เครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ปรากฏในริ้วขบวน

เครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ปรากฏในริ้วขบวน

เครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ปรากฏในริ้วขบวน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในริ้วขบวนมีเครื่องสูงประกอบพระอิสริยยศที่สืบทอดคติความเชื่อเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ หรือพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์เมื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยมาเป็นเวลายาวนาน จนกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมราชประเพณีที่สำคัญของชาติ 

เครื่องประกอบพระอิสริยยศในริ้วขบวน จำแนกได้เป็นฉัตร เครื่องสูง ราชยาน ราชรถ รูปเทวดา และรูปสัตว์หิมพานต์ ทั้งที่ปรากฏในริ้วขบวนแห่พระศพที่มีมาแต่โบราณ และที่ประดับบนชั้นฐานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งสมควรที่จะกล่าวถึงต้นกำเนิดที่มาของคติความเชื่อและพัฒนาการในการนำมาประกอบในพระราชพิธีที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา เพื่อความเหมาะสมกับกลไกที่ก้าวหน้าแต่มิได้ละเลยถึงเอกลักษณ์ของราชสำนักไทย โดยในบทความนี้จะกล่าวถึง ฉัตร เครื่องสูงสำคัญสำหรับพระราชอิสริยยศและพระอิสริยยศ

เครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ปรากฏในริ้วขบวน

ฉัตร :  เครื่องสูงสำคัญสำหรับพระราชอิสริยยศและพระอิสริยยศ

ฉัตร เป็นเครื่องสูง มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ โดยชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง จัดเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้มีอำนาจ และเป็นเครื่องหมายมงคลที่สำคัญสิ่งหนึ่งตามคติความเชื่อของอินเดียโบราณว่าด้วยมงคล ๑๐๘ และในจีนจัดเป็นเครื่องหมายมงคลที่เนื่องในพระพุทธศาสนาสิ่งหนึ่งในมงคล ๘ 

ฉัตรเป็นเครื่องสูงที่ใช้ทั้งสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ กล่าวว่า ฉัตรพัฒนามาจากร่ม และร่มพัฒนามาจากใบบัวที่ใช้คลุมศีรษะกันสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เช่น แดด ฝน ต่อมาบุคคลสำคัญที่เป็นหัวหน้ามีผู้กางกั้นร่มให้ ร่มจึงใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงตนของผู้เป็นหัวหน้า เมื่อปรากฏในที่สาธารณะหรือผู้เป็นแม่ทัพนายกองในยามออกศึกสงคราม คำราชาศัพท์ของร่ม คือ กลด และคันหนึ่งมักมีเพียงชั้นเดียว สัญลักษณ์ดังกล่าวมีปรากฏมาแต่โบราณทั้งในอินเดีย อียิปต์ จีน และในเมื่อมีการรบกันระหว่างอาณาจักร แม่ทัพหรือกษัตริย์ผู้ชนะนิยมแสดงความยิ่งใหญ่ด้วยการยึดร่มของข้าศึกที่ตีได้ตามไปในกระบวนทัพของตน ถือว่าเป็นเกียรติยศยิ่งเมื่อในกระบวนแห่มีร่มจากเมืองต่าง ๆ จำนวนมาก

ต่อมาคติความเชื่อของอินเดียโบราณ โดยเฉพาะที่เนื่องในพระพุทธศาสนา ในเรื่องของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีชัยทั้ง ๘ ทิศ หรือ ๑๐ ทิศ ที่รวมชั้นสวรรค์และบาดาลไว้ด้วย เป็นความเชื่อที่ว่าทรงชนะในจักรวาล ดังนั้น ความเป็นพระจักรพรรดิที่แสดงด้วยจำนวนร่มนี้มีปรากฏมาแต่โบราณ ดังหลักฐานที่ปรากฏในศิลปกรรม อาทิ ภาพพระพุทธเจ้าหรือสัญลักษณ์แทนพระองค์ เช่น รอยพระพุทธบาท เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ หรือปรากฏพระองค์ ณ ที่ใดจะมีพระอินทร์กั้นกลดถวายเสมอ เช่น ภาพสลักที่สถูปสาญจี ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระจักรพรรดิแห่งโลกุตตรและจักรวาล พระสถูปของพระองค์จึงมีร่มหรือฉัตรซ้อนเป็นชั้น ๆ เรียกว่า ฉัตราวลี อยู่เหนือองค์สถูป ซึ่งไทยเราเรียกยอดสถูปเจดีย์ส่วนนี้ว่า ปล้องไฉน 

คติความเชื่อนี้ได้แพร่มาในประเทศไทยพร้อมการรับพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาสำหรับแผ่นดิน ดังปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ และไทยถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระจักรพรรดิ หมายถึงผู้ชนะศึก ทั้ง ๘ ทิศ จึงนำเอาร่มของเมืองขึ้นทั้ง ๘ ทิศ มารวมซ้อนเข้าด้วยกันเป็นชั้นๆ และเพิ่มทิศของตนเองอีก ๑ ทิศ รวมเป็น ๙ ทิศ และถือว่า สีขาวเป็นมงคลเรียกว่า ร่มสีขาวหรือเศวตฉัตร ฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพหรือพระจักรพรรดิ จึงมี ๙ ชั้น จัดเป็นเครื่องสูงที่มีความสำคัญสูงสุด เช่นเดียวกับพระมหามงกุฎ เศวตฉัตร ๙ ชั้น เรียกว่า นพปฏลมหาเศวตฉัตร  

มีหลักฐานว่าไทยเราใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ดังปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ฉบับศักราช ๗๒๐ หรือ พ.ศ. ๑๙๐๑ ซึ่งฉัตรในครั้งนั้นเรียกว่า อภิรม เจ้านายซึ่งดำรงพระยศหรือตำแหน่ง หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าได้อภิรม ๓ ชั้น พระอุปราชได้อภิรม ๒ ชั้น ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีฉัตร ๔ ชนิด คือ ฉัตรขาวหรือเศวตฉัตร ฉัตรขาวลายทอง ฉัตรตาด และฉัตรโหมด การใช้จำนวนชั้นของฉัตร เป็นการแสดงพระราชอิสริยยศด้วย วิธีการใช้มีทั้งการแขวนและการปักตั้ง 

เศวตฉัตร ๙ ชั้น 

เศวตฉัตร ๙ ชั้น ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว เรียกว่า พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เรียกอย่างย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร ลักษณะเป็นฉัตรผ้าขาว ๙ ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน ๓ ชั้น ฉัตรชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง เศวตฉัตรแบบนี้ใช้แขวนหรือปักในสถานที่และโอกาสต่าง ๆ คือ

- ใช้ปักเหนือราชบัลลังก์ในท้องพระโรง พระมหาปราสาทราชมณเฑียรสถาน

- ในรัชกาลที่ ๙ ใช้ปักเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐเมื่อครั้งทรงรับพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

- ใช้แขวนเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ภายในพระมหามณเฑียร

- ใช้แขวนเหนือพระบรมโกศทรงพระบรมศพ ณ ที่ประดิษฐานพระบรมศพ

- ใช้ปักยอดพระเมรุมาศ

-ใช้ปักบนพระยานมาศสามลำคานในการเชิญพระบรมศพโดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

-ใชัปักเหนือเกรินขณะเชิญพระบรมโกศพระบรมศพขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ และเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุมาศ

-ใช้แขวนเหนือพระจิตกาธานเมื่อสุมเพลิงและเก็บพระบรมอัฐิ

นพปฎลมหาเศวตฉัตร ประดิษฐานเหนือพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุกภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ฉัตรพิเศษสำหรับการพระบรมศพ

นอกจากพระเศวตฉัตร หรือฉัตรผ้าขาว ที่กล่าวแล้ว แต่โบราณราชประเพณี ยังมีฉัตรที่ใช้สำหรับพระบรมศพ คือฉัตรปักประดับยอดพระโกศพระบรมอัฐิ (ทั้งนี้เนื่องจากยอดพระโกศปกติเป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ เมื่อเชิญออกจากที่ประดิษฐานจึงถอดพุ่มข้าวบิณฑ์ออก ถวายฉัตรแทน) กับฉัตรสำหรับปักพระเบญจา ที่ประดิษฐานพระบรมศพด้วย ซึ่งฉัตรปักประดับยอดพระโกศพระบรมอัฐิเป็นฉัตรทองคำจำลองรูปทรงจากฉัตรที่ใช้ปักหรือแขวนแสดงพระอิสริยยศ

ลักษณะของฉัตรปักประดับยอดพระโกศ สำหรับพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ ลักษณะเป็นฉัตรทองคำลงยา ๙ ชั้น องค์ฉัตรเป็นลายสลักโปร่ง ภายในบุผ้าขาว

ฉัตรปักพระเบญจา

พระเบญจา เป็นพระแท่นสำหรับตั้งเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระโกศพระบรมอัฐิ ซึ่งที่มุมพระเบญจาจัดตั้งฉัตรทองทรงกระบอกลายสลักโปร่ง  ๕ ชั้น เรียกว่า ฉัตรปักพระเบญจา หนึ่งสำรับ มี ๘ องค์ ตั้งแต่งมุมพระเบญจา ทั้ง ๔ มุม

ฉัตรสำคัญประเภทอื่น สำหรับตั้งในพิธีหรือเชิญเข้าขบวนแห่เป็นเกียรติยศ

นอกจากพระเศวตฉัตรแล้ว ยังมีฉัตรที่ใช้จัดตั้งในการพิธีหรือเชิญในขบวนแห่เป็นเกียรติยศแต่โบราณ ได้แก่ ฉัตรราชวัติ

ฉัตรราชวัติ

เป็นฉัตรสีต่าง ๆ ที่เป็นแม่สี เดิมเรียกว่า ฉัตรเบญจรงค์ ใช้ปักรั้วราชวัติเป็นระยะประกอบกับฉัตรทอง ฉัตรเงิน ฉัตรนาก ฉัตรราชวัติมีกี่ชั้นสุดแต่ความสำคัญของงานพระมหากษัตริย์ ราชวัติมุมพระมณฑป พระกระยาสนานและราชวัติพระเมรุมาศจะใช้ฉัตร ๗ ชั้น พระราชวงศ์ชั้นสูง ราชวัติใช้ฉัตร ๕ ชั้นชนิดเดียว หรือใช้ฉัตร ๗ ชั้นและฉัตร ๕ ชั้น มีระบายชั้นเดียวมีรูปทรงเหมือนฉัตรเครื่องสูงบ้าง ทำเป็นรูปทรงกระบอกบ้าง ทำเป็นฉัตรระบายกลีบบัวบ้าง และมีทำด้วยโลหะสลักโปร่ง 

อย่างไรก็ดีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ หรือพระอิสริยยศ ประเภทเครื่องสูงยังมีที่ควรทราบ ได้แก่ บังพระสูริย์ บังแทรก จามร ซึ่งมีการตกแต่งเป็น ๒ แบบ ทั้งแบบปักหักทองขวาง และแบบทองแผ่ลวด ใช้เชิญไปในขบวนเพื่อกันแดดที่ร้อนจัด นอกจากเป็นเครื่องสูงเทิดพระเกียรติตามพระอิสริยศักดิ์ เช่นเดียวกับพัดโบก ที่ทำจากใบตาลตกแต่งให้งดงาม ใช้สำหรับรำเพยพัดให้มีลมเย็นสบาย

พุ่มดอกไม้เงินและพุ่มดอกไม้ทอง คล้ายกับพุ่มมยุรฉัตร ที่อินทร์ พรหม เชิญเป็นริ้วสองข้างของขบวนแห่ จัดเป็นเครื่องสูงที่สมมติเป็นพุ่มดอกไม้จากสวรรค์ ใช้ได้ทั้งในพระราชพิธีมงคลและอวมงคล แต่พุ่มมยุรฉัตรนั้นใช้เฉพาะในงานมงคล เช่น พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook