เบื้องหลัง "เสด็จสู่แดนสรวงฯ" หนังสือที่เปลี่ยนความเศร้าให้กลายเป็นพลัง

เบื้องหลัง "เสด็จสู่แดนสรวงฯ" หนังสือที่เปลี่ยนความเศร้าให้กลายเป็นพลัง

เบื้องหลัง "เสด็จสู่แดนสรวงฯ" หนังสือที่เปลี่ยนความเศร้าให้กลายเป็นพลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 คือแรงผลักดันที่ทำให้ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริเริ่มความคิดในการจัดทำหนังสือ "เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ" ด้วยเห็นว่าเรื่องพระเมรุมาศนั้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมได้มาก ทั้งยังมองว่าในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรายงานเรื่องพระราชพิธี พระบรมศพ และการจัดสร้างพระเมรุมาศ ออกมาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดหายไปน่าจะเป็นเรื่องของงานวิชาการ เขาจึงอยากช่วยเติมเต็มให้สังคมด้วยการทำหนังสือวิชาการออกมาสักเล่ม

21368951_1502798176433512_857

เมื่อเกิดความคิดนี้ในช่วงที่อยู่ระหว่างการลาศึกษาต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ เขาจึงปรึกษา ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นจึงเริ่มติดต่ออาจารย์และนักวิชาการที่มีความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง จนได้นักวิชาการที่มีความสามารถมาช่วยเขียนหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด 19 คน โดยตัวเขารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

อาจารย์พิพัฒน์เปิดเผยว่า การทำหนังสือเล่มนี้เป็นงานยาก เพราะงานพระเมรุมาศเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทำให้มีเนื้อหามากมาย การจัดการเนื้อหาจึงมีความซับซ้อน เพราะนอกจากจะเล่าถึง 2 เรื่องหลัก อย่างเรื่องของพระบรมศพและพระเมรุมาศซึ่งเป็นส่วนของพระราชประเพณีแล้ว ยังมีเรื่องราวในมุมมองของนักวิชาการที่บอกถึงรากทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ รวมถึงที่มาที่ไปของประเพณีที่จัดในปัจจุบันว่า มีปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาอย่างไร

อีกโจทย์ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ง่ายคือ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่ช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อมีการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้หนังสือเล่มนี้ต้องอาศัยนักวิชาการที่มีความเข้าใจในเชิงลึกมาร่วมเขียน และใช้เวลาเกือบ 1 ปีในการจัดทำ

21231085_1647129051983988_167

นอกจากนี้ อาจารย์พิพัฒน์ยังกล่าวถึงมุมมองของนักวิชาการที่อยากเห็นหนังสือที่แตกต่างออกไปว่า "ตอนนี้หนังสือส่วนใหญ่ออกมาในเรื่องของพระราชกรณียกิจเป็นลักษณะเชิงรายงานว่า พระองค์ทรงงานอะไรในอดีต แต่ยังไม่มีหนังสือที่วิเคราะห์พระราชดำริ พวกเราไม่เคยครุ่นคิดว่า ประเทศของเราเกิดอะไรขึ้น ทำไมพระราชาต้องทรงงานเพื่อพวกเรามากมาย ตอนนั้นประเทศแย่ขนาดไหน วิกฤตขนาดนั้นเลยใช่ไหม มันเกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างระดับรัฐ ถ้ามันไม่มีปัญหาในระบบของรัฐ พระองค์อาจจะไม่ต้องทรงงานหนัก จนต้องมีโครงการพระราชดำริจำนวนมาก แน่นอนว่าโครงการพระราชดำริเป็นการเข้ามาเติมเต็มให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การเติมเต็มนั้นหมายความว่ามันขาดมาก่อน"

12247020_1202869193063074_674_1

อาจารย์พิพัฒน์ยังกล่าวอีกว่า "การสัมภาษณ์ผมคงไม่เหมือนคนอื่น ผมมองในเรื่องประโยชน์นิยมด้วย นอกจากพูดถึงความเสียใจ เราต้องพูดถึงปัจจุบัน และมองไปถึงอนาคต อย่างหนังสือเสด็จสู่แดนสรวงฯ เล่มนี้ เราทำเพื่อให้เป็นประโยชน์ในทางสังคม นักเรียนใช้อ้างอิงได้ ทุกคนที่เขียนไม่ได้เขียนแบบเล่า แต่เป็นการอ้างอิงเชิงวิชาการ สามารถนำไปค้นคว้าต่อได้"

ก่อนหน้าที่จะมาประจำที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์พิพัฒน์เคยทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในภาคเหนือมาก่อน ช่วงนั้นเองที่ทำให้เขาเกิดความประทับใจและได้แรงบันดาลใจการโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะได้เห็นด้วยตัวเองว่า โครงการหลวงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวเขาได้ลืมตาอ้าปาก และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรัฐบาลในตอนนั้นไม่ได้มีนโยบายหาอาชีพให้ชาวเขา แต่จะเน้นที่นโยบายสร้างนิคมและปราบปรามคอมมิวนิสต์มากกว่า

 

10940535_10153233300815348_13

 

หนังสือ "เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ" พิมพ์แจกฟรี 20,000 เล่ม ให้ประชาชนทั่วไปและโรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้อยังเผยแพร่ในรูปแบบไฟล์ดิจิตอล หรือ PDF เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึง ผู้ที่สนใจสามารถอ่านได้ ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook