ผู้เชี่ยวชาญเตือน "เมียนมา" เสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง

ผู้เชี่ยวชาญเตือน "เมียนมา" เสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง

ผู้เชี่ยวชาญเตือน "เมียนมา" เสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเมียนมาต้องเร่งเตรียมตัวรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง เพราะมีเมืองสำคัญหลายแห่งตั้งใกล้รอยเลื่อนหลายรอย

เหตุแผ่นดินไหวในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมาในเมียนมา มีความเเรง 6.0 ริกเตอร์ เเละมีจุดศูนย์กลางอยู่ระหว่างเมืองย่างกุ้งกับกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของประเทศ

เเม้ประชาชนในเมียนมาต่างชินกับเเรงสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่มีความกลัวกันว่าหากเกิดเหตุเเผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมียนมาอาจจะรับมือกับวิกฤติไม่ไหวเพราะขาดความพร้อม

บรรดาเมืองสำคัญๆ ของเมียนมา รวมทั้ง ย่างกุ้ง กรุงเนปิดอว์ เเละมัณฑะเลย์ เมืองหลักทางเหนือของประเทศ ต่างตั้งอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่เรียกว่า รอยเลื่อนสะแกง ที่ผ่าพม่าออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน เริ่มตั้งเเต่รัฐคะฉิ่นทางเหนือของประเทศ ซึ่งวิ่งผ่านตอนกลางของเมียนมาเเละลงไปสู่ทะเลอันดามัน

นอกจากนี้ ในพื้นที่ภูเขาทางตะวันออกของประเทศยังมี รอยเลื่อนคัวะ คยาน ที่เป็นต้นเหตุของเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในเมียนมาที่เเรงถึง 8.0 ริกเตอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1912 หรือ 106 ปีที่เเล้ว

Earth Observation ของสิงคโปร์ รายงานว่า ได้สร้างเครือข่ายสถานีตรวจวัดแรงสะเทือนใต้เปลือกโลกถึง 30 สถานีทั่วเมียนมาร์เมื่อปีที่แล้ว เเละสามารถตรวจจับเเรงสะเทือนขนาดเล็ก 4 ถึง 5 ครั้งเป็นประจำทุกวัน

และจากข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวตลอด 170 ปีที่ผ่านมา พบว่าในเมียนมาจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีความแรงเกิน 7.0 ริกเตอร์ ในอัตรา 10 ปี ต่อ 1 ครั้ง

รอยเลื่อนสะแกงจะสร้างความเสียหายแก่คนจำนวนมากถึง 10 ล้านคน ตลอดจนสร้างความเสี่ยงแก่การพัฒนาเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงด้านการค้าเเละธุรกิจ

และเมื่อมีคนย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เขตเมืองเพิ่มขึ้น ทางการเมียนมาคาดว่า ประชากรในเมืองย่างกุ้งจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 5 ล้าน 2 เเสนคน ภายในปี ค.ศ. 2040 หรืออีก 22 ปีข้างหน้า

ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเมืองย่างกุ้งเก่าเเก่มากเพราะสร้างขึ้นในช่วงที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และขาดการทำนุบำรุง นอกจากนี้ ยังมีการสร้างตึกสมัยใหม่เพิ่มเติมที่ขาดมาตรฐานเพราะไร้กฏระเบียบในการควบคุมการพัฒนานานหลายสิบปี ทำให้เเค่รับมือกับกิจกรรมในวันต่อวันของคนในเมืองก็ไม่ไหวเเล้ว

บรรดานักธรณีวิทยาชี้ว่า ส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนเปลือกโลกที่จะกระทบกับเมืองย่างกุ้ง ครบกำหนดที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เเล้ว

ศาสตราจารย์ มียอ ทัน (Myo Thant) รองประธานคณะกรรมาธิการแผ่นดินไหวแห่งเมียนม่า (Myanmar Quake Committee) กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า รอบการเกิดแผ่นดินไหวที่มีเเรงสั่นสะเทือนตั้งเเต่ 7.0 ริกเตอร์ขึ้นไป เกิดขึ้นทุก 80 - 100 ปี เเละครั้งสุดท้ายที่เกิดแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนสะแกงที่ใกล้กับเมืองย่างกุ้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1930 หรือ 88 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีคนเสียชีวิตมากกว่า 550 คน

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่าทางการเมียนมาตระหนักดีถึงภัยจากแผ่นดินไหวนี้ และการแก้ปัญหาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ถูกละเลย ได้กลายเป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นหลัก

ชอว์ ทเว ซอ รองประธานคณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งเมียนม่า กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้ได้เสนอกฏระเบียบด้านการก่อสร้างที่จัดทำโดยทีมวิศวกรให้กับรัฐบาลเมียนม่าเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีการนำออกมาบังคับใช้เป็นกฏหมาย หรือยังไม่มีการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาเมียนมา

กฏระเบียบนี้จะช่วยสร้างความปลอดภัยแก่แผนการขยายเมือง ทั้งในย่างกุ้งเเละเมืองใหญ่รอบนอก รวมทั้งเมืองมัณฑะเลย์ เเต่ไม่มีกฏบังคับต่อตึกเก่าแก่ เเละในเมืองย่างกุ้งมีตึกเก่าแก่จำนวนมากที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม

ปัญหานี้ย่ำเเย่ลงไปอีกเพราะขาดการประกันภัยเ เละยังขาดแคลนเงินทุนในการซ่อมเซมตึกเก่าแก่ที่ราคาค่าซ่อมสูงมาก นอกจากนี้ ใบรับรองการเสร็จสมบูรณ์ของการก่อสร้างที่ออกโดยเทศบาลของเมืองย่างกุ้ง ยังไม่บังคับให้มีการตรวจสอบตัวตึกในภายหลัง หรือเเม้เเต่หากมีการประกาศขายต่อ

แต่คณะกรรมการแผ่นดินไหวเเห่งชาติเมียนมา ได้ศึกษาความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวของเมืองเล็กและใหญ่หลายเมืองด้วยกัน รวมทั้งเมืองมัณฑะเลย์ และกำลังศึกษาความเสี่ยงของเมืองย่างกุ้งในขณะนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะออกแนวทางปฏิบัติในการต่อเติม

ในขณะเดียวกัน ทางธนาคารโลกได้ตกลงให้เงินทุนในการสร้างความเเข็งแรงเเก่ตึกของทางการหลายสิบหลายแห่งในเมืองย่างกุ้ง

ธรรมชาติที่คาดเดายากของแผ่นดินไหวเเละระยะเวลาที่ห่างมากระหว่างเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มความตื่นตัวของสาธารณชน โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าคนเราลืมเหตุแผ่นดินไหวครั้งก่อนๆ ได้อย่างง่ายดาย

แต่เมืองทุกระดับในเมียนมายังไร้การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับเหตุแผ่นดินไหว ไม่มีการเตรียมการเเม้ในระดับพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นจุดรวมตัวในระหว่างหนีภัย เเละที่พักพิงชั่วคราวที่มีสิ่งบรรเทาทุกข์ขั้นพื้นฐาน

ชอว์ ทเว ซอ รองประธานคณะกรรมการแผ่นดินไหวของเมียนมา กล่าวยอมรับว่า คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าเมียนมาจะเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือกับมหันตภัยจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook