เจาะลึกจิตใจ “นายพรานไฮโซ” – ตอบคำถาม “เสือตายตัวเดียว จะอะไรหนักหนา”

เจาะลึกจิตใจ “นายพรานไฮโซ” – ตอบคำถาม “เสือตายตัวเดียว จะอะไรหนักหนา”

เจาะลึกจิตใจ “นายพรานไฮโซ” – ตอบคำถาม “เสือตายตัวเดียว จะอะไรหนักหนา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่ากระแสเรื่องผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชื่อดังที่สวมบทนายพรานล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจะเริ่มซาลงไป และยังไม่แน่ชัดว่าคดีจะจบลงแบบไหน แต่การตายของเสือดำตัวหนึ่งได้สะกิดให้คนไทยหันมามองสถานการณ์ด้านป่าไม้และสัตว์ป่าในประเทศไทย และช่วยกันต่อยอดเรื่องราวไปสู่ประเด็นอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางกลุ่มที่อาจจะยังไม่เข้าใจ และตั้งคำถามที่ดูเหมือนง่าย แต่ตอบยาก เช่น “เสือตายตัวเดียว จะอะไรหนักหนา” หรือ “หมูถูกฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ทุกวัน ทำไมไม่เป็นข่าว” ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงอย่างร้อนแรงในโลกออนไลน์ นักวิชาการจากแวดวงต่างๆ ทั้งชีววิทยา จิตวิทยา และปรัชญา จึงเปิดเวทีเสวนา “สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม: วาระที่รอการแก้ไข” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ในงานจุฬาเสวนา ที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของสัตว์ป่าในแง่มุมต่างๆ รวมไปถึงแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และร่วมกันเสนอคำตอบของคำถามที่ว่า “เสือตายตัวเดียว จะอะไรหนักหนา”

(จากซ้าย) ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ, รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต,  ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ รศ.น.สพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ นักวิชาการผู้เข้าร่วมเสวนา(จากซ้าย) ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ, รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ รศ.น.สพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ นักวิชาการผู้เข้าร่วมเสวนา 

สัตว์ป่าในยุคมนุษย์ครองโลก
ที่ผ่านมาเราเข้าใจว่าโลกร้อนถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุด แต่รายงานศักยภาพการรับมือของโลก ที่จัดทำขึ้นในปี 2015 ระบุว่า การสูญพันธุ์ของสัตว์และผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อันตรายที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นปัญหาที่คาดการณ์ไม่ได้ และก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งผลให้โลกเดินทางเข้าสู่ยุคมนุษย์ครองโลก (Anthropocene) ตามด้วยการเข้าสู่ช่วงที่มีการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ (Mass Extinction) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการล่าสัตว์และการฆ่าสัตว์ โดยธุรกิจค้าสัตว์กลายเป็นธุรกิจระดับท็อปของตลาดมืด เทียบเท่ากับการค้าอาวุธเลยทีเดียว

สัตว์และพืชแต่ละชนิดมีหน้าที่และวัฏจักรในโลกแตกต่างกัน การสูญเสียตัวใดตัวหนึ่งไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกลดลง เพราะฉะนั้น เราจะต้องหยุดทำลายทุกอย่างแล้ว และต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ว่ารูปแบบและความหลากหลายทางชีวภาพของโลกจะไม่เหมือนเดิม แต่ว่ามันยังสามารถฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพที่ยังมีคุณภาพชีวิตที่พอใช้ได้ แต่เราต้องเริ่มวันนี้” ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับสัตว์ป่า ที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องของสัตว์ที่น่ารักน่าสงสารในความรับรู้ของคนทั่วไป

iStockphoto

จิตวิทยาของนายพราน
ในฐานะที่เราอยู่ในยุคมนุษย์ครองโลก การแก้ไขปัญหาควรเริ่มตั้งแต่ต้นเหตุ นั่นก็คือมนุษย์ ซึ่ง รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอปัจจัยทางจิตวิทยาของมนุษย์ที่นำไปสู่การล่าสัตว์ โดยกล่าวถึงสัญชาตญาณ 2 อย่าง ได้แก่ สัญชาตญาณการดำรงชีวิต ที่ผลักดันให้มนุษย์ล่าสัตว์เพื่อความอยู่รอด รวมไปถึงการล่าสัตว์เป็นอาชีพ และนำซากสัตว์ไปขายเพื่อแลกกับวัตถุ และสัญชาตญาณการทำลายล้าง (Death Instinct) เป็นสัญชาตญาณก้าวร้าว ที่ต้องการทำลายชีวิตคนอื่น ซึ่งผลักดันให้เกิดการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงหรือเป็นเกมกีฬา และคนกลุ่มนี้ยังมีลักษณะพิเศษที่น่ากลัวกว่าที่เราคิดอีกด้วย

“คนที่ฆ่าสัตว์ป่าเพื่อความบันเทิงมักจะฐานะดีมาก มีอำนาจทางสังคมและการเงินสูง เพราะต้องมีอาวุธที่ดี ไม่ใช่คนระดับล่าง แต่คนเหล่านี้จะไม่ยอมให้เราศึกษาพฤติกรรม ดังนั้นข้อมูลที่มีจึงไม่ใช่ข้อมูลเชิงประจักษ์โดยตรง แต่เป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากฆาตกรที่ฆ่าคน และดูว่าพวกนี้มีรูปแบบพฤติกรรมอย่างไร แล้วก็ไปประยุกต์เข้ากับการฆ่าสัตว์เพื่อความสนุกสนาน ดังนั้นเราไม่ได้บอกว่าเขาฆ่าสัตว์เพราะเขาเป็นอย่างนั้น ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน” รศ.ดร.สมโภชน์กล่าว

นายพรานที่ล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มตามมุมมองทางจิตวิทยา คือ (1) ผู้ที่ฆ่าสัตว์เพื่อหาความตื่นเต้นให้ชีวิต (2) ผู้ที่หลงตัวเอง มองตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ขาดความเห็นอกเห็นใจ และชอบบงการคนอื่น และ (3) ผู้ที่มีจิตผิดปกติ (Psychopath) ซึ่งเป็นคนฉลาด เก่ง มีระเบียบ เข้าสังคมได้ดี พยายามควบคุมผู้อื่น และรู้สึกว่าการฆ่าไม่ใช่สิ่งที่ผิด ยิ่งการฆ่าสัตว์ที่หายาก ดุร้าย มีอำนาจสูงในป่า ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจสูง โดยสิ่งที่สร้างความภูมิใจให้กับคนที่ล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงก็คือ Animal Trophy คือซากสัตว์หรือหนังสัตว์ที่ล่ามาได้ และจะยิ่งภูมิใจมากถ้าสัตว์นั้นเป็นสัตว์หายาก ซึ่ง รศ.ดร.สมโภชน์ได้อธิบายถึงเบื้องลึกในจิตใจของคนเหล่านี้ว่า

“คนที่ฆ่าคนหรือสัตว์จะมีลักษณะเป็นคนที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ และพยายามสร้างอำนาจหรือแสดงออกว่าเหนือกว่าคนอื่น เพื่อกลบเกลื่อนความไม่มั่นคงนั้น นอกจากนี้ยังเป็นคนที่กลัวความตาย จึงต้องทำตัวเป็นพระเจ้าผู้กำหนดให้คนอื่นตาย อีกอย่างคือกลัวการสูญเสีย ฆ่าทุกอย่างได้เพราะกลัวจะสูญเสียอำนาจหรือผลประโยชน์ที่ตัวเองมีอยู่ รวมทั้งการไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคนอื่น เข้าใจอยู่อย่างเดียวว่าตนเองเป็นเจ้าของสิทธิในการฆ่าคนอื่น และไม่เคยรู้สึกผิด”

เสือโคร่ง สัตว์ที่ถูกล่าจากความเชื่อผิดๆ เรื่องการรับประทานอวัยวะเพศเสือเพื่อเสริมสมรรถภาพทางเพศiStockphotoเสือโคร่ง สัตว์ที่ถูกล่าจากความเชื่อผิดๆ เรื่องการรับประทานอวัยวะเพศเสือเพื่อเสริมสมรรถภาพทางเพศ

นอกจากนี้ ความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจของมนุษย์ ยังถูกแสดงผ่านความเชื่อผิดๆ เช่นการล่าสัตว์เพื่อนำอวัยวะมาปรุงเป็นอาหารหรือยา เพื่อบำรุงกำลังหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ อย่างนอแรด อุ้งตีนหมี หูฉลาม อวัยวะเพศของเสือ ซึ่งไม่มีสถิติยืนยันอย่างแน่ชัดว่าสามารถใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้ได้จริง

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงไม่ได้มีจุดประสงค์แค่การฆ่าสัตว์ แต่อาจหมายถึงพฤติกรรมการเป็น “นักเลงปืน” ด้วย โดย รศ.น.สพ.ดร.มานพ ม่วงใหญ่ หัวหน้าหน่วยจุฬาฯ ชนบท และอดีตอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจับกุมผู้บริหารชื่อดังผู้นี้ โดยกล่าวว่าบุคคลผู้นี้อาจไม่ได้ชอบฆ่าสัตว์ แต่ชอบปืน เนื่องจากมีปืนในครอบครองกว่า 40 กระบอก

“ปืนมันบอกได้ว่าเขาทำอะไรในชีวิตของเขา และเขาจะไม่ใช้ปืนซ้ำกัน แต่จะเลือกปืนสำหรับการออกไปล่าในแต่ละครั้ง และรู้ว่าจะยิงอะไรเป็นหลัก โดยปืนต้องมีขนาดไล่เลี่ยกับสัตว์ และสัตว์เป็นเป้าที่จะเอามาลองปืนเท่านั้นเอง เหมือนเด็กยิงหนังสติ๊ก ก็จะไม่ไปยิงเป้าธรรมดา แต่จะไปยิงนก ยิงกิ้งก่า เพื่อแสดงความสามารถของตัวเอง เป็นความภูมิใจ ผมอยากให้ความเห็นว่าเขาไม่ใช่คนชอบฆ่าสัตว์ แต่เป็นคนชอบสะสมปืน และหาทางเอาปืนไปทดลองและทำให้คนอื่นๆ รู้ว่านี่คือการทดลองปืน” รศ.น.สพ.ดร.มานพอธิบาย

Animal Trophy รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของเหล่านายพรานiStockphotoAnimal Trophy รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของเหล่านายพราน 

เสือตายตัวเดียว จะอะไรหนักหนา
สำหรับคำถามที่ว่า เสือตายตัวเดียวส่งผลอย่างไรต่อโลกจนถึงขั้นที่หลายคนต้องรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายว่า สิ่งมีชีวิตในโลกมีการถ่ายทอดพลังงานโดยการกินกันเป็นทอดๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สัตว์แต่ละชนิดจึงเป็นได้ทั้งเหยื่อและผู้ล่าในเวลาเดียวกัน และบางชนิดยังมีผู้ล่ามากกว่า 1 ตัว ทำให้การถ่ายทอดพลังงานอยู่ในรูปของเครือข่ายอันซับซ้อน และจะมีชุมทางเกิดขึ้น โดยสัตว์ที่ทำหน้าที่เป็นชุมทาง เรียกว่า Keystone Species คือสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ที่ถ้าหายไป จะทำให้ระบบนิเวศนั้นเสียสมดุลหรือพังทลาย ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อปัจจัย 4 ที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิตนั่นเอง

เสือดำก็เป็น Keystone Species คือเป็นผู้บริโภคในตำแหน่งที่อยู่สูงที่สุดในระบบนิเวศ เสือดำกินอาหารหลายอย่าง ถ้าหายไป เหยื่อซึ่งเคยถูกควบคุมโดย Keystone Species เหล่านี้ก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็ไปกินหญ้า หญ้าก็จะสูญพันธุ์ ซึ่งหญ้าก็อาจจะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่น มันก็จะโยงกันไปไม่สิ้นสุด การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่แค่สัตว์หายไป 1 ตัว แล้วก็ช่างมัน มันมีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อมวลมนุษยชาติในอนาคต” ผศ.ดร.วิเชฏฐ์กล่าว

iStockphoto 

เสือกับหมูต่างกันตรงไหน
นอกจากการตั้งคำถามถึงความสำคัญของเสือดำแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่า “เหตุใดเสือดำตายเพียง 1 ตัวจึงเป็นข่าวครึกโครม ในขณะที่หมูหลายพันตัวถูกฆ่านำมาเป็นอาหาร แต่ไม่มีใครสนใจ” ซึ่งแม้จะฟังดูเป็นคำถามไร้สาระ แต่ ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ก็ให้มุมมองทางชีววิทยาว่า หมูและเสือมีบทบาทในระบบนิเวศหรือบทบาทในห่วงโซ่อาหารต่างกัน มีจำนวนต่างกัน รวมทั้งความสามารถในการเพิ่มจำนวนที่ต่างกัน ทำให้ความสำคัญและการให้ความสำคัญกับชีวิตของสัตว์ทั้งสองชนิดไม่เท่ากัน

ด้าน ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ทั้งสองชนิดมีสถานะสมควรดำรงชีวิตอยู่บนโลกเท่ากัน แต่ในมุมของความหลากหลายทางชีวภาพ ยิ่งมีสปีชีส์ของสัตว์ต่างๆ ที่ยังไม่สูญพันธุ์อยู่มากเท่าไร ยิ่งเป็นข้อดีแก่โลกเท่านั้น นั่นหมายความว่าเสือที่มีหลายสปีชีส์ย่อมสำคัญกว่าหมูที่มีเพียงสปีชีส์เดียว นอกจากนี้ เสือมีจำนวนน้อยกว่าหมู ดังนั้น การฆ่าเสือหนึ่งตัวอาจก่อให้เกิดผลกระทบมากกว่าหมูหนึ่งตัวมาก ซึ่งส่วนตัวอาจารย์เองมองว่าคำตอบนี้ยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด และยังหาคำตอบที่ดีกว่านี้ไม่ได้ 

แนวทางการแก้ปัญหา
การตายของเสือดำตัวหนึ่งกลายเป็นการขุดคุ้ยและเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาป่าไม้และสัตว์ป่าที่ไม่เคยถูกแก้ไข และหมักหมมมาเนิ่นนานจนแก้ไขยาก หนึ่งในปัญหาเหล่านั้นก็คือ การขาด “เจ้าภาพ” ในการดูแลป่าไม้อย่างจริงจัง ซึ่ง ศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวว่า

คนไทยถูกสอนมาว่าเจ้าของพื้นที่ป่าคือรัฐ การให้ป่าเป็นของรัฐหรือของคนทั่วไปมันจะเกิดปัญหาที่เรียกว่า Tragedy of the Commons แปลว่าอะไรก็ตามที่เป็นของสาธารณะ ที่คนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี มันจะพังเละ คนจะตักตวงผลประโยชน์จนกระทั่งเสียหายไปหมด แต่มันก็มีแนวทางมากมาย บางประเทศให้เป็นของเอกชนหรือนิติบุคคล หรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อให้สามารถดูแลป่าได้ดีกว่า”

เรายอมทำให้คนบางคนทำอะไรได้ ในขณะที่บางคนทำไม่ได้ มันคือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การแสดงอำนาจที่เราเห็นอยู่เป็นประจำ มันเป็นอะไรที่ฝังใจอยู่ในสังคมไทย และมันไม่ค่อยดี เราก็ต้องมาหาทางแก้ไขกัน ถ้าคนแก่ๆ ที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันไม่สนใจจะแก้ไข ก็ต้องเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องช่วยกัน” ศ.ดร.โสรัจจ์เสริม

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง ดร. สรณรัชฎ์ เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เรียกว่า Rewilding หรือการฟื้นฟูชีวิตป่าขึ้นมาใหม่ โดยยกตัวอย่างการนำหมาป่าสีเทากลับเข้ามาอาศัยในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ชนิดอื่นๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ

“หมาป่าสีเทาก็เหมือนกับเสือ คือเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนยอดพีระมิดห่วงโซ่อาหาร หมาป่าในเยลโลว์สโตนถูกล่าหายไปหมดเป็นเวลา 70 ปี ทำให้พื้นที่เสื่อมโทรม เนื่องจากกวางเอลค์ ซึ่งเป็นกวางขนาดใหญ่ ทำตัวกร่างและกินทุกอย่างจนกระทั่งต้นไม้หายไป เกิดการกัดเซาะหน้าดิน แม่น้ำเปลี่ยนสภาพและไหลหลากพาตะกอนเละเทะไปหมด กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม พอเอาหมาป่าสีเทาจากแคนาดาไปปล่อยคืนประมาณ 10 ตัว หมาป่าก็ควบคุมประชากรกวางเอลค์ และปรับพฤติกรรมของกวางให้เจียมตัวมากขึ้น ต้นไม้เริ่มงอกขึ้นมาใหม่ สัตว์ที่กินผลไม้เริ่มกลับมา แม่น้ำเริ่มมีรูปร่างเป็นลำน้ำมากขึ้น ตัวบีเวอร์กลับมา และสภาพแวดล้อมในแม่น้ำก็เริ่มฟื้นตัว การไหลของน้ำดีขึ้น ตัวนากกลับมา ปลากลับมา แค่หมาป่าเพียงชนิดเดียวมันคุมกลไกทั้งหมด จนกระทั่งมันกระทบกับภูมิประเทศ เราจึงพูดว่าหมาป่าเปลี่ยนแม่น้ำ”

หมาป่าสีเทา เจ้าของฉายาหมาป่าเปลี่ยนแม่น้ำiStockphotoหมาป่าสีเทา เจ้าของฉายาหมาป่าเปลี่ยนแม่น้ำ 

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการพัฒนาโดยการหาทางออกบนฐานของธรรมชาติ หรือ Nature-based Solutions เพื่อออกแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เคารพโครงสร้างระบบนิเวศในธรรมชาติ โดย ดร. สรณรัชฎ์กล่าวว่าเราควรหาวิธีอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และหากต้องการพลังงานจากธรรมชาติ ก็ควรออกแบบการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยที่ไม่เปลี่ยนโครงสร้าง และต้องใส่ใจสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

“บางครั้งนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐก็ขาดความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่การพัฒนาแบบ Win กับ Lose ว่าจะต้องเสียสละกลุ่มหนึ่งเพื่ออะไรอีกอย่าง เราต้องฉลาดกว่านั้น ต้องรู้จักที่จะออกแบบสิ่งที่เราต้องการไม่ให้ต้านธรรมชาติ แต่อ่อนน้อมยอมรับต่อระบบนิเวศตรงนั้นได้ และเก็บเกี่ยวการบริการทางนิเวศตรงนั้นได้ด้วย” ดร. สรณรัชฎ์กล่าว

แม้ว่าการฟื้นฟูระบบนิเวศจะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่ดูสายเกินแก้ก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ฆ่าสัตว์เพื่อความบันเทิง อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมโภชน์ ซึ่งเป็นนักวิชาการสายจิตวิทยาเสนอว่า สัญชาตญาณของมนุษย์นั้นแก้ไขไม่ได้ ทำได้เพียงป้องกัน และการป้องกันที่ดีที่สุดคือการเลี้ยงดูด้วยวิธีที่เรียกว่า Family Function คือใช้บทบาทของครอบครัวในการปลูกฝังความรัก ความอบอุ่น แทนที่จะใช้ความรุนแรงในการสั่งสอนเด็ก นอกจากนี้ การศึกษาและสังคมก็เป็นปัจจัยที่จะช่วยควบคุมพฤติกรรมรุนแรงด้วย

“มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชาติใดยุคใด ลักษณะของมนุษย์จะไม่เปลี่ยน แต่ลักษณะของการแสดงออกอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เพราะฉะนั้นความรู้สึกไม่มั่นคงพวกนี้มันมีอยู่ในทุกคนตลอดเวลา เรามีสัญชาตญาณด้านมืดและด้านสว่าง เราสร้างและทำลาย เพียงแต่ว่าเราจะจัดการให้มันอยู่ในกรอบที่เหมาะสมอย่างไร สังคมต้องวางรูปแบบออกมา ผมจึงบอกว่าเราแก้ไขไม่ได้ แต่เราป้องกันได้ เราต้องหาทางเจียระไนสังคม สร้างระบบใหม่ขึ้นมา คนก็จะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ แต่ตราบใดที่เรายังมีระบบอุปถัมภ์อยู่ ผมมองไม่เห็นอะไรที่สดใสขึ้น ถ้าเราลดระบบอุปถัมภ์ลงได้เมื่อไร ผมคิดว่าทุกอย่างมันจะเริ่มดีขึ้น

“มันแก้ไม่ได้หมดหรอก มนุษย์ก็คือมนุษย์ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้มันลดลงได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิด” รศ.ดร.สมโภชน์สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook