ก.พ.ค.เตรียมจัดประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่นิติกรและบริหารงานบุคคล สร้างความเข้าใจแก่ส่วนราชการ

ก.พ.ค.เตรียมจัดประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่นิติกรและบริหารงานบุคคล สร้างความเข้าใจแก่ส่วนราชการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก.พ.ค. เตรียมจัดประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่นิติกรและบริหารงานบุคคล สร้างความเข้าใจแก่ส่วนราชการเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ.ค. พร้อมย้ำให้ข้าราชการศึกษากระบวนการส่งเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ เพื่อป้องกันการส่งผิดที่ นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) ในฐานะโฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 ที่มีการยกเลิกระบบซีและส่งผลให้การอุทธรณ์และร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนอยู่ในวินิจฉัยของ ก.พ.ค. จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 มีข้าราชการร้องไปที่ ก.พ.ค.แล้วรวม 99 เรื่อง โดย ก.พ.ค.สามารถรับไว้พิจารณาได้ 22 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องอุทธรณ์ 11 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง ได้แก่ การไล่ออกและปลดออก และเรื่องร้องทุกข์ 11 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายและจัดคนลงตำแหน่งตารมระบบกลุ่มแบบใหม่ ส่วนที่เหลือ 77 เรื่อง เป็นเรื่องอุทธรณ์ และร้องทุกข์ ที่ส่งผิดที่ รวมถึงบัตรสนเท่ห์ ซึ่งในส่วนที่ร้องผิด ทาง ก.พ.ค. ได้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์และผู้ร้องทุกข์ไปดำเนินการส่งให้ถูกต้องและได้แจ้งไปยังส่วนราชการเจ้าของเรื่องให้รับทราบด้วยแล้ว ทั้งนี้ โฆษก ก.พ.ค. ย้ำว่า กรณีผู้ร้องทุกข์ที่มีความคับข้องใจอันเกิดจากผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนตามระบบคุณธรรมนั้น ไม่ว่าจะร้องที่ ก.พ.ค. ในกรณีต้นเหตุแห่งทุกข์เป็นปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี และกรณีที่ยื่นเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปตามลำดับ ในกรณีที่เป็นอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ต้องระบุชื่อจริงของตนเอง และชี้แจงลักษณะความคับข้องใจที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแนบเอกสารคำสั่งที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ โดยสามารถใช้แบบฟอร์มร้องทุกข์ของ ก.พ.ค. ที่ได้ทำเป็นตัวอย่าง เนื่องจากหากส่งในลักษณะบัตรสนเท่ห์จะไม่ได้รับการพิจารณา เพราะไม่เข้าองค์ประกอบของกระบวนการร้องทุกข์ หรือหากประสงค์จะรายงานการพบเห็นพฤติกรรมทุจริตของข้าราชการผู้อื่น ต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) เนื่องจาก ก.พ.ค. จะรับวินิจฉัยเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษและการร้องทุกข์ที่เกิดเฉพาะตนเอง โดยต้นเหตุแห่งทุกข์เป็นปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนกระบวนการวินิจฉัยร้องทุกข์ในกรณีที่ต้นเหตุแห่งทุกข์เป็นอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการที่รับผิดชอบต้องดำเนินการตามกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์ พศ.2551 ซึ่ง ก.พ.ค. มีแผนจัดประชุมสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ส่วนราชการ ได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการที่ต้องการส่งเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ ทาง ก.พ.ค. ยังได้จัดเจ้าหน้าที่จากสำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อคอยชี้แจงข้อสงสัยที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2547-1667 หรือดูรายละเอียดและดาวน์โหลดแบบฟอร์มการอุทธรณ์ ร้องทุกข์ ได้ที่เว็บไซด์ www.ocsc.go.th หรือโดยส่งทางไปรษณีย์มาที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ. นนทบุรี 47/101 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook