบังคับให้ทุกส่วน รวมถึงภาคเอกชนใช้รวมกันที่เดียวคงไม่สามารถทำได้ และยังขัดกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลทุกรูปแบบเพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ การให้บริการทางเทคนิคจำเป็นต้องมีเกตเวย์สำรองไว้หลาย ๆ เส้น ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่อินเทอร์เน็ตจะล่มทั้งประเทศ

ส่วนกรณีการถูกจำกัดการเข้าถึงเว็บบางเว็บ โดยหลักสากลทุกประเทศจะมีข้อแนะนำกับประชาชนว่า เว็บใดเป็นเว็บที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน ส่วนการเข้าถึงเว็บต่างประเทศได้หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งทุกบริษัทจะดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี ไม่มีการจำกัดการเข้าถึงเว็บอย่างแน่นอน

สำหรับการตรวจสอบข้อมูลหรือปิดเว็บไซต์นั้น หากเป็นเรื่องที่ทำผิดกฎหมาย ขัดต่อหลักศีลธรรม ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจขอดูการจราจรของข้อมูล (Traffic) เฉพาะเรื่อง ไม่ใช่การรวมศูนย์มาอยู่ที่เดียว และการตัดสินใจของรัฐบาลไม่ได้เกิดโดยลำพัง แต่จะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง 9 คน และการพิจารณาของศาลก่อนทุกกรณี ดังนั้น การที่จะเข้าไปควบคุมหรือดักจับข้อมูลของประชาชนจึงไม่ใช่แนวทางของรัฐบาลอย่างแน่นอน


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook