พบรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแก้ปัญหาวัตถุอันตรายส่อเค้าความไม่ชอบมาพากลเอื้อให้ภาคธุรกิจสารเคมี

พบรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแก้ปัญหาวัตถุอันตรายส่อเค้าความไม่ชอบมาพากลเอื้อให้ภาคธุรกิจสารเคมี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มีหนังสือเวียนขอความเห็นรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น ส่อเค้าความไม่ชอบมาพากล แต่งตั้งผู้แทนจากองค์กรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเป็นกรรมการ ชี้ต่อไปจะเอื้อให้ภาคธุรกิจสารเคมีมากกว่าการคำนึงถึงความปลอดภัย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการสรรหาคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอรายชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒินั้น ล่าสุดมีการทำหนังสือเวียนขอความเห็นเกี่ยวกับรายชื่อของผู้ทรงคุณวุฒิไปยังองค์การสาธารณประโยชน์ ซึ่งต้องมีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม

จากรายชื่อที่เสนอในหนังสือเวียน ส่อเค้าความไม่ชอบมาพากล เพราะมีการแต่งตั้งผู้แทนจากองค์กรที่มีผลประโยชน์เข้ามาเป็นกรรมการในสัดส่วนขององค์กรสาธารณประโยชน์ เช่น ผู้แทนจากสมาคมอารักขาพืช ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ประกอบกิจการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น เชื่อว่าการเสนอชื่อตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น มาจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผู้บริหารของกรมมีความใกล้ชิดกับธุรกิจเคมีเกษตรเป็นพิเศษ หากแต่งตั้งจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกลุ่มธุรกิจเคมีเกษตรจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกติกาในการใช้และควบคุมสารเคมี นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมควรมาจากองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี หรือระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ มูลนิธิเกษตรกรรมธรรมชาติ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ฯลฯ การกระทำของกรมวิชาการเกษตรครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอายครั้งที่ 2 หลังจากที่ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนเกิดการต่อต้านจากคนไทยทั้งประเทศ

ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไปจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจสารเคมีมากกว่าการคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าวถึงกรณีที่กรมศุลกากรไม่สามารถเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีนำเข้าสารซัลเฟอร์ว่า กรมศุลกากรจะตรวจสอบการนำเข้าสารต่างๆ ตามใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการไปขอมาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก อีกทั้งการนำเข้าสารซัลเฟอร์ไม่ได้เข้ามาในรูปของสารซัลเฟอร์โดยตรง แต่จะนำเข้าในรูปของสารชื่ออื่นที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ ผู้ประกอบการจึงไม่ทราบว่าจะต้องเสียภาษีตามระเบียบใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมศุลฯค่อนข้างเห็นใจผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศให้สารดังกล่าวเป็นวัตถุอันตราย เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบและพบว่ามีการนำเข้าสารชนิดนี้ทำให้ต้องเสียค่าปรับภาษีและค่าปรับตามมูลค่าสินค้าที่มีส่วนผสมของสารซัลเฟอร์ ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการดูแลตัวเองและขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง เท่าที่ดูขณะนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากมีรางวัลนำจับ ทำให้คนสนใจเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นผลจากผู้ประกอบการรู้เรื่องการกำหนดให้สารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตรายไม่ทั่วถึง ส่งผลให้มีบางรายยังนำเข้าตามปกติ เมื่อดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบย้อนหลัง จึงพบว่ามีผู้ประกอบการนำเข้าสารวัตถุอันตราย เราค่อนข้างเห็นใจ แม้ว่าผู้ประกอบการจะทำผิดกฎหมายจริง แต่ควรประกาศล่วงหน้าและให้เวลาผู้ประกอบการในการขอใบอนุญาตใหม่ แหล่งข่าวกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook