ดีหรือร้าย? อนาคตฝาแฝดใบบัว-ใบตอง จากอกยายสู่อ้อมกอดพ่อ

ดีหรือร้าย? อนาคตฝาแฝดใบบัว-ใบตอง จากอกยายสู่อ้อมกอดพ่อ

ดีหรือร้าย? อนาคตฝาแฝดใบบัว-ใบตอง จากอกยายสู่อ้อมกอดพ่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกออนไลน์กำลังให้ความสนใจคลิปสะเทือนใจเมื่อพ่อของเด็กหญิงฝาแฝดวัย 7 ขวบ ได้พยายามนำตัวลูกสาว 2 คนขึ้นรถกระบะเพื่อนำไปเลี้ยงดู โดยที่เด็กหญิงทั้งสองไม่ยินยอมและร้องไห้ตลอดเวลา พร้อมทั้งเกาะแขนป้าและยายไม่ยอมปล่อย ท่ามกลางความโศกเศร้าของป้าและยายของน้องใบบัว - น้องใบตอง ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 60 ที่ผ่านมา

โดย นางเสาร์ อายุ 66 ปี ยายของเด็กหญิงฝาแฝด เปิดเผยถึงเหตุการณ์นี้ด้วยน้ำตานองหน้าว่าตนเองเลี้ยงหลานตั้งแต่แรกคลอดจนกระทั่งอายุ 7 ขวบ เนื่องจากแม่ของเด็กเสียชีวิต ก่อนจะถูกพ่อแท้ๆมาพรากแก้วตาดวงใจไป ซึ่งตอนนี้รู้สึกกังวลถึงหลานรักหากไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ ไม่มีญาติพี่น้องที่คุ้นเคย ก็ไม่ทราบว่าจะมีสภาพเป็นอยู่อย่างไร เพราะไปอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก แม้กระทั่งคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อ เด็กก็ไม่รู้จักมาก่อนเลย

ถึงแม้ว่านายสุรชัยซึ่งเป็นพ่อมีสิทธิตามกฎหมายก็น่าจะกระทำด้วยวิธีละมุนละม่อมกว่านี้ และตนเองพร้อมที่จะเลี้ยงดูน้องใบบัวและน้องใบตองได้เป็นอย่างดี เพราะว่าเลี้ยงดูเด็กทั้ง 2 คนมาตั้งแต่เกิดแล้ว จึงขอความเป็นธรรมให้กับตนและเด็กทั้ง 2 คนในเรื่องนี้ด้วย

1wew

ทางด้านพ่อของเด็กคือ นายสุรชัย เผยว่าตอนนี้ลูกสาว อยู่ในการดูแลที่กรุงเทพฯ โดยทางยายและป้าสามารถโทรมาพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบได้ ไม่ได้ปิดกั้นแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าที่ผ่านมาตนได้เดินทางไปเยี่ยมลูกสาวทุกปี มีการนำเงินไปให้เป็นก้อนทุกครั้ง ไม่ได้ทอดทิ้งตามที่เป็นข่าว

ส่วนท่าทีการฉุดกระชากตามที่ปรากฏในคลิปนั้น ไม่ขอเปิดเผย เพราะอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ยอมรับว่าคลิปที่ถูกแชร์ออกมาก็ทำให้เรื่องดูเกินจริง ส่งผลให้ชีวิตตนวุ่นวาย เป็นเรื่องใหญ่โต ท้ายนี้อยากให้สังคมยุติการขุดคุ้ยประวัติคนรอบตัวตน เช่น แม่เลี้ยงของเด็ก เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ตอนนี้เตรียมดำเนินคดีกับคนที่ปล่อยข่าวทำตนเสียหาย พ่อเด็กกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้สิทธิในตัวเด็กย่อมเป็นของพ่อถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากป้าและยาย ต้องการเป็นผู้เลี้ยงดูจะสามารถทำได้หรือไม่ ทาง Sanook News! ได้สัมภาษณ์ ทนายวรวัฒน์ บุญฤทธิ์ ซึ่งแสดงความคิดเห็นกรณีนี้ว่าศาลจะเป็นผู้วิเคราะห์ว่าเด็กควรจะไปอยู่กับใคร โดยพิจารณาถึงความเป็นอยู่ว่าใครสามารถให้การเลี้ยงดูที่ดีได้มากกว่า ให้อนาคตที่ดีกับเด็กได้

และถ้าคุณพ่อมีความพร้อมมากกว่าคุณยายก็หมดสิทธิ์ แต่ถึงแม้ว่าพ่อจะมีสิทธิตามกฎหมาย หากพ่อนำเด็กไปฝากคนอื่นเลี้ยงไม่มีเวลาให้กับเด็ก ไม่ใส่ใจสนใจเด็ก ทางด้านคุณยายและป้าก็ขอร้องต่อศาลขอเป็นผู้เลี้ยงดูแทนได้

1ee

ส่วนคลิปที่ปรากฏออกมาเห็นคุณพ่อบุกไปเอาลูก โดยที่เด็กไม่เต็มใจนั้น คุณพ่อสามารถทำได้ตามสิทธิความเป็นพ่อทางกฎหมาย แต่ในทางกลับกันหากคุณยายและป้าไปพาเด็กกลับบ้านโดยที่เด็กเต็มใจก็อาจจะถูกแจ้งความข้อหาพรากผู้เยาว์ได้

แต่หากมองในมุมของพ่อที่เด็กไม่เต็มใจไปด้วย อาจเป็นเพราะความไม่คุ้นชินและไม่คุ้นเคยก็ได้เพราะส่วนใหญ่เด็กทั่วๆไปจะติดคนเลี้ยง กรณีแบบนี้คงต้องให้เวลากับทางพ่อของเด็กด้วย หากคุณพ่อให้ความรักความเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดีให้เด็กมีความสุขและคุณป้ากับยายสามารถไปเยี่ยมได้เสมอ ก็คงเป็นเรื่องดีสำหรับทุกฝ่ายซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป

อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในอนาคตเด็กจะประสบปัญหาอะไรหรือไม่หากต้องไปอยู่กับพ่อที่ไม่คุ้นชินซึ่งทาง Sanook News! ได้สอบถามไปยัง นักจิตวิทยาพัฒนาการ แสดงความคิดเห็นว่าถ้าในกรณีที่พ่อไม่เคยเจอลูกเลย ไม่เคยสนิทเลยย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเด็กอยู่แล้ว เนื่องจากว่าโดยเด็กในวัยนี้พัฒนาการเค้าต้องการคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ คนที่ให้ความอบอุ่นได้ พอเด็กต้องถูกจับห่างออกจากคนที่เค้ารักและผูกพัน ไปอยู่กับคนที่ไม่รู้จักเลย ซึ่งในกรณีนี้เด็กรู้แค่ว่าเป็นพ่อแต่ไม่เคยได้เลี้ยงดูหรือคุ้นเคยกันมาก่อนก็จะส่งผลทำให้เด็กรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ

การตัดขาดอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจเด็กเกิดเป็นปมในใจ เช่น ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจคนได้ยากขึ้น ไม่กล้าปล่อยจิตใจให้รักใคร ทางที่ดีคุณพ่อควรใช้วิธีการสร้างความเชื่อใจให้เด็กก่อน เช่นมารับไปอยู่บ้างสักอาทิตย์ล่ะ 2-3 วัน เพื่อให้เด็กรู้สึกชินและค่อยๆปรับตัวกับพ่อ และกันไม่ให้เด็กรู้สึกโดนพรากไปจากคุณยายซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่า

1323

นอกจากนี้หากมองในแง่ลบเด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีก็อาจจะทำให้เด็กกลายเป็นคนค่อนข้างจะเก็บตัว หวาดระแวงคน ไม่ไว้ใจคน เพราะพัฒนาการช่วงนี้เค้าหยุดชะงักไป แต่ในทางกลับกันถ้าหากคุณพ่อเค้าเลี้ยงดูอย่างดีเอาใจใส่ดูแลทุกอย่าง สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของเด็กก็จะดีขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตอนนี้เด็กต้องการยายกับป้าก็ต้องเอาทั้งสองคนนี้เป็นส่วนเชื่อมกลางระหว่างพ่อกับเด็กและเด็กกับยาย ซึ่งยังไงต้องเลี้ยงร่วมกันก่อนและเด็กในวัยนี้เค้ารู้เหตุผลแล้วจึงต้องค่อยๆอธิบายให้เค้าฟังและเค้าจะค่อยๆเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งทั้งคุณพ่อกับคุณยายต้องหันหน้าเข้าหากัน อยากให้ทั้งสองฝ่ายมองที่ตัวเด็กเป็นหลักว่าเค้าต้องการอะไรไม่ต้องการอะไร หนทางที่จะทำให้เด็กได้ประโยชน์สูงสุดมันคืออะไร คุณหมอกล่าว

สุดท้ายแล้วหากทั้งสองฝ่ายยอมถอยกันคนละก้าวแล้วหันหน้าพูดคุยกันด้วยเหตุผล โดยใช้ความรู้สึกและประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง ย่อมส่งผลดีต่อเด็กในอนาคต เชื่อว่าผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายย่อมรักและหวังดีกับลูกหลานเสมอ ฉะนั้นแล้วอนาคตที่จะดีหรือจะร้ายของน้องใบบัวและใบตองอยู่ที่การตัดสินใจจะเลือกเดินทางไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook