รพ.พระนั่งเกล้าหนี้สูงกว่า 300 ล้านบาท จ่ายค่าจ้างพยาบาล รัฐไม่บรรจุ

รพ.พระนั่งเกล้าหนี้สูงกว่า 300 ล้านบาท จ่ายค่าจ้างพยาบาล รัฐไม่บรรจุ

รพ.พระนั่งเกล้าหนี้สูงกว่า 300 ล้านบาท จ่ายค่าจ้างพยาบาล รัฐไม่บรรจุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะกระทรวงสาธารณสุขจัดให้ที่นี่เป็นโรงพยาบาลเรือธง ที่จะใช้เป็นตัวอย่างพัฒนาคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐ แต่ในทางปฏิบัติผู้บริหารโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ยอมรับว่า ยังไม่สามารถจัดการกับภาวะขาดแคลนพยาบาลได้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. หยิบยกมาเป็นเหตุผลที่ยังไม่อาจอนุมัติอัตราใหม่ในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ โดยอ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ระบุว่า เป็นคนละชุดกับที่โรงพยาบาลใช้พิจารณาอัตรากำลังที่จะคำนวณจากสัดส่วนระหว่างพยาบาลกับคนไข้ ไม่ใช่สัดส่วนระหว่างพยาบาลกับประชาชน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่สภาการพยาบาลเคยคิดสัดส่วนพยาบาลที่จะดูแลผู้ป่วยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดไว้ แต่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง กลับต่ำกว่าเกณฑ์นี้ทั้งสิ้น รวมไปถึงโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เช่น ห้อง ICU ตามมาตรฐาน พยาบาล 1 คน ควรดูแลผู้ป่วยเพียง 2 คน แต่พยาบาลโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยถึง 4 คน

ขณะที่ แผนกอายุรกรรม ตามมาตรฐาน พยาบาล 1 คน ควรดูแลผู้ป่วย 4 คน แต่พยาบาลโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วย 8 คน แผนกศัลยกรรม ตามมาตรฐาน พยาบาล 1 คน ควรดูแลผู้ป่วย 6 คน แต่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พยาบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วย 10 คน และ หอพักผู้ป่วยพิเศษ ตามมาตรฐาน พยาบาล 1 คน ควรดูแลผู้ป่วย 5 คน แต่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พยาบาล 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยแผนกนี้ 10 คน

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสาเหตุที่พยาบาลของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ารวมถึงโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอื่น ต้องทำงานอย่างหนัก จนแทบไม่มีวันหยุด แม้จะได้ค่าล่วงเวลาตอบแทน แต่ทุกคนก็ไม่ได้ยินดีกับการทำงานมากเท่านี้ โดยที่ไม่เห็นความก้าวหน้าทางวิชาชีพ

สำหรับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเป็นโรงพยาบาลขนาด 600 เตรียม ปัจจุบันมี 585 เตียง ตามหลักการคำนวณความเหมาะสมของสภาการพยาบาล 1 เตียง ควรมีพยาบาล 1 คน นั่นเท่ากับว่า อย่างน้อยโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าควรมีพยาบาล 585 คน แต่ในความเป็นจริงโรงพยาบาลแห่งนี้มีพยาบาล 457 คน ในจำนวนแบ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับการบรรจุแล้ว 385 คน พนักงานราชการ 44 คน และลูกจ้างชั่วคราว 28

หากไม่นับพยาบาลที่มีสถานะเป็นข้าราชการบรรจุ พยาบาลประเภทอื่นโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างเอง และหนีสินที่ปัจจุบันโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามีอยู่ 354 ล้านบาท ส่วนหนึ่งก็มาจากการจ้างงานเหล่านี้ และสถานการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลรัฐอีกหลายแห่ง

ทีมข่าว PPTV ได้รับข้อมูลว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการตั้งคณะกรรมการพิจาณากำลังคนขึ้นโดยเฉพาะและพิจารณาแนวทางบรรจุพยาบาลวิชาชีพหลายครั้ง จนมีข้อสรุปที่ยังเป็นที่ถกเถียงว่า แท้จริงแล้ว ปัญหานี้เกิดจากมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ หรือ มีคนไข้ไหลเข้าโรงพยาบาลของรัฐมากจนเกิดภาวะที่มีอัตรากำลังมากเท่าไหร่ ก็อาจไม่เพียงพอกับปริมาณคนไข้

การแก้ปัญหาจึงเกิดความเห็นต่างว่า ควรหาอัตราบรรจุเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขไม่เกิดภาวะไหลออก หรือ การหาแนวทางบริหารจัดการใหม่ โดยการเกลี่ยอัตรากำลังคนที่มีอยู่และหาแนวทางบริหารจัดการให้คนไข้ที่เจ็บป่วยไม่มาก เข้าใช้บริการโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่น้อยลง เนื่องจากมีข้อมูลว่า คนไข้ที่เจ็บป่วยไม่มากถึงขั้นต้องพบแพทย์มีอย่างน้อยร้อยละ 30 ที่ตัดสินใจเข้าใช้บริการโรงพยาบาลรัฐทั้งที่ไม่จำเป็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook