“ล่า” ย้อนดูคดีล่าสัตว์ป่าสงวน เสียงเรียกที่ไม่มีใครได้ยิน

“ล่า” ย้อนดูคดีล่าสัตว์ป่าสงวน เสียงเรียกที่ไม่มีใครได้ยิน

“ล่า” ย้อนดูคดีล่าสัตว์ป่าสงวน เสียงเรียกที่ไม่มีใครได้ยิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ล่า” สัญชาตญาณดิบของสัตว์ป่าที่ออกหาเหยื่อเพื่อความอยู่รอด เป็นวัฏจักรของห่วงโซ่อาหารที่เป็นวิถีชีวิตของป่าดงพงไพร แต่ถ้านักล่าคือมนุษย์แล้วการกระทำเหล่านั้นคือวัฏจักรของสิ่งใด เพื่อความอยู่รอดหรือความบันเทิง แล้วสัตว์ป่าที่ตกเป็นเหยื่อจะเรียกหาความยุติธรรมได้จากที่ใด ถึงจะมีใครฟังเสียงของวิถีชีวิตแห่งป่าดงพงไพรที่กำลังถูกรุกราน

จับบิ๊ก "อิตาเลียนไทย" ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร

นั่นคือปริศนาคำถามจากกรณีที่ จนท.ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เข้าจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวก ที่เข้าตั้งเต็นท์ล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก หลังตรวจสอบพบซากไก่ฟ้าหลังเทา เนื้อเก้ง และเสือดำถูกชำแหละ-ถลกหนัง พร้อมปืนและเครื่องกระสุน

a1

คดีนี้กลายเป็นที่จับจ้องของสังคมเนื่องจากว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้เป็นถึง CEO ระดับสูง มีทรัพย์สินเป็นหมื่นล้านและจากแหล่งข่าวยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าเส้นทางการลักลอบเข้ามาตั้งแคมป์แอบล่าสัตว์มี ข้าราชการระดับสูง เป็นผู้เปิดทางให้ไฟเขียวอีกต่างหาก

เปิดขุมทรัพย์! อิตาเลียนไทย ภายใต้บังเหียน 'เปรมชัย กรรณสูต'

ทำให้เกิดคำถามว่า เส้นทางของคดีลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของ CEO ท่านนี้ จะมีมวยล้มต้มคนดูหรือไม่?

หากย้อนเส้นทางการลักลอบล่าสัตว์ในเขตอุทยานฯ พบว่าเคยเกิดกรณีลักษณะนี้ขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2555 เจ้าหน้าที่อุทยานได้จับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานฯ จำนวน 9 คน โดยมีหัวหน้าทีมเป็นถึง พ.ต.ท. และในกลุ่มผู้ต้องหายังมีข้าราชการอีกด้วย ซึ่งคดีนี้ตามภาพข่าวปรากฏรูปของ  พ.ต.ท. ท่านนี้อย่างชัดเจน

a5

แต่เจ้าของคดีกลับไม่สั่งฟ้อง พ.ต.ท. โดยสั่งฟ้องแค่ลูกน้อง 8 คนเท่านั้น ทำให้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งในท้ายที่สุดผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำคดีนี้ถูกสั่งย้ายไปช่วยราชการและทาง ผบ.ตร.ในขณะนั้นได้แต่งตั้ง พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผช.ผบ.ตร.ลงมาควบคุมการสอบสวน

และหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกับพนักงานสอบสวนชุดใหม่ที่ตั้งขึ้น ร่วมด้วยพนักงานสอบสวนทางฝ่ายปกครอง จนมีการสั่งฟ้อง พ.ต.ท. พร้อมพวกรวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน , พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

จนในที่สุดวันที่ 31 ม.ค. 60 ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยจำคุก พ.ต.ท. อดีตสารวัตรสอบสวนเป็นระยะเวลา 10 เดือน ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นถูกจำคุกตามความผิดแต่ละกรรม

a6

ลักลอบล่าสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตอุทยานฯ โทษน้อยกว่าลักลอบเก็บเห็ดในเขตป่าสงวน ความเหลื่อมล้ำที่มีจริงหรือไม่?

ทาง Sanook News! จึงได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่ง ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “อันที่จริงแล้วสองตายายเก็บเห็ดที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี นั้น คือโทษจากการตัดไม้ในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนง 72 ไร่ พร้อมกับพวก 3 - 4 คน โดยมีหลักฐานตัดไม้สักและกระยาเลยกว่า 1,000 ต้น

ไม่ใช่เพราะเข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนแห่งชาติ และที่สำคัญมีการทำเป็นขบวนการ ซึ่งหากมองในมุมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ทำตามกฎหมาย ไม่ได้อยากกลั่นแกล้งใคร เพราะชาวบ้านส่วนมากเขาก็ไม่รู้กฎหมาย ถ้ามีคนจ้างให้ตัดแล้วบอกว่าเคลียร์เส้นทางให้แล้วตัดได้เป็นใครก็ทำ

และที่สำคัญขบวนการนี้มีนายหน้า มีนกต่อหลายทอด ซึ่งยากมากที่จะสาวไปถึงตัวการใหญ่ ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำงานยากมาก เวลาลงพื้นที่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ยิ่งถ้าไปวัดเขตป่าสงวนด้วยแล้วยิ่งถูกต่อต้านหนักเพราะชาวบ้านเขากลัวว่าจะไม่สามารถเข้าไปทำมาหากิน หรือ หาของป่าได้อย่างเดิม

ee

ส่วนอัตราโทษที่สูงของการลักลอบตัดไม้นั้นเป็นเพราะว่าการตัดไม้เป็นการทำลายป่า ทำลายระบบนิเวศเป็นวงกว้างสร้างผลกระทบหนักต่อป่าและยากต่อการฟื้นฟูจึงมีโทษหนัก แต่กลับกันโทษของการลักลอบล่าสัตว์ป่านั้นจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าอาจจะยังไม่ได้ปรับปรุง บางครั้งคนอาจมองว่าไม่รุนแรง

แต่ผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่านั้นรุนแรง เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก หากจะแก้ปัญหานี้คงต้องแก้กันทั้งระบบทั้งจิตสำนึก บทลงโทษ ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มีอำนาจไม่มากนัก หากเจอผู้มีบารมีหรืออิทธิพลสูง ข้าราชการตัวเล็กๆ หรือ ลูกจ้างป่าไม้ก็ยากที่จะต่อสู้

แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกคนที่เข้ามาทำงานจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะป่าไม้และสัตว์ป่าคือธรรมชาติที่ทุกคนต้องหวงแหนและรักษาให้คงอยู่ตลอดไป” เจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวทิ้งท้าย

a2

"เจ้าสัวเปรมชัย" ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ โดนหนักไม่ต่ำ 5 ข้อหา

ทีนี้มาดูอัตราโทษที่ CEO ถูกแจ้งข้อกล่าวหากันว่ามีอัตราหนักขนาดไหน

เริ่มด้วยโทษตาม พ.ร.บ. #สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

1. มาตรา 36 #ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

- ข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. มาตรา 16 #ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

- ข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. มาตรา 19 #ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

- ข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. มาตรา 37 #ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ #เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (ซึ่งเป็นไปตามข้อ 1 (1) ของกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7)

- ข้อหานี้ เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้

a4

และมาต่อที่ความผิดตาม พ.ร.บ. #ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

1. มาตรา14 #ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

- ข้อหานี้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท

ส่วนสุดท้าย เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ต้องไปตรวจสอบต่อไปว่ามีทะเบียนหรือไม่ และมีใบอนุญาตให้พกพาอาวุธหรือไม่

คงต้องตามดูกันต่อไปว่าหาก CEO ท่านนี้ผิดจริงดังข้อกล่าวหา จะได้รับบทลงโทษอย่างไร ทั้งนี้คงต้องให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายและให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน

ซึ่งหวังเพียงในใจว่า เสียงเรียกร้องทวงหาความยุติธรรมของสัตว์ป่าจะดังไปถึงผู้รักษาความยุติธรรม เพื่อสัตว์เหล่านี้จะได้มีที่อยู่อาศัยตามวิถีแห่งป่าดงพงไพรอย่างสันติและสงบสุข ไม่ถูกตาม "ล่า" อีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook