4 เพลงพระราชนิพนธ์ ในขบวนพระบรมราชพระอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 1

4 เพลงพระราชนิพนธ์ ในขบวนพระบรมราชพระอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 1

4 เพลงพระราชนิพนธ์ ในขบวนพระบรมราชพระอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมโกศไปพระเมรุมาศ ริ้วขบวนที่ 1

เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์จากนั้นใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีจัดกำลังพล 965 นาย

ในขบวนพระบรมราชพระอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 1 ใช้เพลงพระราชนิพนธ์ 4 เพลง คือ มาร์ชธงไชยเฉลิมพล มาร์ชราชวัลลภ ใกล้รุ่ง ยามเย็น 

เพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 17 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2475 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ

เพลงมาร์ชราชวัลลภ  เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2471 ชื่อ "ราชวัลลภ" และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้อง ในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า "มาร์ชราชวัลลภ" (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. 2475

เพลงใกล้รุ่ง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ พระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลงครั้งแรก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489

เพลงยามเย็น  เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. 2489 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำร้องสมบูรณ์ทั้งสองภาษาให้ นายเอื้อ สุนทรสนาน นำไปให้ นายบิลลี่ หรือ นายคีติ คีตากร นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นนักดนตรีในวงดนตรีสุนทราภรณ์เรียบเรียงเสียงประสานจนสมบูรณ์จึงได้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook