'บอร์ดปฏิรูปตำรวจ' เสนอรัฐบาลเพิ่มรายได้ให้เจ้าหน้าที่ แก้รีดไถ-รับส่วย

'บอร์ดปฏิรูปตำรวจ' เสนอรัฐบาลเพิ่มรายได้ให้เจ้าหน้าที่ แก้รีดไถ-รับส่วย

'บอร์ดปฏิรูปตำรวจ' เสนอรัฐบาลเพิ่มรายได้ให้เจ้าหน้าที่ แก้รีดไถ-รับส่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านยุติธรรม (ตำรวจ) เสนอรัฐบาลเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้กับเจ้าหน้าตำรวจ หลังพบว่าได้รับค่าตอบแทนไม่เหมาะสม ทำให้ต้องหารายได้พิเศษจากการรีดไถ และรับส่วย

นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการบริหารบุคคลเสนอให้พิจารณางานตำรวจเป็นงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญระหว่าง 13.56-22.57 เท่า ซึ่งในต่างประเทศค่าตอบแทนของตำรวจชั้นประทวนกับค่าตอบแทนข้าราชการพลเรือนสามัญมีสัดส่วนความเสี่ยง 1.28 ต่อ 1 ส่วนระดับสัญญาบัตรมีสัดส่วน 1.74 ต่อ 1

โดยผลการวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอว่า ข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปราม ที่มีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 2.66 ต่อ 2.97 จึงควรได้รับเงินเพิ่ม ในระดับชั้นประทวนเป็นเงิน 4,300 - 5,000 บาทต่อเดือน ในระดับชั้นสัญญาบัตรเป็นเงิน 18,500-21,500 บาทต่อเดือน

จะมีผลทำให้ตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ที่จบจากโรงเรียนนายสิบ ได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ 9,330 บาท บวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก 4,300 - 5,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 15,630-16,330 บาท ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ควรจะได้รับเงินเดือน แรกบรรจุเดือนละ 15,290 บาท บวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง 18,500-21,500 บาทจะทำให้มีรายได้เดือนละ 33,790-36,790 บาท

นายมานิจ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาหรือที่เรียกว่า “ค่าทำสำนวน” เพิ่มขึ้นอีก 100% เพราะอัตราที่ใช้อยู่ กำหนดไว้เมื่อ พ.ศ. 2534 และยังมิได้ปรับเพิ่ม ในขณะที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นอัตราที่เสนอใหม่จะเป็นดังนี้ 

1. กรณีที่เกิดคดีอาญาขึ้นและไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เดิมไม่จ่าย ส่งผลให้พนักงานสอบสวนไม่อยากทำสำนวนหรือไม่รับคดี จึงเสนอให้จ่ายค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาประเภทที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินคดีละ 500 บาท 

2. ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 500 บาท)

3. ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 3-10 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 2,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท) 

4. ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปี ขึ้นไป เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 3,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,500 บาท)

เหตุผลในการเสนอขอปรับอัตราค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าว ก็เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

นอกจากนี้ ในการเสนอของคณะอนุกรรมการฯ นั้น ได้เสนออัตรารายได้ตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปรามให้ต่ำกว่าอัตราที่เสนอโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพราะไม่อยากให้กระทบต่องบประมาณในภาพรวมของประเทศ แต่เมื่อมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางรวมทั้งเหตุผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ว่า ให้มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม แสดงว่าปัจจุบันตำรวจได้รับค่าตอบแทนยังไม่เหมาะสม จึงอ้างว่ารายได้ไม่เพียงพอต้องหารายได้พิเศษจากการรีดไถ รับส่วย เมื่อเพิ่มรายได้ให้แล้วควรได้รับการกวดขันตำรวจที่ทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป 

ที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้ปรับค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปราม ตามผลการศึกษาวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และควรมีการพิจารณาค่าตอบแทนดังกล่าวทุก 5 ปีด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

> ปฏิรูปตำรวจไทย อนาคตจะเป็นอย่างไร ถามใจใครดี? 

> คืบหน้าปฏิรูปตำรวจ ถ่ายโอนภารกิจให้หลายกระทรวง หวังช่วยลดงาน?

> คกก.ปฏิรูปตำรวจชี้ ทำอย่างไรตำรวจไทยจะมีเครื่องมือครบครัน

> รองผบ.ตร. เปิดใจ ปฏิรูปตำรวจ อยากเห็นผลทันที ประชาชนต้องร่วมมือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook