8แบงก์รุมทึ้งปล่อยกู้รสก.2แสนล. สบน.จำกัดให้กู้เฉพาะหนี้สั้น/ฉุกเฉิน

8แบงก์รุมทึ้งปล่อยกู้รสก.2แสนล. สบน.จำกัดให้กู้เฉพาะหนี้สั้น/ฉุกเฉิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษก สบน. เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ถึงความคืบหน้าของแผนหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจตามแผนก่อหนี้ปี 2552 วงเงิน 200,000 ล้านบาท ว่า หลังจากที่กำหนดให้แต่ละธนาคารนำเสนอวงเงินปล่อยกู้พร้อมเงื่อนไขภายในวันที่ 13 มีนาคม ปรากฏว่ามีสถาบันการเงินที่ตอบรับการปล่อยเงินกู้กลับมา 8 แห่ง ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)

ทั้งนี้ สบน.จะนำข้อเสนอจากทุกสถาบันการเงินมาทบทวนรายละเอียดร่วมกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคมนี้ เพื่อหาข้อสรุปและรายละเอียดที่ถูกต้องตรงกัน โดยหลังจากที่ได้ข้อสรุปในรายละเอียดที่ชัดเจนของแต่ละสถาบันการเงินเรียบร้อยแล้ว จะนำข้อเสนอทั้งหมดมาพิจารณาว่าข้อเสนอของธนาคารใดน่าสนใจมากที่สุด โดยจะดูที่ใครเสนอราคาต่ำสุดเป็นหลัก ประกอบกับเงื่อนไขการค้ำประกัน อาทิ ค้ำทั้ง 100% ค้ำ 50% ค้ำ 25% หรือไม่ค้ำเลย เป็นต้น

วงเงินที่กำหนดไว้ที่ 200,000 ล้านบาท นั้น จะพิจารณาจากการคาดการณ์ว่ารัฐวิสาหกิจมีความจำเป็นในการกู้เงินในวงเงินนี้ แต่จะไม่เป็นการเพิ่มยอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะเป็นวงเงินกู้ที่กำหนดในแผนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะสามารถกู้เงินในวงเงินดังกล่าวได้ เพราะต้องอยู่บนเงื่อนไข เช่น ใช้บริหารหนี้ระยะสั้น และกู้กรณีฉุกเฉิน เป็นต้น สำหรับระยะเวลาการกู้เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 3 ปี แต่อาจต่อระยะเวลาได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว

สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในแผนการก่อหนี้นั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 18 แห่ง ซึ่งทุกรัฐวิสาหกิจจะถูกเรียงลำดับความต้องการใช้เงินเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะได้รับเงินไม่พร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่มีรัฐวิสาหกิจแห่งใดที่ต้องการเงินกู้แบบเร่งด่วน

อนึ่ง การปล่อยกู้ดังกล่าว กำหนดระยะเวลาโครงการ 3 ปี โดยที่ระยะเวลาเงินกู้ระยะสั้นดังกล่าวกระทรวงการคลังกำหนดไว้เกิน 18 เดือน มีเป้าหมายเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ชำระคืนเงินกู้เดิม เพื่อเป็นการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ นอกจากนั้น ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่กระทรวงการคลังในกรณีที่เกิดความเสี่ยงในการผิดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่เงื่อนไขการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าแผนบริหารหนี้มาก่อน

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจ 18 แห่ง ที่หน่วยงานที่อยู่ในแผนการก่อหนี้ ประกอบไปด้วย 1.การไฟฟ้านครหลวง 2.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 3.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4.การประปานครหลวง 5.การเคหะแห่งชาติ 6.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 7.การประปาส่วนภูมิภาค 8.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 9.การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย 10.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 11.บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 12.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด 13.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 14.กองทุนฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 15.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) 16.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 17.องค์การตลาดเพื่อการเกษตร และ 18.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่จะต้องเรียก 8 สถาบันการเงินที่ยื่นขอเสนอให้เงินกู้สำหรับโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเข้ามาชี้แจงรายละเอียดของการให้กู้เงินอีกครั้ง ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เพราะจากข้อเสนอที่สถาบันการเงินเสนอเข้ามา ยังมีข้อความในบางจุดที่มองว่ายังคลาดเคลื่อนอยู่ ดังนั้นจึงต้องเชิญมาทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรงกันสำหรับประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าวงเงินที่ทางสถาบันการเงินนำเสนอมาให้กู้นั้น น่าจะพอเพียงกับความต้องการใช้เงินทั้งหมดของโครงการลงทุนรัฐวิสาหกิจดังกล่าว นอกจากนี้ก็ยังไม่มีสถาบันการเงินใดที่ตอบปฏิเสธไม่ให้กู้กับรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการเฉพาะด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook