วิษณุย้ำสร้างปรองดองต้องไม่พูดนิรโทษกรรม

วิษณุย้ำสร้างปรองดองต้องไม่พูดนิรโทษกรรม

วิษณุย้ำสร้างปรองดองต้องไม่พูดนิรโทษกรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'รองนายกฯวิษณุ' ชี้ รบ.หลัง รธน.ใหม่มีผล ไม่ได้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเพียงอย่างเดียว ต้องปฏิรูป ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ สร้างปรองดอง ยัน มีลต.แน่ - ตอบไม่ได้ช่วงเวลาใด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปในความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อกฎหมายที่จะต้องทำภายหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่ก็มีคำถามว่า บริหารราชการแผ่นดินนั้น หมายความว่าอย่างไร ซึ่งเกิดมาจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ได้กำหนดความหมายของคำว่าบริหารราชการแผ่นดินอย่างชัดเจน ทำให้เกิดคดีความต่างๆ มากมายที่ฟ้องร้องว่า รัฐบาลไม่บริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญใหม่เขียนว่า รัฐบาลต่อจากนี้ ไม่ได้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มี 3 ภารกิจเพิ่มขึ้นมาที่รัฐบาลต้องทำ ได้แก่ การปฏิรูปทุกด้าน ทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยเพื่อแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลในการการขับเคลื่อนภารกิจที่เพิ่มมา 3 ประการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมาเพื่อช่วยขับเคลื่อน

นายวิษณุ ยังกล่าวว่า ปัญหาการทำงานของรัฐบาลมีอยู่ 5 ประการ คือ TRUMP ประกอบด้วย เทคโนโลยี 
กฎระเบียบ ความเข้าใจของประชาชน เงินงบประมาณ และบุคลากร หากขาด 5 ประการนี้ จะไม่สามารถบริหารประเทศได้ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่มีคณะกรรมการ ป.ย.ป. ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารราชการในเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะเน้นในเรื่องการตัดสินใจเร็ว คณะกรรมการเตรียมการด้านการปฏิรูป มีหน้าที่วางแผนให้แต่ละหน่วยงานไปปฏิรูป คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติทำให้ประเทศมีเป้าหมาย แต่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีจะอยู่ยาวถึง 20 ปี และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งขอให้คิดวิธีอื่นก่อน แต่ขออย่าเพิ่งพูดถึงเรื่องการอภัยโทษและนิรโทษกรรม เพราะเมื่อพูดแล้วจะวงแตกทุกครั้ง

นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ป.ย.ป.ก็ยังมีอยู่ แต่เตรียมส่งต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานต่อ โดยสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือ การส่ง พ.ร.บ.แผนและวิธีการปฏิรูปประเทศ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องปฏิรูปอย่างน้อย 7 ด้าน ได้แก่ การเมือง ระเบียบราชการ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ซึ่งต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 4 เดือนนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จากนั้น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)จะสิ้นสุดการทำหน้าที่ทันที

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ต้องรอให้ กรธ.ยกร่างกฎหมายลูกให้เสร็จก่อน คาดว่า ไม่เกิน 8 เดือน จากนั้น เป็นขั้นตอนของ สนช.ที่ใช้เวลาพิจารณาอีก 2 เดือน โดยยืนยันว่า สุดท้ายแล้วต้องมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook