''ไทยพาณิชย์''บีบวัย50ออก ชงบอร์ดไฟเขียวจ่ายชดเชยสูงสุด28เดือน/มีผลพ.ค.นี้หมายหัวเกรด B-

''ไทยพาณิชย์''บีบวัย50ออก ชงบอร์ดไฟเขียวจ่ายชดเชยสูงสุด28เดือน/มีผลพ.ค.นี้หมายหัวเกรด B-

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ใบโพธิ์เตรียมเปิดโครงการเกษียณก่อนอายุ พ.ค.นี้ เล็งชงบอร์ดพิจารณาจ่ายผลตอบแทนสูงสุดไม่เกิน 28 เดือน หมายหัวพนักงานเกรดต่ำกว่ามาตรฐานหรือบีลบลงไป อายุเกิน 50 ปี และอายุงานเกิน 10 ปีขึ้นไป คาดประมาณ 300-400 คน หลังจากเปิดโครงการให้พนักงานเคลียริ่งสมัครออกแต่ไม่เป็นผล เหตุจ่ายชดเชยไม่คุ้ม ขณะที่พนักงานโอดถูกกดดันเป้าหมายการทำงานมากขึ้น

ในขณะที่แนวโน้มการลดจำนวนพนักงานและลดการจ้างงาน กำลังกระทบในทุกธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่แม้จะยังทำกำไรได้ดีในปี 2551 แต่ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปรับลดจำนวนพนักงานลงแล้วระลอกหนึ่ง โดยมีแผนที่จะปรับลดพนักงานลงอีกเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง

แหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจว่า ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ระหว่างเตรียมจัดโครงการเกษียณก่อนอายุ ( Early Retire)หรือโครงการอีอาร์ สำหรับเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่มีผลงานอยู่ในระดับเกรด B- หรือต่ำกว่ามาตรฐาน (วัดผลจากคะแนน 1,200 คะแนน หากได้ต่ำกว่า 80% ถือว่าอยู่ในเกรดบีลบ) อายุ 50 ปีขึ้นไป และมีอายุการทำงานเกิน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300-400 คนที่น่าจะอยู่ในข่ายดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปจ่ายผลตอบแทนสูงสุดไม่เกิน 28 เดือน สำหรับผู้ที่แจ้งความจำนงและได้รับอนุมัติให้ออก

โดยปัจจุบันโครงการอีอาร์ยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคาร ซึ่งล่าสุด (17มี.ค.)ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้ง และคาดว่าจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่เดือนเมษายนโดยธนาคารเจตนาให้โครงการอีอาร์เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31พฤษภาคม 2552

ยกตัวอย่าง พนักงานอายุ 54ปี เหลืออายุงาน 6 ปีโดยคำนวณปีที่เหลือคูณผลตอบแทน 3 เดือนเท่ากับ 18 เดือน รวมกับค่าชดเชยตามกฎหมาย 10 เดือน ( ทำงานครบ 10 ปีได้รับค่าชดเชย 10 เดือน) บวกค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือนและค่าตกใจอีก 1เดือน)ซึ่งพนักงานจะได้รับค่าชดเชยเป็น 31เดือน แต่ธนาคารกำหนดจ่ายสูงสุดไม่เกิน 28เดือนเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่คุ้ม และพนักงานที่เข้าโครงการต้องรับภาระจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเองด้วย

โครงการอีอาร์ที่จะมีขึ้นนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ธนาคารอนุมัติให้พนักงานสำนักหักบัญชี(เคลียริ่ง)สมัครใจลาออก โดยจ่ายผลตอบแทน 23 เดือนบวกเงินสดอีก จำนวน 100,000 บาท โดยที่โครงการเคลียริ่งดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีพนักงานสมัครใจลาออกเพียง 4-5 คน ส่วนพนักงานที่เหลือยังทำงานอยู่กับธนาคารแม้ว่าประมาณ 40 คน จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนก็ตาม เนื่องจากหลายคนมองว่าค่าชดเชยที่ธนาคารจ่ายให้ไม่คุ้มกับระยะเวลาการทำงานที่ยังเหลือ

พนักงานที่ผลการประเมินอยู่ในระดับเกรดบีลบ ไม่ใช่ไม่มีศักยภาพเพียงแต่ทำงานในสาขาที่อยู่ในทำเลที่ตั้งไม่เอื้อต่อการหาลูกค้าหรือเสนอขายโปรดักต์ ขณะเดียวกันการวัดผลงานนั้นยังมีข้อจำกัดในการขายหลายๆ โปรดักต์ เช่น เงินฝากนิติบุคคลซึ่งมีจำนวนมากทางธนาคารจะไม่ให้นับเป็นตัววัดผลงานหรือเคพีไอหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า จากที่ธนาคารมีการจัดโครงการดังกล่าว ทำให้พนักงานหลายคนที่มีผลงานเกรดบีขึ้นไปหรือผลงานสูงกว่ามาตรฐานแสดงความสนใจที่จะเข้าโครงการ เพราะหลายคนถูกกดดันสูง จึงอยากให้คณะกรรมการของธนาคารเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนใช้สิทธิ์ แต่ในทางกลับกันก็ยังมีพนักงานอีกส่วนที่มองว่าผลตอบแทนสูงสุดไม่เกิน 28 เดือนนั้นไม่น่าจะคุ้มเพราะพนักงานที่สมัครใจลาออกจะต้องจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาเอง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทางธนาคารมีการปรับเกณฑ์ค่อนข้างจะกดดันพนักงานส่วนใหญ่ เช่น ผลประเมินจากตัวชี้วัดหรือKPI ที่กำหนดคะแนนไว้ 1,200 คะแนนโดยพนักงานต้องมีผลการทำงานเต็ม 100% จึงจะได้เกรด A+ กรณีทำงานได้เพียง 80% จากเกณฑ์ 1,200คะแนน พนักงานจะได้เกรด A- และพนักงานที่ทำงานไม่ถึง 80%ผลประเมินจะต่ำกว่ามาตรฐานหรือ B-

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารได้พิจารณาปรับเงินเดือนโดยพนักงานเคลียริ่งประมาณ 40 คนที่ไม่ได้รับการพิจารณาปรับเงินเดือน ส่วนพนักงานระดับผู้จัดการสาขามากกว่า 200 คน ได้รับการพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 500 บาท และเฉลี่ยการปรับเพิ่มเงินเดือนอยู่ที่อัตรา 200-300 บาทต่อคนเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook