หญิงญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเชื้อไวรัส ที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ

หญิงญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเชื้อไวรัส ที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ

หญิงญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเชื้อไวรัส ที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิด เผยว่า หญิงชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสซึ่งมีเห็บเป็นพาหะหลังโดนแมวกัด มีอายุประมาณ 50 ปี เหตุเกิดจากหญิงคนดังกล่าวช่วยแมวจรจัดที่กำลังป่วยและถูกกัด จากนั้น 10 วัน หญิงคนนี้ก็เสียชีวิตด้วยโรค SFTS (Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome) หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำและมีไข้สูง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ

อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่พบรอยเห็บกัดบนร่างของหญิงคนดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่าเธอน่าจะได้รับเชื้อจากแมวที่ป่วย ซึ่งอาจถือเป็นกรณีแรกที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ถ่ายทอดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่มนุษย์

โรค SFTS นี้ เป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่พบในประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความเสี่ยงจะสูงขึ้นในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

สำหรับประเทศญี่ปุ่น มีรายงานพบโรค SFTS ครั้งแรกเมื่อปี 2013 และเคยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาแล้วจากการถูกเห็บกัด อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นย้ำว่า กรณีการเสียชีวิตล่าสุดนี้ยังเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็เตือนให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังเมื่อต้องสัมผัสกับสัตว์ที่กำลังป่วย

โดยทั่วไป โรคติดต่อจากเห็บที่พบได้บ่อยทั่วโลกคือโรคไลม์ (Lyme) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ติดเชื้อจะมีผื่นขึ้น หากไม่ได้รักษาจะมีอาการที่ข้อต่อหัวใจ และระบบประสาทส่วนกลาง รักษาให้หายขาดไดด้วยยาปฏิชีวนะ

ส่วนในประเทศไทย ไม่เคยมีการพบโรค SFTS ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย บอกกับทีมข่าวพีพีทีวี โอกาสที่จะพบโรค SFTS ในบ้านเรานั้นยากมาก เนื่องจากโรคนี้พบเพียง 3 ประเทศ ขณะที่เห็บก็มักจะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นชนบทของประเทศนั้น หากโรคนี้จะเข้ามาได้ก็คือต้องมากับสัตว์ที่นำเข้าเท่านั้น

อาจารย์รุ่งโรจน์บอกอีกว่า โรค SFTS นี้ สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือเมือก ได้ และเคยมีรายงานการติดต่อระหว่างคนด้วยกันมาแล้ว คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ แนะนำว่า สำหรับบ้านเรา ควรเป็นห่วงโรคอื่นๆ มากกว่า ซึ่งก็คือโรคพิษสุนัขบ้า หากพบแมวหรือสัตว์จรจัดแล้วต้องการช่วยเหลือ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยการสวมถุงมือ หรือใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่อุ้ม เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook