วธ.รับมอบไม้จันทน์หอมเตรียมนำใช้พระราชพิธีพระบรมศพ

วธ.รับมอบไม้จันทน์หอมเตรียมนำใช้พระราชพิธีพระบรมศพ

วธ.รับมอบไม้จันทน์หอมเตรียมนำใช้พระราชพิธีพระบรมศพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบพิธีรับมอบไม้จันทน์หอม เพื่อใช้สร้างพระโกศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับมอบไม้จันทน์หอมตัดและแปรรูป จำนวน 1,464 แผ่น เพื่อใช้สร้างพระโกศจันทน์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขบวนรถบรรทุกไม้จันทน์หอม 3 คัน พร้อมขบวนรถที่เคลื่อนออกจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผ่าน อ.สามร้อยยอด/ อ.ปราณบุรี/ อ.หัวหิน/ อ.ชะอำ /อ.เมือง ผ่าน จ.ราชบุรี เดินทางมาถึงที่ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จ.นครปฐม แล้ว ในเวลา 14.15 น. โดยตลอดการเคลื่อนมีรถตำรวจทางหลวงนำและปิดท้ายขบวน เมื่อเดินทางมาถึงได้มีเหล่าข้าราชการทั้งสองกระทรวง ทหาร ตำรวจ ตลอดจนประชาชนตั้งขบวนรอต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ

โดยในเวลา 15.09 น. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกอบพิธีรับมอบไม้จันทน์หอม สำหรับนำไปสร้างพระโกศจันทน์ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารเป็นผู้ส่งมอบ จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ส่งมอบไม้จันทน์หอมให้กับ นายอานันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อให้สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการสร้างพระโกศจันทน์ต่อไป

สำหรับไม้จันทน์หอมสำหรับสร้างพระโกศจันทน์ เจ้าหน้าที่ได้คัดเลือกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีลักษณะเหมาะสม ยืนต้นตายธรรมชาติ เปลาตรง และมีพิธีบวงสรวงไม้จันทน์หอมไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 2559 จากนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการตัดและแปรรูปไม้จันทน์หอม จำนวน 9 ต้น ได้ไม้จันทน์หอมแปรรูป จำนวน 1,415 แผ่น เป็นไม้ท่อนจำนวน 46 ท่อน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างส่วนราชการในการดำเนินการตามแบบแผนโบราณราชประเพณีและเพื่อสมพระเกียรติสูงสุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จะนำไม้จันทน์แปรรูปดังกล่าวไปจัดทำพระโกศจันทน์ และส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งได้ออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการดำเนินการต้องอาศัยช่างหลายประเภท ได้แก่ ช่างโลหะ ดำเนินการจัดสร้างโครงโลหะ ช่างไม้ประณีตแปรรูปไม้จันทน์เป็นลักษณะต่าง ๆ เพื่อใช้ฉลุลวดลาย ช่างโกรกฉลุ โกรกและฉลุตามลายแบบ ช่างประดับลาย นำดอกลายที่สำเร็จแล้วมาประดับกับโครงพระโกศ ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ประณีตและพิถีพิถัน โดย กระทรวงวัฒนธรรม จะเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาและประชาชนที่มีฝีมือในงานประณีตศิลป์ งานฉลุลาย มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งขณะนี้มีผู้แจ้งความจำนงขอร่วมดำเนินการแล้วกว่า 100 ราย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 พร้อมกันนี้ จะบันทึกองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างพระโกศจันทน์ เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสน์ของชาติต่อไปด้วย

ด้าน นายอนัน มั่นความดี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งดูแลไม้จันทน์หอมบนขบวนรถบรรทุก กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจที่ร่วมในพิธี และเป็นประวัติของครอบครัวอย่างยิ่ง อีกทั้งส่วนตัวได้ตั้งใจเลิกเหล้า และบุหรี่ มาได้ 1 ปีแล้ว เพื่อตั้งใจทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook