ย้อนปมล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ชนวนเหตุ 14 ตุลาฯ

ย้อนปมล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ชนวนเหตุ 14 ตุลาฯ

ย้อนปมล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ชนวนเหตุ 14 ตุลาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารของบริษัทอิตาเลียน-ไทย บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่ได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างของรัฐบาลบ่อยครั้ง ไม่ใช่ครั้งแรกที่ป่าทุ่งใหญ่ กลายเป็นภาพสะท้อนของพฤติกรรมเหนือกฎหมายของอภิสิทธิ์ชน แต่การล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้เป็นชนวนเหตุนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียรมาแล้ว

ในเดือนเมษายน 2516 เมื่อ 45 ปีก่อน มีกระแสข่าวว่า พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีซึ่งได้อำนาจจากการรัฐประหารในขณะนั้น นำคณะตำรวจ-ทหารชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้านักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลกว่า 60 คน รวมถึงนักแสดงชื่อดัง เมตตา รุ่งรัตน์ เข้าไปจัดงานเลี้ยงวันเกิดและใช้อาวุธสงครามจำนวนมาก ล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งที่มีการประท้วงแสดงความไม่พอใจจากนิสิตนักศึกษา ประชาชน และองค์การคุ้มครองสัตว์ป่าจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานพอที่จะเอาผิดกับคณะดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 เมษายน เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกที่บางเลน นครปฐม นอกจากจะพบผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บอีก 4 นาย ยังปรากฏว่ามีซากกระทิง สัตว์ป่าอื่นๆ และปืนล่าสัตว์ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องกระสุนจำนวนมากกระจัดกระจายรอบซากเฮลิคอปเตอร์ ภาพดังกล่าวกลายเป็นพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทันที ประกอบกับมีการตีพิมพ์ภาพเปรียบเทียบที่พบว่าเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวเพิ่งขึ้นจากเขตทุ่งใหญ่จริง ทำให้อุบัติเหตุในครั้งนั้นกลายเป็นหลักฐานที่ฟ้องว่ามีการใช้เฮลิคอปเตอร์หลวงเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

แม้จะมีหลักฐานปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเกี่ยวกับการล่าสัตว์ครั้งใหญ่ในทุ่งใหญ่นเรศวร โดยการสอบสวนของทีมนักข่าวสยามรัฐ นักศึกษาชมรมอนุรักษ์สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่กลับมีการกดดันให้สื่อมวลชนยุติการเผยแพร่ภาพหลักฐานการกระทำผิดเหล่านี้

และจอมพลถนอม แถลงข่าวว่าผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก อยู่ในปฏิบัติการลับของราชการอันเปิดเผยมิได้ และเฮลิคอปเตอร์ถูกใช้เพื่อการรักษาความปลอดภัยนายพลเน วิน นายกรัฐมนตรีเมียนมาที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ส่วนเนื้อสัตว์ป่า อาจเป็น "ของคนอื่นฝากมา" ทำให้กระแสสังคมไม่พอใจต่อรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนั้นมีข้อมูลว่าผู้มีส่วนในเหตุนี้นอกจากพันเอกณรงค์ ยังมีหัวหน้าคณะล่าสัตว์ คือพันโทสุภัทร สารสิน บุตรชายนายพจน์ สารสิน และนายทหารคนสนิทของจอมพลประภาส จารุเสถียรด้วย

เรื่องราวบานปลายขึ้นเมื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. จัดอภิปรายเรื่องนี้ที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ร่วมฟังนับหมื่นคน และมีการตีพิมพ์หนังสือ "บันทึกลับทุ่งใหญ่" เพื่อเปิดโปงการล่าสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างอุกอาจ โดยหน้าปกเป็นรูปช้างที่ตาย โดยมีใบบัวเล็กๆปิดอยู่ พร้อมป้าย "ราชการลับที่เปิดเผยไม่ได้" และหลังจากนั้นมีการตีพิมพ์หนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ของชมรมคนรุ่นใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง วิจารณ์รัฐบาลและมหาวิทยาลัย รวมถึงเสียดสีกรณีทุ่งใหญ่ หนังสือดังกล่าวทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คนถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ในข้อหาเสียดสีรัฐบาล ส่งผลให้กระแสสังคมยิ่งต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมหนักขึ้น บานปลายกลายเป็นการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ ที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจบลงด้วยการที่นักศึกษาถูกปราบปรามเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ส่วนจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ ลี้ภัยออกนอกประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook