แฉขบวนการเขมือบนมโรงเรียนยุค เฉลิม

แฉขบวนการเขมือบนมโรงเรียนยุค เฉลิม

แฉขบวนการเขมือบนมโรงเรียนยุค เฉลิม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลขานุการ รมว.ศึกษาฯ แฉ หนังสือคำสั่ง มท.รัฐบาลก่อนมีเบื้องหลังขบวนการเขมือบนมโรงเรียน ใช้หางนมผสมน้ำ จนนมบูดเด็กไม่ยอมกิน นักการเมืองใหญ่มีเอี่ยว แถมมีขบวนการหากินกับโครงการเรียนฟรีต่อ ล็อกสเปกบริษัทผลิตอุปกรณ์การเรียนแต่ถูกขวาง จวกหากินกับอนาคตของชาติ เตือน ขรก.นึกถึงประโยชน์ชาติมากกว่าบุญคุณ

นายสุธรรม นทีทอง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เปิดงานล่องแพพะโต๊ะที่ จ.ชุมพร เพื่อมอบนโยบายเรียนฟรีให้ครูใน อ.พะโต๊ะ และได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและความทุกข์ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดย นายบรรยงค์ ณธรรมะ ผู้อำนวยการโรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ร้องเรียนว่าเด็กนักเรียนของโรงเรียนไม่ยอมดื่มนมในโครงการนมโรงเรียนที่ภาครัฐนำมาแจก แม้ครูประจำชั้นจะพยายามขอร้องให้ดื่มเพื่อสุขภาพของเด็ก แต่ก็พบว่าเด็กยังนำไปแอบทิ้ง เมื่อถูกจับได้ก็บอกเหตุผลที่ไม่ดื่มว่า นมมีกลิ่น ไม่มีคุณภาพ ซึ่งนายบรรยงค์ได้ตรวจสอบโครงการนมโรงเรียน พบว่านมดังกล่าวไม่มีคุณภาพจริง ไม่ใช่นมสด 100 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ประกาศนโยบายไว้ แต่กลับนำหางนมมาผสมน้ำบรรจุถุงให้นักเรียนกิน สร้างความเดือดร้อนให้เด็กและเยาวชนจนไม่รู้จะพึงพาใคร จึงมาร้องทุกข์ในที่ประชุม

เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องได้ถามในที่ประชุม และสอบถามจากนายสมโภชน์ โชติชูช่วง นายอำเภอพะโต๊ะ ได้รับการยืนยันว่าอำนาจการจัดซื้อนมเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งได้ตามนายธนยศ พราหมนาเวศ นายกเทศมนตรีเทศบาลพะโต๊ะ และนายสุธรรม ทิพย์มโนสิง นายก อบต.ตังหวาน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงมาสอบถามข้อเท็จจริง ได้รับการยืนยันว่าเคยได้รับการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวทั้งในเขตเทศบาลและ อบต. พบว่านมที่จัดหามาให้นักเรียนดื่มตามโครงการนมโรงเรียนเป็นนมไม่มีคุณภาพจริง ทุกโรงเรียนในเขตรับผิดชอบก็พบปัญหานี้

นายสุธรรม กล่าวว่า ทั้งสองคนในฐานะผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อ ได้พยายามเปลี่ยนบริษัทจัดหานมแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีบริษัทอื่นขายให้ แม้นมในโครงการจะมีราคาใกล้เคียงกับนมที่มีขายตามร้านค้าซึ่งมีคุณภาพดีกว่า ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก มีหนังสือคำสั่งกำชับมาจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่าให้ อปท.จัดซื้อเฉพาะบริษัทที่กำหนดมาให้เท่านั้น โดยนมในโครงการแบ่งเป็นนมพาสเจอไรซ์บรรจุถุง ราคาถุงละ 6.50 บาท นมกล่องยูเอชทีขนาดเล็ก กล่องละ 7.86 บาท และนมบรรจุถุงพลาสติก ถุงละ 7.67 บาท เมื่อเทียบราคากับนมที่มีขายในท้องตลาดยังน่าซื้อให้เด็กกินมากกว่า

เลขานุการ รมว.การศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า จากนั้นได้สอบถามจากนายสมโภชน์ว่ามีหนังสือสั่งการมาจากกระทรวงมหาดไทยจริงหรือไม่ จึงพบว่ามีหนังสือคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรทางราชการจริง เป็นคำสั่งที่ มท.08934/ ว. จากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2551 เรื่อง การจัดซื้ออาหารเสริมนมโรงเรียน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ สรุปสาระเหตุผลว่า 1.คณะอนุกรรมการโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนมีมติเห็นชอบรับรองรายชื่อผู้ประกอบการแปรรูปนมที่มีสิทธิจำหน่ายนมในโครงการนมโรงเรียนจำนวน 68 ราย และให้ อปท.ทั่วประเทศที่ได้รับงบประมาณในโครงการดังกล่าวจัดซื้อนมจาก 68 รายนี้เท่านั้น 2.แบ่งพื้นที่ทั่วประเทศออกเป็น 3 โซน คือ 1.พื้นที่ภาคเหนือจัดซื้อได้ 17 จังหวัด 2.พื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ 22 จังหวัด และ 3.ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง 37 จังหวัด

3.มีข้อตกลงกำชับมาด้วยว่าผู้ประกอบการนมจะไม่ดำเนินคดี หรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จาก อปท. และ 4.ให้ อปท.ส่งสำเนาสัญญาการซื้อขายไปให้สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นประจำจังหวัดรวบรวม เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของคณะกรรมการ ซึ่งในท้ายหนังสือคำสั่งดังกล่าวลงชื่อ นายสุกิจ เจริญรัตนกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น

"ทั้งนายธนยศและนายสุธรรมได้บอกข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้จะมีรายชื่อผู้ประกอบการจัดส่งนม 68 ราย แต่ในความจริงในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนๆ เพื่อขายนมให้แก่โรงเรียนต่างๆ เป็นเขตใครเขตมัน ห้ามซื้อขายข้ามเขต เสมือนเป็นการล็อกสเปกนม ล็อกบริษัทที่ผลิตนม รวมถึงการแบ่งจัดสรรพื้นที่หากินกับนมโรงเรียน คาดว่าน่าจะทำเป็นขบวนการเขมือบนมโรงเรียนแล้วแบ่งกันหากินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตั้งแต่นักการเมืองระดับใหญ่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยมีการสั่งการให้ข้าราชการในสังกัดเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินกับนมเด็ก โดยไม่คำนึงถึงการเจริญเติบโต และอนาคตของเด็ก เยาวชนของชาติ" เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายสุธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากพบข้อมูลดังกล่าว ยังพบอีกว่ากระบวนการหากินกับนมเด็กยังพยายามเข้ามาหากินในกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกัน โดยนักการเมืองเก่าๆ พยายามส่งคนของตัวเองเข้ามาติดต่อเสนอโครงการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ โดยพยายามเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ จัดพิมพ์ทั้งหนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน โดยเน้นที่จะให้มาตรฐาน มอก. หลังจากนั้นก็คงจะใช้วิธีการแบ่งโซนเช่นเดียวกับขบวนการเขมือบนมโรงเรียน แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ รู้ทัน จึงได้มีคำสั่งห้ามผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง รวมถึงการล็อกสเปกในทุกเรื่อง โดยปล่อยให้โรงเรียนต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการเอง พร้อมกำชับให้ผู้ปกครองและนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมจนทำให้นักการเมืองเก่าๆ ไม่พอใจ จึงนำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภา เพราะเป็นการเสียผลประโยชน์

นายสุธรรม กล่าวว่า ขณะที่ตนอยู่ในพื้นที่ จ.ชุมพร มีการตรวจสอบไปยังโรงเรียนในเขตอำเภออื่นๆ ทั้งจังหวัดแล้ว พบว่ามีพฤติกรรมถูกเขมือบนมเช่นเดียวกัน ยืนยันว่าจะตรวจสอบในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป และจะนำเรื่องเรียนต่อ รมว.ศึกษาธิการรับทราบ เพื่อให้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ติดตาม ตรวจสอบกระบวนการทุจริตเขมือบนม โดยจะเสนอกวาดล้างการทุจริตในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่ยังมีพฤติกรรมเป็นมรดกบาปตกทอดมาถึงรัฐบาลชุดนี้

"ขอเตือนให้ข้าราชการทุกระดับว่า รัฐบาลก็เปลี่ยนแปลงแล้ว ข้าราชการอย่ามัวแต่หากินเปอร์เซ็นต์และส่งผลประโยชน์ให้นักการเมืองเก่าอยู่เลย บุญคุณที่เขาแต่งตั้งให้มีตำแหน่งควรจะจบสิ้นได้แล้ว และควรหันมาทำงานให้ชาติบ้านเมืองพัฒนาก้าวหน้าไปกว่านี้จะดีกว่า" นายสุธรรม กล่าว

ผู้สื่อข่าว ประจำ จ.ชุมพร รายงานว่า เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนโรงเรียนปากเลข ว่านมที่ซื้อมาให้เด็กดื่มตามโครงการนมโรงเรียนนั้น ส่วนใหญ่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน มีกลิ่นเน่าเสีย เด็กจึงไม่กล้าดื่ม เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยและอาจทำให้ท้องเสีย ทั้งนี้โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนที่ได้สิทธิดื่มนมฟรีวันละ 1 ถุง จำนวนกว่า 400 คน แต่ที่ผ่านมาพบนมคุณภาพต่ำจนไม่สามารถดื่มมากถึงวันละ 200 ถุง

จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า นมคุณภาพต่ำที่นำมาแจกจ่ายนักเรียนตามโครงการนมโรงเรียนนั้น เป็นนมที่หมดอายุแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่นำมาปะปนกับนมที่ได้มาตรฐาน จากนั้นจึงนำไปแจกให้นักเรียนดื่ม โดยไม่คำนึงว่าใครจะได้รับแจกนมถุงที่หมดอายุแล้วหรือยังไม่หมดอายุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook