ป.ป.ท.ปัดร่วมอนุกก.กับบอร์ดกบข. ชี้เป็นการตรวจสอบภายใน สปส.แถลงข่มปีที่แล้วฟันกำไรอื้อ2พันล.

ป.ป.ท.ปัดร่วมอนุกก.กับบอร์ดกบข. ชี้เป็นการตรวจสอบภายใน สปส.แถลงข่มปีที่แล้วฟันกำไรอื้อ2พันล.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
องค์กรเครือข่าย กบข.ยื่นหนังสือถึงนายกฯจี้ยุบ กบข.-บีบเลขาฯออกเพื่อรับผิดชอบผลขาดทุน ขู่หากไม่ทำตามสมาชิกยื่นออก-งดจ่ายสมทบ กรณ์รับปากนำเงื่อนไขไปพิจารณา พร้อมตั้งกก.อิสระสอบให้เวลา 30 วัน หากผลไม่พอใจให้ตรวจสอบใหม่ ป.ป.ท.ทำหนังสือขอสอบด้วยแล้ว

กลุ่มที่กล่าวอ้างตัว เป็นองค์กรเครือข่ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นำโดยนายวิศร์ อัครสันตติกุล พร้อมเครือข่ายสวมเสื้อสีชมพูอ้างตัวว่าเป็นข้าราชการทั้งหมดประมาณ 300 คน ชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00น.วันที่ 17 มีนาคม จากนั้นยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เรียกร้องให้ยุบกบข.หรือให้นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกบข.ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกรณีนำเงินกบข.ไปลงทุน จนผลประกอบการปี 2551 ขาดทุน และเรียกร้องให้แก้ไขพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 63 และให้หน่วยงานอื่นเข้าไปตรวจสอบการใช้เงินของกบข.ได้ หากนายกฯไม่ปฏิบัติตามสมาชิกกบข.ทั่วประเทศจำนวน 1,180,000 คนจะรวบรวมรายชื่อเพื่อขอลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข. และจะไม่จ่ายเงินสมทบกบข. กลุ่มนี้ยังยื่นคำขาดหากนายกฯไม่ให้คำตอบภายในวันเดียวกันนี้จะปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบฯตลอดเดือนเมษายน

สำหรับหนังสือที่ยื่นต่อนายกฯเรียกร้อง ยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญ พ.ศ.2539 โดยให้เหตุผลสมาชิกกบข.ไม่ได้รับประโยชน์จากเงินที่หักเข้ากองทุนแม้แต่น้อย คนที่ได้รับประโยชน์กลับเป็นคนนอกที่ขออนุมัติกู้ยืมเงินดังกล่าว ที่สำคัญในปีนี้ สมาชิกกบข.ยังสูญเสียเงินที่ควรจะได้รับจำนวนคนละประมาณ 30,000-70,000 บาท เนื่องจากคณะกรรมการกบข.บริหารขาดทุนทำให้สมาชิกขาดความเชื่อมั่นจึงขอให้ยกเลิกกองทุนดังกล่าวพร้อมคือเงินให้กับสมาชิกและดอกเบี้ยโดยเร็ว

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม รับปากว่าจะนำข้อเสนอไปพิจารณา ทั้งเรื่องการบริหารงานที่มีปัญหา และความไม่ชอบมาพากลต่างๆ เนื่องจากกบข.เป็นหน่วยงานที่มีผลกระทบกับข้าราชการทั่วประเทศจำนวนนับล้านคน ทั้งนี้จะให้เวลาคณะกรรมการอิสระ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นมาทำงานภายใน 30 วัน โดยประธานจะเป็นคนนอก เพื่อหาข้อสรุปของปัญหาและแนวทางการแก้ไข

นายกรณ์ กล่าวว่า การตรวจสอบจะเฉพาะเจาะจงเรื่องที่ร้องเรียน ทั้งความเหมาะสม กฎหมาย ในแง่ของการบริหารจัดการของกบข.ในช่วงที่ผ่านมาว่ารัฐบาลต้องตรวจสอบว่าการบริหารจัดการเป็นไปตามกฏระเบียบกการหรือไม่ และมีการปกป้องสิทธิ์ประโยชน์ของสมาชิกกบข.อย่างรัดกุมแล้วหรือไม่ ข้อกล่าวหาทุกประเด็นทุกมีการตรวจสอบ ทั้งนี้ขอดูในส่วนของผลสรุปก่อนว่าเมื่อสรุปออกมาแล้วมีความเหมาะสมในการดำเนินการอย่างไร

จะรับข้อเสนอขององค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข.ฯ ไปพิจารณา โดยให้สศค.(สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้ดูแล และจะให้เวลาคณะอนุกรรมการฯ ตรวจสอบภายใน 30 วัน หากผลตรวจสอบไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะให้ตรวจสอบใหม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่สมาชิก กบข. นายกรณ์กล่าว

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกบข. กล่าวว่า ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดข้อเรียกร้องของข้าราชการที่เป็นสมาชิกกบข.ที่ไปชุมนุมหน้าทำเนียบฯ และยังไม่ได้มีการหารือหรือพูดคุยเรื่องนี้กับนายกรณ์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการหลังจากนี้ คงต้องรอคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการ(บอร์ด)กบข.ตั้งขึ้นซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมนี้

ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหนังสือด่วนมากที่ ยธ.1200/218 ถึงนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการกบข.ในวันเดียวกันนี้ สาระสำคัญคือ ขอให้คณะกรรมการกบข.พิจารณาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปี 2551 กบข.ขาดทุน นอกจากนี้ หนังสือยังยืนยัน มีอำนาจหน้าที่ที่ตรวจสอบ ตามกำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานป.ป.ท. และพ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แม้ว่าคณะกรรมการกบข.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ แต่เป็นการตรวจสอบภายในของกบข.เอง ซึ่ง ป.ป.ท.คงไม่เข้าร่วม

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.และวิทยาลัยพัฒนาตลาดทุน ยินดีจะเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการที่บอร์ดกบข.ตั้งขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องผลการดำเนินงานของกบข. เพื่อจะสามารถให้คำอธิบายที่ชัดเจนกับสมาชิกกบข. ให้เกิดความกระจ่างในข้อสงสัยที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตามหลักแล้วการลงทุนของกบข.ก็ต้องเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง

ต้องอธิบายให้สมาชิกเข้าใจถึงส่วนผสมของการลงทุน ทั้งตราสารหนี้ ตลาดหุ้น ว่าให้ผลตอบแทนแตกต่างกันอย่างไร เช่นในปื 2550 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวดี เพิ่มขึ้นถึง 25% ดังนั้นกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นก็ได้ผลตอบแทนดี แตกต่างจากปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นปรับลดลงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ผลกำไรของกองทุนที่ลงทุนในตลก็ต้องลดลง คำอธิบายเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต้องให้ความกระจ่างแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและไม่ให้เกิดความตระหนก นางภัทรียากล่าว

รายงานข่าวจาก บลจ.แจ้งว่า อัตราผลตอบแทนการลงทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของบลจ.ต่างๆทั้งอุตสาหกรรมปี 2551 พบว่าหากเป็นกองทุนตราสารแห่งทุนในปี 2551 มีผลตอบแทนการลงทุนติดลบสูงสุดถึง 38.61% ขณะที่ในปี 2550 ก็มีผลตอบแทนการลงทุนสูงสุดเช่นเดียวกัน โดยมีผลตอบแทนการลงทุน 17.51% ขณะที่กองทุนแบบผสม (ตราสารหนี้และตราสารทุน) มีผลตอบแทนการลงทุนติดลบ 1.70% ขณะที่ปี 2550 มีผลตอบแทนเป็นบวก 8.57% เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนของกบข.และกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นการลงทุนแบบผสมเช่นเดียวกัน พบว่า กบข.ขาดทุนในปี 2551 ในอัตราลบ 5.12% ขณะที่ปี 2550 มีผลตอบแทนการลงทุนเป็นบวก 9.22% ส่วนกองทุนประกันสังคมนั้นมีผลตอบแทนเป็นบวกทั้ง 2 ปี โดยปี 2551 บวก 9.40% และปี 2550 บวก 8.71%

นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยผลดำเนินงานปี 2551 ว่า ลงทุนไป567,906 ล้านบาท ได้กำไร2.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่ได้กำไร 2.1 หมื่นล้านบาท เดือนมกราคมปีนี้กำไร 2 พันล้านบาท ตั้งเป้าทั้งปีกำไรไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท หากยังทำกำไรได้เหมือนเดือนมกราคมก็จะทำให้ยอดกำไรทะลุ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยสปส.ลงทุนในสินทรัพย์ไม่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 82:18เป็นร้อยละ 84:16 โดยการลงทุนจำนวนมากยังเป็นการซื้อพันธบัตรระยะสั้น แต่หากมีเมกะโปรเจ็คต์และรัฐบาลออกหุ้นกู้มาก็พร้อมเข้าไปซื้อ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศได้รับรายงานว่ามีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 680 ล้านเหรียญสหรัฐฯเป็น 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อไปอาจมุ่งไปที่ยุโรปบางประเทศมากกว่าสหรัฐอเมริกาเพราะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเร็วกว่า แต่คงต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจโลกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook