ยลโฉมสถานีกลางบางซื่อ ทุ่ม 2 หมื่น ล.เนรมิตที่ดิน 487 ไร่ รับรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน-รังสิต

ยลโฉมสถานีกลางบางซื่อ ทุ่ม 2 หมื่น ล.เนรมิตที่ดิน 487 ไร่ รับรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน-รังสิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4090

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

เมื่อรัฐบาล มาร์ค 1 เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร เงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนึ่งในสัญญางานก่อสร้างจะมีงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อรวมอยู่ด้วย ใช้เงินก่อสร้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท

สถานีกลางบางซื่อ ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,172.6 ไร่ หรือ 1,876,160 ตร.ม. ไม่รวมพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 ประกอบด้วยพื้นที่กิจกรรมที่การรถไฟฯ ใช้อยู่เดิม โดยจะไม่มีการรื้อย้ายประมาณ 685.6 ไร่ หรือ 1,096.960 ตร.ม. และพื้นที่ที่นำมาใช้ออกแบบก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อประมาณ 487 ไร่ หรือ 779,200 ตร.ม. หรือประมาณ 41.5% ของพื้นที่ทั้งหมด

ภายในสถานีประกอบด้วยอาคาร สถานีบางซื่อ 79,840 ตร.ม. หรือ 49.9 ไร่ ถนนในบริเวณย่านสถานี 65,600 ตร.ม. หรือ 41 ไร่ ลานจอดรถไฟทางไกล 288,640 ตร.ม. หรือ 180.4 ไร่ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง 198,040 ตร.ม. หรือ 123.8 ไร่ ลานจอดแท็กซี่ 10,240 ตร.ม. หรือ 6.4 ไร่ ภูมิสถาปัตยกรรม 47,200 ตร.ม. หรือ 29.5 ไร่

ในอนาคตสถานีกลางบางซื่อบริเวณ ชุมทางบางซื่อ ถนนเทอดดำริ จะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนและ โครงข่ายการคมนาคมสำคัญๆ จำนวนมาก จึงถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งมวลชนระบบราง โดยบริเวณโดยรอบสถานีบางซื่อ มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ หลากหลาย เช่น สถานีขนส่งมวลชนทั้งในระบบรางและถนน สวนสาธารณะ พื้นที่พาณิชยกรรม ชุมชนพักอาศัย เป็นต้น

รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระบบการจราจร ที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนหลัก เช่น ถนนพหลโยธิน วิภาวดีรังสิต จุดขึ้น-ลงทางด่วนขั้นที่ 2 รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟสายเหนือ และสายตะวันตก

ด้วยความหนาแน่นของผู้มาใช้บริการ รูปแบบโครงสร้างสถานีมี 3 ชั้น และ ชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น มุ่งเน้นให้สามารถรองรับคนได้จำนวนมากพิเศษ นอกเหนือจากความสวยงามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยรูปทรงโค้งแบบร่วมสมัยเหมือนกับสถานีหัวลำโพงแล้ว ยังเน้นในเรื่อง ความสะดวกสบายและประหยัดเวลา เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมการเดินทางยังจุดหมายปลายทางได้ง่าย โครงสร้างอาคารไม่ซับซ้อน ดูแลรักษาง่าย วัสดุที่ใช้ มีความทนถาวร ผนังอาคารชั้นชานชาลา ทั้ง 2 ชั้นเปิดโล่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและรับแสงสว่างจากภายนอก

พื้นที่ใช้สอยมีทั้งหมด 4 ชั้น ทุกชั้น เชื่อมต่อถึงกันด้วยระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน ประกอบด้วย 1.ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่ ที่จอดรถประมาณ 1,700 คัน และที่ตั้ง ของห้องเครื่องสำหรับงานระบบอาคาร และเป็นพื้นที่ทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าใต้ดิน

2.ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารและชั้นลอย เป็นพื้นที่หลักของอาคารสถานีกลางบางซื่อ จะแบ่งเป็นสัดส่วน มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร สำหรับผู้โดยสารขาเข้าและผู้ใช้อาคารที่เดินทางเข้ามาในตัวอาคาร มีส่วนโถงพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า ส่วนพื้นที่ชั้นลอย จะอยู่เหนือโถงพักคอย สำหรับต้อนรับบุคคลสำคัญ มีพื้นที่ พาณิชยกรรมและร้านค้า

3.ชั้นชานชาลารถไฟทางไกล เป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้โดยสารทางไกล มีทั้งหมด 6 ชานชาลา ระดับสูงกว่าพื้นชั้นจำหน่าย ตั๋วโดยสาร 9 เมตร 4.ชั้นชานชาลารถไฟชานเมือง เป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้โดยสารรถไฟชานเมือง มีทั้งหมด 2 ชานชาลา อยู่สูงกว่าชั้นจำหน่ายตั๋ว 19 เมตร

แผนงานก่อสร้างจะแยกออกมาจากสัญญางานโครงสร้างรถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นอีก 1 สัญญา ซึ่งขอบเขตงานก่อสร้างจะมีงานอาคารสถานีรถไฟ 2 สถานี คืออาคารสถานีกลางบางซื่อ และอาคารสถานีจตุจักร งานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 6 กิโลเมตร อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมืองและอาคารแวดล้อม อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกลและอาคารแวดล้อม

ด้วยศักยภาพของพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีกลางบางซื่อ ที่ปัจจุบันถือได้ว่าอยู่ในทำเลใจกลางเมือง และเป็นจุดศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมหลายระบบอยู่แล้วบูมขึ้นอีกหลายเท่าตัว ที่น่าจับตามองคือเมื่อเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐเป็นจริงขึ้นมา ก็น่าจะดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการรองรับการเติบโตของเมืองด้วย หน้า 9

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook