สุเมธเปิดใจกกต.ชุดนี้ของปลอม คลอดจากคมช.

สุเมธเปิดใจกกต.ชุดนี้ของปลอม คลอดจากคมช.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการการมีส่วนร่วม เปิดใจในงาน "กกต.พบสื่อมวลชน 899 วัน บนเส้นทางการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อชาติ ที่สำนักงาน กกต. เมื่อวันที่ 2 มี.ค. เพื่อเป็นการอำลาการพ้นวาระของนายสุเมธ ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ เพราะมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 232 วรรคสาม ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปตนจะไม่ร่วมเข้าประชุมกกต. เพราะจะได้ไม่ต้องเซ็นคำวินิจฉัยหลังจากสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ตนอยากให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กกต.ที่จะเข้ามานั้นมาจากสายรัฐศาสตร์ เพราะจะได้มาช่วยกันพัฒนาและจัดรูปแบบองค์กร เนื่องจากตอนนี้ที่มีอยู่เป็นนักกฎหมายผู้พิพากษา อัยการ ซึ่งไม่ถนัดงานบริหารงาน ทำให้การจัดงานฝ่ายบุคคลล่าช้า ส่วนการเมืองหลังจากนี้น่าจะดีขึ้น ดวงเมืองน่าจะดีขึ้น วิกฤตต่างๆน่าจะหายไป ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ไม่ว่าจะรักสีอะไรก็อยากให้บ้านเมืองสงบกันทั้งนั้น ทุกคนก็ไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก หากยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไปอนาคตจะเป็นอย่างไร

นายสุเมธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อตนพ้นจากตำแหน่งแล้ว ใครจะเป็นผี่สรรหา เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 231 ระบุถึงการสรรหา กกต. ว่ามี 2 ส่วนคือ มาจากส่วนของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 3 คน และ ส่วนของ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน แล้วจึงเสนอให้วุฒิสภารับรอง แต่ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการแต่งตั้งให้ตนเป็นกกต.ในขณะนั้นเป็นช่วงที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ออกประกาศ คปค.แต่งตั้งเมื่อปี 2549ให้กกต.ชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าตนจะมาจากส่วนใดที่รัฐธรรมนูญกำหนด และใครจะเป็นผู้คัดเลือกหากตนพ้นจากตำแหน่งไป และหากจะใช้มาตรา 7 ที่บอกว่า หากไม่มีบทบัญญัติใดให้ดำเนินการตามประเพณี ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่เคยมีประเพณีมาก่อน เพราะเรามี กกต. ตามรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 จะมองเป็นประเพณีได้หรือไม่ แต่เราก็ไม่เคยมีการบัญญัติแยกที่มาอย่างนี้เหมือนกัน ทั้งนี้ตนมองว่าเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วอาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความ

"ผมยอมรับว่า กกต. ชุดนี้เป็นของปลอม เพราะถูกตั้งโดย คมช. ไม่ได้ถูกตั้งมาตามรัฐธรรมนูญหรือได้รับการโปรดเกล้าฯ เรื่องนี้ไม่ขอโต้เถียงใครที่กล่าวหา แต่ผมเห็นว่าแม้ไม่ได้มาตามรัฐธรรนูญแต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้ทำได้ นายสุเมธ กล่าว

เมื่อถามว่า มองว่าอนาคตของตุลาการภิวัฒน์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร นายสุเมธ กล่าวว่า เรื่องนี้พูดยาก แต่หากบ้านเมืองเรียบร้อยอยากเห็นตุลาการกลับเข้ากรมกอง ชีวิตการเป็นศาลกับการอยู่ข้างนอกไม่เหมือนกัน หากออกมามากๆกลัวจะเหลิง เพราะการเมืองต้องเจอหลายประเภท และการที่ศาลจะกลับได้ต้องอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะแก้ได้ก็ต้องให้บ้านเมืองสงบ โดยรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็จะเหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เหมาะกับการแก้ปัญหาช่วงนั้น หรือ มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค เมื่อมาถึงตอนนี้ก็ต้องดูว่าสมควรหรือไม่ เช่นผู้จัดการทำผิดจำเป็นต้องยุบบริษัทเลยหรือ การให้ยาแรงอาจจำเป็นในเวลานั้น แต่ตอนนี้ที่ไข้ยังไม่มากให้ยาแรงมากไปเดี่ยวจะตายกันหมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook