ประชุม FOMC17มีค. เฟดต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลาย

ประชุม FOMC17มีค. เฟดต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานเมื่อวันที่ 16 มีนาคมว่า จากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและปัญหาในภาคการเงินที่ยังคงปกคลุมอยู่และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้ จนทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของสหรัฐฯและของทั่วโลกในปีนี้ลงเป็นระยะๆ รวมถึงเลื่อนระยะเวลาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจออกไปจากเดิม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางภาวะกับดักสภาพคล่องเช่นนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจำเป็นต้องยืนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำที่ 0.00-0.25% ต่อไปอย่างต่อเนื่องในการประชุมรอบที่สองของปีในวันที่ 17-18 มีนาคม 2552 และตลอดทั้งปีนี้ รวมทั้งดำเนินนโยบายการเงินในเชิงปริมาณผ่านเครื่องมือที่ประกาศใช้และเท่าที่มีอยู่เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ภาคการเงินต่อไป

ขณะเดียวกันก็คอยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC) ในการกอบกู้และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคสถาบันการเงินให้ฟื้นคืนกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งโดยรวมแล้ว คงจะมีผลทำให้สินทรัพย์ของเฟดมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในระยะถัดไป (สินทรัพย์รวมของเฟด ณ วันที่ 11 มีนาคม 2552 มีจำนวนสูงถึงประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเฟดจำต้องพิจารณาแนวทางการใช้งบดุลด้วยการเข้าไปซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasuries) ในระยะข้างหน้า เช่นเดียวกับที่ธนาคารอังกฤษได้ดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องและลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินลง

โดยสรุป ธนาคารกลางสหรัฐฯกำลังเผชิญกับภาวะกับดักสภาพคล่อง ซึ่งแม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ลงมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้หลุดจากภาวะถดถอยได้โดยนโยบายอัตราดอกเบี้ยเพียงประการเดียว หากแต่ยังคงต้องรอการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มทุน และการรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ แก่สถาบันการเงินและผู้กู้ ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และ FDIC ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาตลาดเงินและตลาดทุนอาจจะเริ่มลดความกังวลต่อฐานะของสถาบันการเงินจากข่าวผลการดำเนินงานที่มีกำไรของธนาคารขนาดใหญ่ก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะกล่าวได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยสิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปก็คือ รายละเอียดต่างๆ ของมาตรการของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ โดยเฉพาะในการรับซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงิน รวมทั้งการประเมินผลการทดสอบ Stress Test ที่แม้ว่าจะไม่ประกาศผลให้สาธารณชนรับทราบ แต่ก็คงเป็นประเด็นที่ถูกเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ตลอดจนผลการดำเนินงานของบรรดาธุรกิจสถาบันการเงินในไตรมาส 1/2552 ในขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายยังคงติดตามเครื่องชี้จากภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะตัวเลขการว่างงานและราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งหากเครื่องชี้ดังกล่าวยังคงถดถอยลง ก็คงจะเป็นการยากที่ภาคการเงินจะฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะอันใกล้นี้

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยนั้น ในที่สุดแล้วอาจยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะกับดักสภาพคล่องไปได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงต่อไปเรื่อยๆ อาจมีประสิทธิผลที่จำกัดลงในการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังมีระดับสูง เพราะภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงสถาบันการเงิน เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ

ขณะที่ แม้ว่าการดำเนินนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายอาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล และยังคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งอาจถูกจำกัดจากกรอบวินัยทางการคลัง และเสถียรภาพทางการเมือง แต่ก็คงจะเป็นทางออกที่ยังคงพอจะเป็นไปได้ของทางการไทยในเวลาเช่นนี้ ซึ่งทำให้คาดว่า การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลในหลายประเทศ รวมทั้งของรัฐบาลไทย อาจจะมากกว่าที่เดิมเคยคาดกันไว้ และอาจจะยังคงต้องขาดดุลต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีถัดจากนี้เป็นอย่างน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook