มองสถานะของ “พระเมรุมาศ” ผ่านดรามา “ถ่ายรูปชูสองนิ้ว”

มองสถานะของ “พระเมรุมาศ” ผ่านดรามา “ถ่ายรูปชูสองนิ้ว”

มองสถานะของ “พระเมรุมาศ” ผ่านดรามา “ถ่ายรูปชูสองนิ้ว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่การทดลองเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างอิสระ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ก็มีกระแสดรามาในโลกออนไลน์ตามมาหลายประเด็น โดยเฉพาะการปฏิบัติตนในการเข้าชมพระเมรุมาศ ซึ่งแม้ว่าจะมีการกำหนดกฎกติกาในการเข้าชมไว้แล้ว แต่ก็ยังมีภาพความไม่เหมาะสมออกมาในโลกออนไลน์ นับตั้งแต่กรณีนักศึกษาหญิง 2 คน ที่ถ่ายภาพ “ชูสองนิ้ว” ผู้เข้าชมงานบางกลุ่มที่สัมผัสประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ และหยิบเม็ดดินติดตัวกลับไปด้วย ไปจนถึงกรณีบัณฑิตและช่างภาพที่ต้องการเข้าไปถ่ายภาพรับปริญญาบริเวณพระเมรุมาศ ที่สุดท้ายก็ถูกโลกโซเชียลโจมตีอย่างรุนแรง

 บิ๊กเกรียน

อย่างไรก็ตาม กรณีดรามาเรื่องการปฏิบัติตัวในการเข้าชมพระเมรุมาศ ก็สะท้อนบางอย่างที่น่าสนใจโดยเฉพาะ “ความเปลี่ยนแปลง” ของสถานะของพระเมรุมาศ จากการเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ไปสู่สถานที่เพื่อการระลึกถึง และผู้ที่ “จับสัญญาณ” การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ก็คือ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรณาธิการหนังสือ “เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ” ว่าด้วยเรื่องราวความเป็นมาและพัฒนาการของพระเมรุมาศในอดีตจนถึงปัจจุบัน

 ผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์Pipad Krajaejunผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

ความสำคัญของพระเมรุมาศในอดีตคืออะไร
คำอธิบายที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือสถานที่สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพของเจ้านายหรือของพระมหากษัตริย์ในอดีต สาเหตุของการสร้างก็มาจากคติความเชื่อที่ว่ากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์เป็นสมมติเทพและเทวราชา เพราะฉะนั้น การทำงานศพก็ย่อมจะต้องมีพิธีหรือความเชื่อที่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป การสร้างพระเมรุจึงเต็มไปด้วยเรื่องของคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู แล้วก็มีศาสนาพุทธผสมกลมกลืนกันไป ถ้ามองในแง่มุมหนึ่งก็เป็นเรื่องของการสร้างสถานะของชนชั้นทางสังคมเช่นกัน เพราะสมัยก่อน เมรุไม่ได้อนุญาตให้ใช้กับสามัญชนทั่วไป

แสดงว่าเมรุในสมัยก่อนก็ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใช่หรือไม่
เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ครับ เพราะว่าใช้สำหรับส่งเสด็จผู้ที่มีบุญ เป็นเทพมาจุติ และส่งเพื่อให้กลับสู่สรวงสวรรค์ เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไปในตัว

 Pipad Krajaejun

จากสเตตัสในเฟซบุ๊กของอาจารย์ อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความเรื่องพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่กลายเป็นสถานที่เพื่อการระลึกถึง
เนื่องด้วยสมัยก่อน พอเสร็จพระราชพิธีก็จะรื้อพระเมรุออก ไม่ได้ตั้งไว้ให้ประชาชนทั่วไปมาดู ผมไม่แน่ใจว่าการที่ให้ประชาชนเข้ามาดูพระเมรุเริ่มต้นเมื่อไร แต่ในความทรงจำของผมคืองานพระเมรุสมเด็จย่า ที่หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ก็ยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมประมาณ 1 เดือน ตอนนั้นผมก็ไปดู แล้วเราก็จะมีความรู้สึกระคนกันไปว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสถานที่ที่เหมือนโบราณสถานหรือสถานที่ท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง แล้วก็ไปเพื่อจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เพราะฉะนั้นก็เหมือนเป็น Site of Memoir หรือสถานที่เพื่อการระลึกถึงของคนในสังคมไปพร้อมๆ กัน

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในไทยแทบทุกที่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เริ่มถูกแปลงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้เราเข้าไปดูประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือคุณงามความดี ซึ่งก็ผสมไปกับเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา เราจะสังเกตได้ว่าคนจะเริ่มถ่ายรูปกับวัดหรือโบราณสถาน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของวัดร่องขุ่น ซึ่งโดยสถานะก็เป็นวัดนั่นแหละ แต่โดยความรู้สึกของคน เราก็รู้สึกว่าเป็นศิลปวัตถุนะ เพราะฉะนั้นมันก็มีความก้ำกึ่งกันระหว่างความศักดิ์สิทธิ์กับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงอาจจะเป็นเรื่องปกติที่เราจะวางตัวไม่ถูกกับการที่ไปในสถานที่ที่มีความหมายหลายอย่างปนกัน คราวนี้เด็กที่ไปถ่ายรูปชูสองนิ้ว อาจจะด้วยความไม่รู้ประสาหรืออาจจะไม่เข้าใจบริบททางสังคมมากพอ พอไปถ่ายรูปก็ใช้ความคุ้นเคยกับการไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก แล้วก็ชูสองนิ้วกันไป

 Gettyimages

ถ้าเรามองปลายทางที่สุด ไม่ว่าจะถ่ายรูปด้วยท่าทางแบบใดก็ตาม สิ่งที่ทุกคนคิดเหมือนกันก็คือ เรากำลังถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึก ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าแต่ละคนมีการตีความต่อตัวโบราณสถานหรือตัวสถานที่แตกต่างกัน เพราะว่าประสบการณ์แตกต่างกัน บางคนอาจจะทำท่าทางที่สำรวมเรียบร้อยด้วยความเคารพ บางคนไปถ่ายรูปหมู่ บางคนก็ไปยิ้มถ่ายรูป แต่ปลายทางเหมือนกันหมดเลยคือไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกสักครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยแนวคิดว่านี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ที่ต้องการมาแสดงการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ หรือมองในฐานะศิลปวัตถุ เราได้มาในพื้นที่ที่ถือเป็นสุดยอดงานศิลปะไทยที่แสดงออกในยุคนี้

อาจารย์คิดอย่างไรกับการโจมตีอย่างรุนแรงจากชาวเน็ตที่ี่มีต่อกรณีนี้
ปัญหามันอยู่ที่ว่าสังคมไทยเสียระเบียบเรื่องบรรทัดฐานทางสังคม เพราะฉะนั้น เด็กก็ไม่รู้ว่าบรรทัดฐานที่ดีในการไปสถานที่แห่งนี้คืออะไร แต่ว่าต้องเข้าใจว่าพระเมรุไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นก็ทำให้วางตัวลำบาก อย่างงานพระเมรุครั้งล่าสุดนี้ ทุกคนเกร็งหมดเลย เพราะว่าเป็นงานใหญ่ ฉะนั้น ทุกคนก็ให้อภัยกันน่าจะดี อีกส่วนหนึ่ง ในสังคมที่บรรทัดฐานทางสังคมเสีย ทุกคนพยายามสร้างตัวเองเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคน มีทั้งตักเตือนด้วยความหวังดี บางทีตักเตือนแล้วมันเกินขอบเขตของความหวังดีไปนิดหนึ่ง ก็อาจจะทำให้คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้องใช้ชีวิตลำบาก อันนี้ก็น่าเห็นใจ

 Gettyimages

สังคมไทยต้องพยายามสร้างบรรทัดฐานทางสังคมในลักษณะที่มองอะไรให้เป็นแง่บวกมากขึ้น ที่ผมโพสต์เพราะอยากให้เห็นว่าที่จริงความหมายมันเคลื่อนจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นพื้นที่เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์บางอย่าง และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย เราต้องเข้าใจว่าโบราณสถานทุกที่ หรือว่าอาคารที่เป็นอนุสาวรีย์ทั้งหลายมันมีการเปลี่ยนแปลงความหมายได้ เพราะฉะนั้น การที่คนเราจะวางตัวไม่ถูก เพราะเรามีปัญหาเรื่องบรรทัดฐานทางสังคม และเหตุการณ์ที่เราเพิ่งเจอก็เป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นที เราไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไร เพราะฉะนั้น ผมว่าเราก็ต้องพยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของความหมายเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น

ที่อาจารย์บอกว่าบรรทัดฐานทางสังคมของไทยเสีย คือไม่มีหลักการตรงกลางให้ทุกคนปฏิบัติร่วมกันใช่หรือไม่
ใช่ เพราะหนึ่ง เราเป็นสังคมที่มีชนชั้นอยู่ ดังนั้นอะไรที่เป็นตรงกลางจะเกิดขึ้นได้ยาก สองคือหลายอย่างตัดสินกันด้วยศีลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังคมเราตอนนี้ก็เลยมีปัญหา เป็นสังคมที่ไม่ได้ใช้กฎหมายเหนือศีลธรรม หรือไม่ได้ใช้บรรทัดฐานที่ลากเส้นไว้ดีๆ สำหรับการตัดสินปัญหา

บางคนไม่รู้ว่าไม่เหมาะ เด็กบางคนชินกับการไปโบราณสถานหลายๆ ที่ ก็โพสท่าแบบนี้ พอเปลี่ยนสถานที่แล้วก็ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ก็ทำตัวเหมือนกับที่เคยไปโบราณสถาน ไปวัด แล้วก็ถ่ายรูปทำนองนี้ได้ ก็ตักเตือนกันไป ว่าแบบนี้มันไม่เหมาะสมนะ ควรจะยืนในท่าสุภาพเรียบร้อยอย่างไร ก็ต้องบอก

Gettyimages

ถ้าผู้จัดงานระบุอย่างชัดเจนว่าที่เปิดพระเมรุมาศให้เข้าชมในฐานะสถานที่แบบใด จะช่วยให้คนเข้าใจง่ายขึ้นและวางตัวง่ายกว่านี้หรือเปล่า

ผมว่านิยามที่ดีที่สุดน่าจะเป็นสถานที่ที่สะท้อนรากทางวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่อดีต สืบเนื่องถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมของสถาบันกษัตริย์ เหมือน Cultural Heritage Monument อะไรอย่างนี้ เป็นโบราณสถานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ปัญหาจะไม่เกิดหรอกครับถ้าหน่วยงานที่จัดการพื้นที่พระเมรุจะประกาศเพื่อให้คนเข้าใจตรงกันว่าพฤติกรรมที่ควรต้องทำมีอะไรบ้าง ที่จริงผมรู้มาว่าเขาก็มีประกาศนะ แต่ในทางปฏิบัติมันล้มเหลว ไม่ใช่เพราะตัวหน่วยงาน แต่เป็นปัญหาที่ปัจเจกบุคคลมากกว่า ที่บางคนเชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ

 Gettyimages

งานแบบนี้ส่วนใหญ่ก็จะถือเป็นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมความเชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่าเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็อาจจะกลายเป็นการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าซึ่งถือว่าเป็นการลดทอนคุณค่าแบบหนึ่ง แต่ถ้าเรามองว่าการแปลงแบบนี้เพื่อให้คนเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมได้มากขึ้น และทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นรากทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี อาจจะไม่ต้องประกาศว่าตัวพระเมรุคืออะไร แต่บอกว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ท่าทางการถ่ายรูปที่สำรวมควรจะเป็นอย่างไร เวลาไปถึงพระเมรุควรจะคุยกันไหม ต้องใช้ความเงียบ การถ่ายรูปไม่ควรจะนานเกินเท่าไร มีข้อปฏิบัติแบบนี้ ที่จริงคนไทยให้ความร่วมมือนะ สังเกตได้จากการที่งานพระบรมศพจัดเป็นปี คนก็เป็นระเบียบกัน ที่จริงเราสามารถปฏิบัติอะไรแบบนี้ได้ เพียงแต่ว่าต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการอธิบายสิ่งต่างๆ

วิธีการแก้ปัญหาของผู้จัดงาน ที่ปิดไม่ให้เข้าชมพระเมรุในชั้นที่ 1 และ 2 อาจารย์มองว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะมีชาวเน็ตบางคนมองว่าผู้ที่ประพฤติไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนอดขึ้นไปชมพระเมรุ
ที่จริงมีอยู่ 2 แบบ คือให้ขึ้นได้ แต่ควรมีเส้นบอกเลยว่าจะเดินไปอย่างไร แล้วก็เวียนออก มิฉะนั้นทุกคนก็จะจับราวระเบียง ต้องมีการจัดการที่ดีก่อนที่จะเปิดให้ขึ้น อีกแบบหนึ่งก็คือจำกัดคนขึ้นตามรอบ ตัวอย่างเช่น พระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่จำกัดจำนวน เพราะว่าอาคารที่ก่อสร้างด้วยไม้มีศักยภาพจำกัดในการรองรับจำนวนคน เพราะฉะนั้น การปล่อยให้คน 150,000 คน ขึ้นไป ก็มีความเสียหายเกิดขึ้นได้

ถามว่าเดินข้างล่างดีหรือเปล่า ก็ดี เพราะเรามองว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย เป็นโบราณสถานที่ควรถนอมไว้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงสั้นๆ ก็ตาม การเดินพื้นด้านล่างก็ถือว่าเหมาะสม ถ้าจะให้ขึ้นข้างบนก็ต้องมีแนวทางในการจัดการที่ดี

 Gettyimages

นอกจากนี้ ใน 30 วันที่เปิดให้เข้าชม มีคนจำนวนหยิบมือเองที่ได้เข้าชม สิ่งสำคัญก็คือต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาเพื่อทำภาพสามมิติหรือทำฐานข้อมูลให้ประชาชนสามารถชมแบบใกล้ชิดได้ แล้วก็เผยแพร่ ผมว่าเป็นความยั่งยืนมากกว่าให้คนมาชมเฉยๆ แล้วก็ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย ต้องมองระยะยาว เราใช้เงินกับการสร้างพระเมรุจำนวนหนึ่ง จะทำอย่างไรให้เงินนั้นงอกเงยในแง่ของการศึกษาหรือประโยชน์ของสาธารณชน อันนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เป็นประโยชน์ของสาธารณชนที่มาจากภาษี เป็นการคืนบางอย่างให้กับสังคม เป็นเรื่องที่น่าทำเหมือนกัน

Gettyimages

ชาวเน็ตเองควรวางตัวหรือปรับความเข้าใจเกี่ยวกับการชมพระเมรุมาศอย่างไร เวลาเห็นคนที่วางตัวไม่เหมาะสม
ตักเตือนด้วยความหวังดี อย่าไปประจาน มนุษย์เราไม่มีใครอยากทำผิดหรอก บางทีเราไม่รู้ หรือบางทีแม้กระทั่งว่าสิ่งที่สังคมคิดว่าถูกอาจจะเป็นเรื่องผิดก็ได้ในสมัยข้างหน้า หวังดีกันดีกว่า สังคมก็จะอยู่ด้วยกันได้ ปัจจุบันนี้ใครทำอะไรนิดหน่อยก็ซัดกันค่อนข้างจะรุนแรง

ความเข้าใจในความเป็นปัจเจกของแต่ละคน ก็มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหานี้ด้วยหรือเปล่า
ใช่ ถ้าพูดในทางทฤษฎี เรื่องพวกนี้เป็นปรากฏการณ์วิทยา ก็คือว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ ความรู้อะไรบางอย่างเป็นของตัวเอง แล้วเราก็ใช้สิ่งที่เรามีอยู่ในการอธิบายสิ่งที่อยู่ในโลกรอบตัว เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสที่บางครั้งเราก็อาจจะทำไม่ถูกใจคนอื่น คนที่สนใจก็อาจจะมีความเชื่อบางอย่างมากหน่อย นี่ก็เป็นเรื่องความแตกต่างของมุมมอง ต้องค่อยๆ คุยกัน บางทีก็เป็นเรื่องของความรู้เท่าทันต่อสื่อ การเสพสื่อเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องรู้เท่าทันสื่อและรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook