“สาขาสังคมศาสตร์” ตัวช่วยพัฒนาเทคโนโลยี หรือแค่ “สาขาที่ตลาดไม่ต้องการ”

“สาขาสังคมศาสตร์” ตัวช่วยพัฒนาเทคโนโลยี หรือแค่ “สาขาที่ตลาดไม่ต้องการ”

“สาขาสังคมศาสตร์” ตัวช่วยพัฒนาเทคโนโลยี หรือแค่ “สาขาที่ตลาดไม่ต้องการ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อสั่งการเพิ่มเติมของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์) พ.ศ. 2561 – 2580 ให้ชาวเน็ตได้งงงวยกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการตัดงบประมาณสนับสนุนสาขาวิชาที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ล่าสุด ในการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธข่าวนี้ โดยระบุว่ารัฐบาลเพียงแต่ขอให้มหาวิทยาลัยทบทวนหลักสูตรให้สอดคล้องความต้องการของตลาดเท่านั้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีGettyimagesนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ด้าน ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่กลับมีบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ สูงถึงร้อยละ 66 และอาจจะกำลังประสบปัญหาการว่างงาน จึงขอให้มหาวิทยาลัยทยอยปรับปรุงหลักสูตรและลดจำนวนการผลิตนักศึกษาสาขาสังคมศาสตร์ลง ให้เหลือประมาณร้อยละ 30 - 40 เนื่องจากมีงบประมาณอุดหนุนจำกัด

แต่ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไทยมองว่าสาขาวิชานี้ “ไม่ตอบโจทย์ตลาด” แบรด สมิธ ประธานบริษัทไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี และแฮร์รี ชัม รองประธานบริหารฝ่ายปัญญาประดิษฐ์และการวิจัยของไมโครซอฟต์ กลับกล่าวไว้ในหนังสือ “The Future Computed” ว่าความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลดปล่อยศักยภาพสูงสุดของ AI และในการพัฒนา AI ที่มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิศวกรรมและมนุษยศาสตร์

เมื่อความเห็นแบบ “ไทยนิยม” ขัดแย้งกับความเห็นของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่กำลังจะเดินทางเข้าสู่ยุค 4.0 จะต้องทำอย่างไร สาขาวิชาสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และควรถูก “ตัดตอน” ไปโดยสิ้นเชิงจริงหรือ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาให้ความเห็นในเรื่องนี้

ดร. เดชรัต สุขกำเนิด Decharut Sukkumnoedดร. เดชรัต สุขกำเนิด

“สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดคือการใช้สัญญาณของระบบตลาดแรงงานเป็นตัวบอกว่าควรจะผลิตอะไร ซึ่งมันก็ไม่ผิด เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่สัญญาณที่ครบถ้วน เพราะมันมีสัญญาณอย่างอื่นในสังคมที่ไม่ได้ส่งผ่านไปยังตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์” ดร. เดชรัตแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตโดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก ทว่าความต้องการของตลาดนั้นกลับยังไม่ใช่ทางออกที่ครอบคลุมสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่ยังมี "ความจำเป็นที่ยังไม่ได้รับการตอบรับ" หรือ Unmet need ซึ่งต้องอาศัยวิธีการอื่นในการตอบสนองร่วมด้วย

“Unmet need คือโจทย์จริงที่ไม่ได้ตอบด้วยระบบตลาดทั้งหมด คือมันมีความต้องการอยู่ แต่มันไม่สามารถส่งสัญญาณสู่ตลาดแรงงานได้เลย เช่น การดูแลผู้สูงอายุ มันก็จะมีแค่คนกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อที่เพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุ แต่ก็ยังมีคนอีกเยอะแยะมากมายที่ไม่มีกำลังซื้อคนมาดูแล รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกำหนดโจทย์จริง คือความต้องการหรือความจำเป็นที่ยังไม่บรรลุของสังคม เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาอาจารย์และกระบวนการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว” ดร. เดชรัตกล่าว

iStockphoto

นอกจากจะโฟกัสเฉพาะความต้องการของตลาดแล้ว จุดอ่อนของข้อสั่งการนี้ยังอยู่ที่การจัดการศึกษาที่เน้นสาขาวิชามากกว่าทักษะในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการไม่เปิดรับอาจารย์เพิ่มในสาขาวิชาที่คนเรียนจบน้อย หรือหางานได้น้อย ในขณะที่อนาคตของการศึกษาและการทำงานมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเป็นการพัฒนาทักษะที่จำเป็น มากกว่าการเตรียมคนให้อยู่กับสาขาวิชาหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่งไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นการเตรียมพัฒนาอาจารย์จึงต้องให้ความสำคัญกับการมีอาจารย์ที่พร้อมจะพัฒนาทักษะสำหรับผู้เรียนในทุกสาขา

“ในอนาคต เราอาจจะมีคนจบสาขาภาษาจีนหรือปรัชญาไม่เยอะ แต่ทั้งภาษาจีนและปรัชญาจะต้องถูกใช้ในการพัฒนาต่อยอดให้แก่บัณฑิตสาขาอื่นๆ เพราะฉะนั้นความคิดที่จะให้ดูจากสาขาวิชาที่ตลาดต้องการอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูที่ความต้องการของตลาดในอนาคตด้วย ซึ่งแปลว่า เราก็จำเป็นที่จะต้องมีอาจารย์ที่มีคุณภาพดีขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ ในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรียังไม่มีการกล่าวถึงการกระจายงบประมาณและโอกาสไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาค และระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และทำให้มหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กและได้รับงบประมาณน้อยได้รับโอกาสน้อยลง ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้า และอาจส่งผลให้พื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการพัฒนาอีกด้วย

“ถ้ารัฐบาลเชื่อเรื่องการพัฒนาจากจุดหนึ่ง แล้วค่อยกระจายไปจุดอื่นๆ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่จะได้รับการพัฒนาให้ไปแข่งขันในระดับโลกก่อน เมื่อมหาวิทยาลัยใหญ่ขึ้น ก็อาจจะดูดซับงบประมาณมากขึ้นอีกเรื่อยๆ อันนี้ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยนะ ผมหมายถึงระบบเศรษฐกิจด้วย อย่างเช่นจังหวัดใหญ่ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่จังหวัดเล็กๆ ไม่ได้รับงบประมาณเพิ่ม ที่จริงเราควรกระจายไปให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็กได้มีโอกาสเติบโต ยิ่งเรากำลังพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทุกที่ควรจะมีแหล่งที่จะเป็นจุดบ่มเพาะความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่นั้น” ดร. เดชรัตอธิบาย

 iStockphoto

เมื่อหน้าที่ของรัฐบาลคือการให้โจทย์แก่มหาวิทยาลัยเพื่อผลิตบัณฑิตตามความต้องการของสังคม มหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ในครั้งนี้ จากในอดีตที่ใช้การออกแบบสาขาวิชาตามอาชีพ เปลี่ยนเป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่ขึ้นอยู่กับ “เส้นทางชีวิต” ของคนรุ่นใหม่ โดยเพิ่มทักษะและการประเมินผลที่ตรงกับเป้าหมายของผู้เรียนให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต

“การผลิตตามการประกอบการของนักศึกษาก็คือ นักศึกษามีโปรเจ็กต์ชีวิตอย่างไร เขาก็เข้ามาที่มหาวิทยาลัย แล้วก็ทำ 4 อย่าง คือ 1. เติมทักษะที่จำเป็น ซึ่งต้องทำให้เป็นเลยนะ ไม่ใช่แค่สอบผ่านเฉยๆ 2. ไปสู่การประกอบการ คือเขาจะเอาทักษะเหล่านี้ไปทำจริงๆ เช่น เรียนภาพยนตร์ก็สร้างภาพยนตร์จริงๆ 3. เรียนวิชาพื้นฐาน เพื่อสร้างวิธีการวัดผลเป้าหมายในข้อ 2 เช่น ถ้าเรียนวิชานิเวศวิทยา ต้องตอบให้ได้ว่าธุรกิจที่เขาจะทำจะช่วยลด Carbon Footprint ลงได้เท่าไร หรือจะเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือเรียนแล้วเอามาบูรณาการกับงานที่เขาจะต้องเติบโต และสุดท้ายคือ 4. การเผยแพร่ความรู้ เช่น การจัดฝึกอบรมให้ผู้อื่น หรือการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กที่จะให้คำตอบเหล่านี้แก่คนอื่นต่อไป คือเปลี่ยนจากแนวคิดที่ว่าไปเรียนแล้วเป็นสาขาวิชาชีพใด เป็นเรียนแล้วไปเสริมกับสิ่งที่ตัวเองจะทำจริงๆ”

iStockphoto

อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนในรูปแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยก็ได้ ซึ่ง ดร. เดชรัตก็มองว่ามหาวิทยาลัยมีความจำเป็นน้อยลงในแง่การเรียนการสอน จึงควรเปลี่ยนแปลงบทบาทใหม่ ไปสู่บทบาทด้าน “การประเมินผลการศึกษา”

“มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นน้อยลง เพราะการประเมินผลโดยโลกแห่งความเป็นจริงมันทำได้แม่นยำขึ้น ง่ายกว่า สะดวกกว่า แล้วก็กว้างขวางกว่า และในบางกรณีอาจจะแม่นยำกว่าในมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ อย่างเช่นถ้าเราทำหนัง เราก็ทำหนังให้คนดูเลย แล้วมันก็จะถูกประเมินเลย เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะดำรงคุณค่าของตัวเองได้ ก็ต้องพัฒนาการประเมิน คือนำเอาความเป็นจริงที่มีอยู่ในโลกมาประกอบการประเมินของตน หมายถึงว่าแทนที่ผมจะตรวจงานของนักศึกษาเฉยๆ ผมก็ทำอย่างไรก็ได้ให้ผลงานของนักศึกษาได้รับการตรวจจากคนเป็นร้อยเป็นพัน แล้วเราก็มาเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่ในการให้ผล แต่มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการทำให้นิสิตได้รับผลงานตามที่สังคมจะประเมินจริงๆ” ดร. เดชรัตกล่าว 

iStockphoto

ส่วนประเด็นสำคัญอย่างความสำคัญของสาขาวิชาสังคมศาสตร์ ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเล็งเห็นว่าควรปรับลดจำนวนบัณฑิตในสาขานี้ลง เนื่องจากมีงบประมาณสนับสนุนจำกัด ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับบุคลากรในสาขานี้เป็นอย่างมาก ประเด็นนี้ ดร. เดชรัตเห็นว่าสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์จำเป็นต้องปรับตัวอย่างแน่นอน แม้ว่าที่จริงแล้วบัณฑิตจากสาขานี้จะสามารถทำงานได้ในหลากหลายวงการก็ตาม

“เราจะเห็นว่าบัณฑิตที่จบจากสาขาเหล่านี้จะไปทำงานอยู่ในการวิจัย โฆษณา การทำเกมโชว์ บางคนก็เป็นนักเขียน มันมีรูปแบบความเป็นไปเยอะแยะเลย ดังนั้น คณะวิชาด้านสังคมศาสตร์ก็ต้องเค้นเอาคุณค่าหลักที่มีอยู่มาสื่อสาร และหาช่องทางให้สังคมมีโอกาสร่วมประเมินในสิ่งที่เขาผลิต คือตอนนี้การประเมินอาจจะถูกจำกัดในแวดวงที่ลึกลงแล้วก็เล็กลง แต่การประเมินผลในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องให้คนส่วนมากรับรู้และมีส่วนร่วม

สำหรับการปรับตัวของนักศึกษา ดร. เดชรัตระบุว่านักศึกษาต้องปรับตัวตามกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพียงแต่กฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมนั้นทำให้นักศึกษาไม่เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรเป็นฝ่าย “ปลดล็อก” ก่อน คือลดการควบคุมให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน ผ่านการประเมินด้วยเกณฑ์เดียวกัน

“ผมว่าสาเหตุที่มหาวิทยาลัยไม่กล้าปรับตัวก็คือ มันอาจจะควบคุมไม่ได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องลดการควบคุมลง ถ้าเรายังไม่สามารถลดความรู้สึกของการควบคุมลงได้ มันก็เหมือนพ่อแม่ที่ไม่สามารถปล่อยให้ลูกไปทำกิจกรรมอะไรได้ ถ้าเราสามารถลดลงมาได้ แล้วค่อยๆ ติดตาม ค่อยๆ ช่วยกันแนะนำ ช่วยกันพัฒนา ผมก็เชื่อว่าการยึดที่โจทย์จริงมันจะเป็นคำตอบจริง” ดร.เดชรัตสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook