รายงานพิเศษ : สสช.เผยตัวเลขอัตราการว่างงานร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้น 3.4 แสนคน

รายงานพิเศษ : สสช.เผยตัวเลขอัตราการว่างงานร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้น 3.4 แสนคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลสำรวจล่าสุด พบอัตราการว่างงานร้อยละ 2.4 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 8 แสน 8 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจของเดือนก่อนถึง 3 แสน 4 หมื่นคน จากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนมกราคม 2552 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. เผยแพร่ผลสำรวจออกมาล่าสุด พบตัวเลขผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.4 จากร้อยละ 1.4 ในเดือนธันวาคม 2551 นับเป็นตัวเลขก้าวกระโดดจากอัตราการว่างงานในแต่ละเดือนของปี 2551 ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 1.2-1.7 เท่านั้น นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สสช.ได้สำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนมกราคม 2552 พบว่า มีผู้ว่างงาน 8 แสน 8 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 2.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมกราคม 2551 ซึ่งมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.7 คือมีจำนวนผู้ว่างงาน 6 แสน 3 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 2 แสน 5 หมื่นคน หากเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน 5 แสน 4 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 3 แสน 4 หมื่นคน ถ้าพิจารณาถึงแผนผังประชากรตามสถานภาพแรงงานในเดือนมกราคม 2552 มีผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 52.51 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 37.30 ล้านคน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้มีงานทำ 36.20 ล้านคน ผู้รอฤดูกาล 2.2 แสนคน และผู้ว่างงาน 8.8 แสนคน ส่วนผู้อยู่นอกกำลังแรงงานมีจำนวน 15.21 ล้านคน เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานเป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดร้อยละ 3.9 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 2.7 ภาคกลางร้อยละ 2.1ภาคเหนือร้อยละ 1.7 ส่วนกรุงเทพมหานคร มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดร้อยละ 1.3 และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2551 พบว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 โดยภาคใต้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดคือร้อยละ 2.5 ภาคกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.2 หากพิจารณาการว่างงานในแต่ละกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) มีจำนวน 3.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 7.7 และกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 25 ปีขึ้นไป) จำนวน 5.1 แสนคน อัตราการว่างงานร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ในส่วนของการว่างงานในกลุ่มวัยเยาวชนมีจำนวนมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้เพิ่งจบการศึกษาใหม่ เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกำลังหางานทำ เมื่อจำแนกผู้ว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นว่างงานสูงสุด จำนวน 2.2 แสนคน รองลงมาเป็นผู้มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา 1.9 แสนคน มัธยมศึกษาตอนปลาย 1.7 แสนคน ผู้ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.6 แสนคน และระดับอุดมศึกษา 1.4 แสนคน ตามลำดับ สำหรับผู้ว่างงานจำแนกตามประสบการณ์การทำงาน พบว่าเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.5 แสนคน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 7.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานจากนอกภาคเกษตรกรรรม 5.3 แสนคน ซึ่งประกอบด้วย ภาคการผลิต 3.2 แสนคน ภาคการบริการ 2.1 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานจากภาคเกษตรกรรมมีประมาณ 2 แสนคน ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มีงานทำในเดือนมกราคม 2551 พบว่าเดือนมกราคม 2552 มีผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 2.8 แสนคน จาก 35.92 ล้านคน เป็น 36.20 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ถ้าพิจารณาตามสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญ พบว่า ผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคน (จาก 12.47 ล้านคน เป็น 12.48 ล้านคน) ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 แสนคน (จาก 23.45 ล้านคน เป็น 23.72 ล้านคน) โดยเพิ่มขึ้นในสาขาการโรงแรม/ภัตตาคาร 2.2 แสนคน สาขาบริหารราชการแผ่นดิน 1.4 แสนคน สาขาขายส่ง/ขายปลีก 1.8 แสนคน สาขาการขนส่ง 4 หมื่นคน ส่วนที่ลดลงเป็นสาขาการผลิต 5.4 แสนคน และสาขาก่อสร้าง 5 หมื่นคน สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่มีแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง 1.6 หมื่นคน การผลิตยานยนต์ 1.1 หมื่นคน การผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 9 พันคน การผลิตสิ่งทอ 8 พันคน การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 7 พันคน การผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 4 พันคน การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพทย์ลดลงเท่ากัน คือ 3 พันคน และการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าลดลง 2 พันคน หากพิจารณาชั่วโมงทำงานต่อวันของผู้มีงานทำ พบว่า ผู้มีงานทำส่วนใหญ่จะทำงานเต็มเวลา คือตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน โดยมีจำนวน 21.85 ล้านคน หรือร้อยละ 60.4 ของผู้มีงานทำทั้งสิ้น ส่วนผู้ทำงานน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน มีจำนวน 14.35 ล้านคน หรือร้อยละ 39.6 หากนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จะเห็นว่าผู้ทำงานไม่เต็มเวลา หรือน้อยกว่า 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านคน ขณะที่มีผู้ทำงานเต็มเวลา ลดลง 4.3 ล้านคน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ภาวะการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หากการจ้างงานในภาคการผลิตยังลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้สถิติผู้มีงานทำจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วก็ตาม แต่หลายหน่วยงานคงต้องร่วมมือกันหยุดยั้งอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.4 ไม่ให้เพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook