เปิดตัวหนังสือรอยลูกปัด หมอบัญชาเปิดใจไขปริศนาเจอลูกปัดครั้งแรกหลังสึนามิ จิระนันท์ทึ่งศิลปะอารยธรรม

เปิดตัวหนังสือรอยลูกปัด หมอบัญชาเปิดใจไขปริศนาเจอลูกปัดครั้งแรกหลังสึนามิ จิระนันท์ทึ่งศิลปะอารยธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หมอบัญชาแถลงเปิดตัวหนังสือรอยลูกปัด เผยเจอลูกปัดครั้งแรกหลังช่วยชาวบ้านเหยื่อสึนามิ ศึกษาที่มาทั้ง25แห่ง เผยผู้เชี่ยวชาญพบลูกปัดสุริยเทพ1เม็ดบนเส้นทางสายไหมกลางทะเลทรายเมืองจีน แต่เนื้อไม่เนียนเท่าคลองท่อม จิระนันท์ทึ่งศิลปะยุคเริ่มอารยธรรม ชี้มีคุณค่าในตัวเอง ค้านทำเป็นเครื่องลางป้องกันผี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 16.30 น. ประชาชนทยอยเดินทางไปที่มิวเซียมสยามเพื่อชมนิทรรศการลูกปัด และร่วมงานเปิดตัวหนังสือ รอยลูกปัด จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับมิวเซียมสยาม บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก มีการนำลูกปัดจากที่ต่างๆ ทั้งของเก่าและปัจจุบันมาจำหน่าย พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับลูกปัด โดยได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ขณะเดียวกันในบริเวณงานมีการตั้งซุ้มอาหารระดับเชลล์ชวนชิมให้ผู้ร่วมงานฟรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้มีเกียรติผู้มาร่วมงานมีทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และผู้สนใจทั่วไป ได้แก่ นางจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ นายบูรพา อารัมภีร บุตรชายของนายสง่า อารัมภีร คุณหญิงกฤษณา อโศกสิน นักเขียนชื่อดัง นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นาวาเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเอนก นาวิกมูล นักสะสมของเก่า คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางรตยา จันทร์เทียร อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายบัญญัติ คำนูญวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพีออล จำกัด พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) นายพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ อดีตอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยมีนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะให้การต้อนรับ

ต่อมาเวลา 17.30 น. มีการเสวนาเรื่อง ไขปริศนาแห่งลูกปัด โดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้เขียนหนังสือเรื่อง รอยลูกปัด ซึ่งเป็นนักสะสมลูกปัด โดยมี น.ส.สายสวรรค์ ขยันยิ่งำเนินการเสวนา

นพ.บัญชากล่าวว่า ตนเริ่มต้นจากการลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านที่ถูกสึนามิถล่มที่ จ.กระบี่ ได้พบเห็นชาวบ้านใส่สายสร้อย ลูกปัด ที่น่าตกใจเห็นหลายชิ้นมีอักขระ พราหมี คิดว่าน่าจะมีความหมายที่สำคัญอะไรบางอย่าง จึงไปศึกษากับนักวิชาการและผู้รู้ และเมื่อได้คุยกับอาจารย์สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษา ซึ่งอยู่ที่สถาบันทักษิณ โดยอาจารย์สุทธิวงศ์แนะนำว่าให้เก็บลูกปัดเอาไว้ เพราะหายไปมากแล้ว ตนจึงเริ่มเก็บตั้งแต่บัดนั้นและค่อยๆ ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับลูกปัดเรื่อยมา

นพ.บัญชากล่าวว่า มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีหลายท่านศึกษาและทำรายงานไว้แล้ว ตนแค่ปะติดปะต่อภาพ โดยเริ่มศึกษาจากแหล่งลูกปัด 5 แหล่ง และค่อยศึกษาไปจนกระทั่งครบ 25 แหล่ง ซึ่งใน 25 แหล่งลูกปัดที่ลงไปศึกษาพบ 10 จุดที่มีหลักฐานสำคัญ เช่น แหล่งลูกปัดที่เก่าที่สุด ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร และทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส ทำการศึกษาที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร มีอายุพุทธศตรรรษที่ 4 แต่ก็ยังมีอีกสองแห่งที่มีลักษณะคล้ายกันแต่ไม่เก่าแก่เท่าคือที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎรธานี และที่ ภูเขาทอง อ.สุขสาราญ จ.ระนอง

สิ่งที่ผมพบคือ มีลูกปัดเป็นจำนวนมากในภาคใต้ ที่ภาคใต้เป็นแหล่งลูกปัดที่สำคัญ และนำไปสู่การค้าขาย เมื่อครั้งที่คุณไมเคิล ไรท ยังมีชีวิตอยู่ ผมได้ขอคำแนะนำจากคุณไมเคิล และได้ตั้งโจทก์ไว้ 2 ข้อคือ 1.ภาคใต้กลายเป็นศูนย์การผลิตที่ใหญ่มาก 2.พบชิ้นส่วนลูกปัดโรมันเป็นจำนวนมาก ทำให้เชื่อว่าคนที่ภาคใต้จะต้องมีความสัมพันธ์หรือมีสถานะพอที่จะเป็นเจ้าของลูกปัดเหล่านั้น นพ.บัญชา กล่าว

นพ.บัญชากล่าวว่า เรื่องลูกปัดสุริยเทพ ที่คลองท่อม ตอนแรกที่เจอชาวบ้านเรียกว่าลูกปัดหน้าคน และด้วยความที่มีลักษณะคล้ายหน้าอินเดียนแดง บางคนจึงเรียกว่าลูกปัดอินเดียนแดง ส่วนชื่อลูกปัดที่เรียกสุริยเทพนั้น ได้สอบถามจากนายวินัย อุกฤษณ์ อดีตนักร้องวงคาราวาน ผู้แต่งเพลงนกสีเหลือง บอกว่าคนที่ตั้งชื่อสุริยเทพ คือนายกลิ่น คงเหมือนเพชร นักวิชาการในจ.กระบี่ เพราะลูกปัดมีลักษณะคล้ายเทพสุริยเทพ

นพ.บัญชากล่าวว่า นพ.เจมส์ แลงค์ตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกปัดและแก้วโบราณบอกไว้ว่าได้พบลูกัดสุริยเทพ 1 เม็ดที่กลางทะเลเทรายในมณฑลซินเจียง ประเทศจีน โดยพบภายในหลุมฝังศพพ่อค้า จุดตรงนี้เป็นเส้นทางสายไหม แต่ตนดูแล้วเนื้อลูกปัดไม่เนียนเท่าลูกปัดที่คลองท่อม อย่างไรก็ตามต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมในส่วนของเนื้อแก้ว

ด้านนางจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ซึ่งมาร่วมงานนี้ด้วย ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของลูกปัดว่า ลูกปัดเป็นศิลปะในยุคเริ่มต้นของอารยธรรม และเป็นสิ่งน่าทึ่งมาก ในความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำลูกปัดมาเป็นเครื่องลาง ไม่ต้องป้องกันผี แต่ลูกปัดมีคุณค่าในตัวเอง ต่อให้เอาความศักดิ์สิทธิ์ออกไปก็ยังมีความสวยงามและมีคุณค่า สำหรับคนยุคนี้เรื่องของลูกปัดไม่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ แต่ใช้เป็นเครื่องประดับ ซึ่งมีคุณค่าในตัวเองและหายากที่จะมีอะไรเหมือนลูกปัดมีครบทุกด้านในตัวเอง ทั้งแง่ของความรู้ บอกเล่าอารยธรรม และเป็นสิ่งสวยงาม ใช้เป็นเครื่องประดับก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่วางไว้บนหิ้งบูชา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือ รอยลูกปัด ที่นำมาจำหน่ายในงานแถลงข่าวได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของกิ๊ฟต์เซ็ต ประกอบด้วยหนังสือรอยลูกปัด กระเป๋า เข็มกลัด และโพสต์การ์ด 800 บาทขายจนหมด

ทั้งนี้ หนังสือ รอยลูกปัด จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับลูกปัดตั้งแต่ยุคแรกเริ่มมีลูกปัดในเมืองไทย เนื้อหาภายในหนังสือแบ่งออกเป็น 5 บท เป็นหนังสือพิมพ์กระดาษอาร์ตมัน สี่สีสวยงาม หนา 250 หน้า มีคุณค่าแก่การเก็บสะสม โดยให้ความรู้เกี่ยวกับลูกปัดอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ จำหน่ายราคาเล่มละ 800 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักพิมพ์มติชน โทร 02-5800021 ต่อ 1335

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook