แฉ 7 กลโกงแชร์ลูกโซ่... รู้ไว้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ!

แฉ 7 กลโกงแชร์ลูกโซ่... รู้ไว้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ!

แฉ 7 กลโกงแชร์ลูกโซ่... รู้ไว้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่  ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายมหาศาล และมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก  จากข้อมูลพบว่ามิจฉาชีพต่างมีรูปแบบการหลอกลวงที่แตกต่างกันออกไป

Sanook News สัมภาษณ์ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย คุณสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ที่ทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายมาแล้วจำนวนมาก ได้เปิดเผยถึงวิธีการหลอกลวง กลโกงต่างๆซึ่งถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไรบ้าง ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ แนะนำข้อสังเกต และวิธีการตรวจสอบคร่าวๆไว้ดังนี้

 1.ฌาปนกิจสงเคราะห์เถื่อน   หลอกให้ประชาชนร่วมสมัครสมาชิก อ้างหากเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชย แต่เมื่อเหยื่อเสียชีวิต ญาติกลับไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง  ดังนั้นก่อนที่ท่านจะหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของขบวนการฌาปนกิจสงเคราะห์เถือน ควรตรวจสอบว่าสมาคมดังกล่าวมีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ใด   สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ถูกกฏหมายจะรับสมัครสมาชิกได้เพียงแค่ในพื้นที่ท้องถิ่นที่จดทะเบียนเท่านั้น ไม่สามารถหาสมาชิกข้ามเขตพื้นที่  หรือหาสมาชิกได้ทั่วประเทศ เพราะจะถือว่าทำผิด พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ หากมีผู้ใดแอบอ้างว่าสมาคมดังกล่าวมีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด

2.อ้างบริษัทขายตรงบังหน้า  แท้ที่จริงแล้วมีบริษัทขายตรงจำนวนมากที่ดำเนินการถูกต้องตามกฏหมาย แต่กลุ่มมิจฉาชีพกลับใช้รูปแบบการจัดตั้งเป็นบริษัทขายตรงมาหลอกลวงผู้เสียหาย ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การหาสมาชิก และต้องจ่ายเงินค่าสมัคร  โดยนำสินค้าที่ไม่ได้มาตราฐานมาเป็นข้ออ้างในการขาย  หากท่านคิดจะลงทุนกับบริษัทขายตรง ควรตรวจว่าบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตจาก สคบ. หรือไม่   รวมถึงตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายว่าผ่านการรับรองจาก อย.- สคบ.หรือไม่  และตรวจสอบแผนธุรกิจ ของบริษัทว่าดำเนินการตรงตามที่จดแจ้งกับ สคบ.หรือไม่  หากพบความผิดปรกติอย่างใดอย่างหนึ่งห้ามลงทุนโดยเด็ดขาด

3.แชร์ลูกโซ่อ้างกองทุน forex แม้กองทุนชนิดนี้จะได้รับความนิยมในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังถือว่ามีความเสี่ยง เพราะมีมิจฉาชีพบางกลุ่มจะชักชวนให้สมาชิกระดมเงินมาลงทุนforex  โดยเสนอผลตอบแทนสูง ที่ผ่านมาจะพบว่าการหลอกลวงในลักษณะนี้เมื่อระดมทุนได้จำนวนมากแล้ว เจ้ามือก็จะหอบเงินหนีไป ทำให้เงินที่เหยื่อลงทุนสูญหาย และพึงระลึกไว้เสมอว่าการเทรด forex จะต้องดำเนินการด้วยตัวเองเท่านั้น  และต้องมีเอกสารการเทรด ที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่ากลุ่มคนร้ายจะเขียนโปรแกรมหลอกว่าดำเนินการเทรดforex ในตลาดสากล แต่แท้ที่จริงเป็นการหลอกลวงเหยื่อ    และห้ามนำเงินไปให้ผู้อื่นดำเนินการแทนโดยเด็ดขาด

4.อ้างลงทุนหุ้นต่างประเทศ กลุ่มคนร้ายจะหลอกล่อเหยื่อให้นำเงินมาลงทุน และระดมทุนโดยการหาสมาชิก ระยะแรกจะจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการแนะนำสมาชิกให้ก่อน พึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนจะไม่มีการจ่ายผลตอบแทนค่าแนะนำสมาชิก  หรือรับรองผลตอบแทนใดๆ 

5.หลอกลงทุนสินค้าการเกษตร เช่นยางพารา ข้าวสาร ปุ๋ย ชักชวนประชาชนร่วมลงทุนกับบริษัทฯ โดยการหาสมาชิกและระดมเงินทุน อ้างผลตอบแทนอัตราสูงกว่าท้องตลาด  เมื่อระยะเวลาผ่านไปผู้เสียหายกลับไม่ได้เงินตามที่โฆษณาไว้  

6.แชร์ท่องเที่ยว  อ้างแผนการเดินทางท่องเที่ยวราคาถูก  และให้ผลตอบแทนสมาชิกที่สามารถชักชวนคนมาซื้อทัวร์ หรือลงทุน และจะมีการจ่ายค่าตอบแทนเหมือนกับค่านายหน้า

7.แชร์สกุลเงินดิจิทัล  มักจะหลอกลวงเหยื่อให้ร่วมลงทุนในสกุลเงินที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย  ส่วนใหญ่อ้างเป็นสกุลเงินรูปแบบใหม่ของต่างประเทศ  หากพบเจอการชักชวนในลักษณะนี้ ก็ไม่ควรร่วมลงทุนเลย เพราะท้ายที่สุดความเสียหายจะเกิดกับเรา  และไม่สามารถติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกไปมาคืนได้

รูปแบบแชร์ลูกโซ่ทั้ง 7 รูปแบบนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ ไปตามยุคสมัย แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีรูปแบบการหลอกลวงไม่ต่างไปจากข้อมูลข้างต้น  

ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ จึงฝากเตือนประชาชนว่า หากพบรูปแบบการลงทุนเหล่านี้  โดยมีการชักชวนจากคนรู้จัก  หรือแม้แต่คนใกล้ชิด ญาติพี่น้องที่สนิท มาชักชวนให้ลงทุนก็ควรระวัง  เพื่อป้องกันการหลอกลวงและมิให้เกิดความเสียหาย ควรจะตรวจสอบให้แน่ใจก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน  โดยสามารถสอบถามไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือสอบถามข้อสงสัยผ่านเพจสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทยได้

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook