24 ปีผ่านพ้น โศกนาฏกรรม “เคเดอร์” พบ ช่องว่างควบคุมอาคารเพียบ

24 ปีผ่านพ้น โศกนาฏกรรม “เคเดอร์” พบ ช่องว่างควบคุมอาคารเพียบ

24 ปีผ่านพ้น โศกนาฏกรรม “เคเดอร์” พบ ช่องว่างควบคุมอาคารเพียบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยในการทำงาน วันนี้ถูกตั้งขึ้นเพราะเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ จนทำให้คนงานเสียชีวิตเกือบ 200 คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัวให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอาคาร จากวันนั้นถึงวันนี้ การป้องกันความสูญเสียลักษณะเดิมซ้ำอีกมีพัฒนาการหรือข้อติดขัดอย่างไร

 

ควันสีดำกลุ่มใหญ่โหมกระหน่ำท่ามกลางซากอาคารที่กำลังทรุดตัวนี้ คือ ภาพความทรงจำของเหตุเพลิงไหม้บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล ไทยแลนด์ จำกัด หรือที่รู้จักในชื่อโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536  แม้นักดับเพลิงจะระดมฉีดน้ำดับไฟ แต่ด้วยความรุนแรงของเปลวเพลิง ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 188 คน บาดเจ็บ 469 คน แม้จะผ่านมากว่า 24 ปี แต่พรรัตน์ บริพันธ์ อดีตคนงานโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ยังจำได้ดีถึงเหตุการณ์ที่เขาไม่อาจช่วยเพื่อนร่วมงานจำนวนมากที่อยู่ท่ามกลางเปลวเพลิงได้



ภาพถ่ายทุกใบถูกเก็บรักษาอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งเตือนใจ  เหตุการณ์ในวันนั้น ยังเป็นจุดพลิกผันให้เขาเปลี่ยนอาชีพไปเป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยและการดับเพลิง

อดีตคนงานโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์รายนี้ มองว่า หลังเกิดโศกนาฏกรรมกับโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ แม้จะเกิดความตื่นตัวปรับปรุงกฎหมายกำกับดูแลอาคารประเภทต่างๆและแผนเผชิญเหตุจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้กลับพบอาคารหลายแห่งไม่ได้ทำตามข้อกำหนด โดยที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

สำหรับข้อมูลเฉพาะกรุงเทพมหานคร พบว่า มีอาคารเกือบ 3,000 แห่ง จากทั้งหมด 10,000 แห่ง ไม่ส่งรายงานการตรวจสอบอาคารประจำปี ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นอาคารเก่าที่มีถังดับเพลิง และ สัญญาณเตือนภัย ไว้ใช้ป้องกันเหตุฉุกเฉินเท่านั้น นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถิติช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร คือ พื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด เฉลี่ยปีละ 800-1,200 ครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook