ตั้ง กอ.ตร. ตรวจสอบตร. เป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างไร?

ตั้ง กอ.ตร. ตรวจสอบตร. เป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างไร?

ตั้ง กอ.ตร. ตรวจสอบตร. เป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ หนึ่งในคณะกรรมการบอกว่าทุกอย่างเริ่มจากมองว่าประชาชนจะได้อะไร ขณะนี้ประชาชนมีทุกข์อะไรกับตำรวจ ประชาชนถูกใช้อำนาจในทางไม่ชอบใช่หรือไม่ หากใช่ จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนที่ถูกใช้อำนาจในทางไม่ชอบมีช่องทางร้องเรียน โดยไม่ใช่การให้ตำรวจ ตรวจสอบตำรวจกันเอง นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดตั้ง คณะกรรมการอิสระพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ กอ.ตร.

นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันทำหน้าที่เป็น ประธานอนุกรรมการภารกิจและอำนาจ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม หรือปฏิรูปตำรวจ เปิดใจกับ Sanook! News ว่าประชาชนมีปัญหากับตำรวจอยู่ตลอดเวลา เพราะตำรวจมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ดูแลความสงบเรียบร้อยในสังคม

police1นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ขณะประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ

ทางคณะกรรมการจึงอยากตั้ง กอ.ตร. ให้เป็นคณะกรรมการอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่มีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โครงสร้างเบื้องต้นมีคณะกรรมการใน กอ.ตร. ประมาณ 9 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คอยรับผิดชอบเรื่องร้องเรียนต่างๆ และจัดตั้งทีมสืบสวนข้อเท็จจริง ว่าตำรวจที่ถูกประชาชนร้องเรียนมีความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีความผิดจริง กอ.ตร. ก็มีอำนาจสั่งลงโทษได้ทันที โดยมีแนวทางในการลงโทษ เช่น โยกย้าย ตัดเงินเดือน ไล่ออก อย่างไรก็ตาม กอ.ตร. จะมีความน่าเชื่อถือ จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตระหนัก ยำเกรง ได้นั้นต้องใช้เวลา

แต่กรณีข่าวดัง ประเด็นร้อน เห็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น กรณี เสก โลโซ ถ่ายภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายคล้ายกำลังกินข้าวสังสรรค์ ขณะที่ เสก มีคดีอยู่นั้น ไม่จำเป็นต้องถึงมือ กอ.ตร. เพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องโยกย้ายตำรวจที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมอยู่แล้ว ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่สามารถสั่งการได้ เพื่อให้การสืบสวนสอบสวน ดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น

ดังนั้นการโยกย้ายกะทันหัน หรือที่สื่อชอบเรียกว่า เด้งตำรวจออกนอกพื้นที่นั้น ถือเป็นเรื่องพึงกระทำ เพราะตามจริงแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานร่วมกันในสถานีจะรู้กันอยู่แล้ว ว่าตำรวจคนไหนมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร หากผู้บังคับบัญชาไม่มีคำสั่งย้ายทันที แน่นอนว่าจะทำให้การทำคดีติดขัด นายมนุชญ์กล่าว

อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดที่คณะอนุกรรมการภารกิจและอำนาจกำลังทำอยู่นี้ จะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 ตามกรอบที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งก็เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้น หลังจากนี้เรื่องทั้งหมดจะเป็นจริงได้หรือไม่ ก็อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook